4 มุมมอง นร.ทุนของพ่อ นำองค์ความรู้เพื่อพัฒนาประเทศ

ดร.เจน ชาญณรงค์ - ดร.กฤชชลัช ฐิติกมล

มูลนิธิอานันทมหิดลเป็นมูลนิธิที่ในหลวง ร.9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม และสนับสนุนการศึกษาชั้นสูง ด้วยการพระราชทานทุนให้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศไทย ซึ่งมีคุณสมบัติดีเด่นทั้งด้านวิชาการ และคุณธรรมไปศึกษาต่อในสาขาวิชาอันเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการ เพื่อนำกลับมาถ่ายทอดแก่ชนรุ่นหลัง อันถือเป็นการรับใช้บ้านเมือง และช่วยในการพัฒนาประเทศ

ผลเช่นนี้ จึงทำให้บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “เคทีซี” จัดกิจกรรมเสวนา “ด้วยสำนีกในพระมหากรุณาธิคุณ…จากนักเรียนทุนของพ่อ” ให้กับผู้บริหาร พนักงาน และนิสิตนักศึกษาโครงการ Learn and Earn ผ่านผู้ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ได้แก่ ดร.เจน ชาญณรงค์ ผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ปี 2532, ดร.กฤชชลัช ฐิติกมล ผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์ ปี 2533

ผศ.ดร.วรภรรณ เรืองผกา ผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกเกษตรศาสตร์ ปี 2541 และดร.ปัญญา แซ่ลิ้ม ผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกเกษตรศาสตร์ ปี 2548 ซึ่งแต่ละคนได้นำแนวทางของในหลวง ร.9 มาใช้ทั้งการเรียน และการทำงานในปัจจุบัน

สังคมต้องมีการแบ่งปัน

“ดร.เจน” เล่าถึงเส้นทางชีวิตของตนเองว่าเรียนจบจากสาขาเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับทุนอานันทมหิดลหลังจากทำงานเป็นอาจารย์ 1 ปี ซึ่งผมไปศึกษาต่อที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา เรียนจบแล้วจึงเป็นนักวัสดุศาสตร์ โดยกลับมาเป็นอาจารย์ที่ประเทศไทย ก่อนผันตัวเองไปทำงานในอุตสาหกรรมการบิน และตอนนี้สืบทอดธุรกิจครอบครัว

“หลังจากที่ผมกลับมายังประเทศไทย ได้เล็งเห็นความจริงข้อหนึ่งคือเรื่องความพอดี ยกตัวอย่างความรู้จากต่างประเทศต้องนำมาปรับใช้ให้เข้ากับประเทศไทย ไม่ใช่เดินตามต่างชาติตลอด เราต้องกลับมาดูว่าจะดึงอะไรมาใช้ในการสร้างประโยชน์ได้ตามที่ประเทศต้องการ”

“สำหรับการทำงานในปัจจุบัน ผมล้มลุกคลุกคลานมาก่อน แต่สามารถผ่านมาได้เพราะมีความเพียร ซึ่งในโลกธุรกิจ หากล้มแล้วลุกขึ้นมาทำอะไรใหม่ ๆ ท้ายที่สุดแล้วเราจะประสบความสำเร็จจากความเพียร”

ยึดหลักทรงงาน 23 ข้อ

ขณะที่ “ดร.กฤชชลัช” บอกว่าการได้รับทุนนี้ถือเป็นโชคดีของตัวเอง และตนเป็นอีกหนึ่งคนที่ตั้งใจเรียน ต่อมามีคณะกรรมการเรียกเข้าไปสัมภาษณ์ เพื่อพิจารณาคุณสมบัติ ซึ่งคุณสมบัติก็ตรงตามความต้องการของทุนอานันทมหิดลแผนกธรรมศาสตร์ คือเป็นคนดี เรียนเก่ง สามารถกลับมาทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ

ทั้งนั้น ตอนไปเรียนต่างประเทศ ผมสนใจด้านการบริหารเทคโนโลยี แม้จะเรียนด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ก็ตาม โดยขณะนั้นประเทศไทยยังไม่มีองค์ความรู้ด้านนี้ เมื่อกลับมาประเทศไทยแล้ว ไปอ่านเจอบทความของ นพ.เกษม วัฒนชัย ซึ่งสรุปหลักการทรงงานของในหลวง ร.9 ทั้งหมด 23 ข้อ อันสอดคล้องกับสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากต่างประเทศ

“หลังเรียนจบ ก็มาเป็นอาจารย์ และปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาให้กับ IBM ก็จะบอกน้อง ๆ ในทีมเสมอว่า ในหลวง ร.9 มีแนวทางทำงานอย่างไรบ้าง แล้วเราจะนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานอย่างไร ซึ่งผมตั้งเป้าหมายพัฒนาองค์กรให้เติบโตขึ้น เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างสมบูรณ์”

ดร.ปัญญา แซ่ลิ้ม – ผศ.ดร.วรภรรณ เรืองผกา

สอน นศ.รู้จักพอเพียง

สำหรับ “ผศ.ดร.วรภรรณ” ให้ความเห็นว่าด้วยความที่ทุนอานันทมหิดลเป็นทุนไม่ผูกมัด และไม่กำหนดว่าเรียนแล้วจะกลับมาไทยหรือไม่ก็ได้ ดิฉันจึงมองว่าในหลวง ร.9 มุ่งหวังพัฒนาคน เพื่อพัฒนาโลกให้มีความสุข โดยดิฉันปลูกฝังหลักคิดนี้ให้กับนักศึกษาในการออกไปทำประโยชน์ให้กับประเทศ และตอนนี้กำลังคิดว่าทำอย่างไรให้สตาร์ตอัพรุ่นใหม่รู้จักการทำธุรกิจอย่างพอเพียง และยั่งยืน ไม่ใช่แค่หวังทำแล้วรวยอย่างเดียว

“ส่วนตัวแล้วสัมผัสกับเรื่องราวของในหลวงร.9 มาตั้งแต่เด็กๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความประหยัดที่คุณแม่จะปลูกฝังมาตลอด ให้รู้จักถึงความพอเพียงในการดำเนินชีวิต ซึ่งดิฉันตัดสินใจหาเงินส่งตัวเองตั้งแต่อายุ 16 ปี ด้วยการรับสอนเปียโน เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เราสอนนักศึกษาเสมอว่าอย่าเกาะพ่อแม่กินจนตาย โดยเฉพาะนักศึกษาปริญญาโทที่ควรส่งเสียตัวเอง เพราะตอนปริญญาตรีก็ได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่มาแล้ว”

นอกจากนั้น จากประสบการณ์ทำงานซึ่งเป็นอาจารย์อยู่วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งยังเข้าไปทำงานกับชุมชน จึงได้นำแนวทาง “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ของในหลวงร.9 มาปรับใช้ เพราะการลงพื้นที่แต่ละครั้งจะต้องมีความเข้าใจพื้นที่นั้นๆอย่างลึกซึ้งก่อน รู้รากเหง้าของปัญหา แล้วดูว่าความต้องการของชุมชนคืออะไร เพื่อให้ชุมชนเข้าใจการเข้าไปทำงานของเรา หากดำเนินการแบบนี้ได้ จะทำให้การพัฒนาเดินหน้าอย่างเต็มที่

ความเพียรสู่ความสำเร็จ

ในส่วนของ “ดร.ปัญญา” บอกว่าผมเข้าศึกษาสาขาพันธุศาสตร์เพื่อการปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำในระดับปริญญาโท และเอกที่ Wageningen University ประเทศเนเธอร์แลนด์ จากนั้นจึงไปต่อ Postdoc ที่ Nofima สถาบันวิจัยด้านการประมงที่ประเทศนอร์เวย์ ผมเพิ่งกลับมาประเทศไทยได้ 3 เดือน และตอนนี้อยู่ระหว่างการรอบรรจุในกลุ่มวิจัยและพัฒนา กองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และกิจกรรมพิเศษ กรมประมง

“เดิมตัวเองเป็นคนเรียนไม่เก่ง แต่ตั้งใจเรียน เอาความลำบากของพ่อแม่มาเป็นแรงผลักดัน จนกลายเป็นเด็กหน้าห้องซึ่งเมื่อไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศแล้ว มองว่าความรู้ และความสามารถที่ได้รับต้องเป็นของไทย และควรนำกลับมาพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า”

“ที่สำคัญคือต้องไม่ลืมว่าโอกาสที่เข้ามาหาเรานั้นมาจากไหน แม้จะสร้างโปรไฟล์ของเราดีขึ้น แต่เทียบไม่ได้กับการรู้หน้าที่ของตัวเอง ส่วนตัวผมเองตอนนี้ได้ติดต่อไปยังมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อนำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับน้อง ๆ รุ่นใหม่ เพราะคิดตลอดว่าเราคนเดียวสร้างการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ จะต้องนำความรู้ไปมอบให้กับคนอื่น ๆ ตระหนักถึงการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และมาร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลง”

“ตลอดชีวิตของผม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน และชีวิตต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย ผมได้นำแนวทางของในหลวง ร.9 มายึดเป็นแบบอย่าง โดยเฉพาะเรื่องความเพียรพยายามและความอดทน ถ้าหากเรายอมแพ้ ชีวิตจะหยุดเพียงแค่นั้น แต่หากมีความอดทนทำต่อ จะถึงจุดหมายที่ตั้งใจไว้ และอีกเรื่องคือความสามัคคี คือคนคนเดียวทำอะไรไม่ได้ แม้จะเป็นคนมีความสามารถมากก็ตาม แต่หากมีการรวมพลังกันจากหลายคนจะทำให้เรื่องต่าง ๆ บรรลุผลไปได้”