ดอลลาร์แข็งค่า หลังประธานเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง

ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังประธานเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ ตัวเลขส่งออกเดือนก.ค. ขยายตัว 4.3% แต่ 7 เดือนแรกของปีนี้ขาดดุลรวม 9,916.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ผลจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าหมวดพลังงาน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวัน ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/8) ที่ระดับ 36.30/32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (26/8) ที่ระดับ 36.00/02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

หลังนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า ภารกิจของเฟดในการต่อสู้กับเงินเฟ้อยังไม่เสร็จสิ้น โดยเฟดจะยังคุมเข้มนโยบายการเงินต่อไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงานของสหรัฐ

“เราจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป จนกว่าจะมั่นใจว่าภารกิจของเราจะประสบความสำเร็จ โดยภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจอาจได้รับผลกระทบจากการที่เฟดยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ความล้มเหลวในการรักษาเสถียรภาพของราคาจะทำให้เกิดผลกระทบมากกว่า” นายพาวเวลล์กล่าวในการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล

นอกจากนี้ นายพาวเวลล์กล่าวว่า เฟดยังคงจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป และเฟดจะไม่ตัดทางเลือกในการ “ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่มากกว่าปกติ” ในเดือน ก.ย. นายพาวเวลล์ย้ำว่าเฟดจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว โดยสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตสะท้อนให้เห็นว่าการดำเนินการที่ล่าช้าเกินไปจะทำให้ตลาดแรงงานทรุดตัวลงอย่างหนัก

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 4.6% ในเดือน ก.ค.เมื่อเทียบรายปี โดยต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 4.8% และชะลอตัวจากระดับ 4.8% ในเดือน มิ.ย. ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จากกระทรวงแรงงานสหรัฐ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน ก.ค. 65 มีมูลค่า 23,629.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.3% จากเดือน ก.ค. 64 จากตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 10.7-11% ทำให้ารส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัว 11.5% ที่มูลค่า 172,814.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการนำเข้าในเดือน ก.ค. 65 มีมูลค่า 27,179.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 23.9% จากเดือน ก.ค. 64 ทำให้การนำเข้าในช่วง 7 เดือนแรกมีมูลค่า 182,730.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 24.4% ขณะที่ดุลการค้าในเดือน ก.ค. 65 ขาดดุล 3,660.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

และช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ขาดดุลรวม 9,916.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าหมวดพลังงาน โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.18-36.48 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.46/48 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/8) ที่ระดับ 0.9928/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (26/8) ที่ระดับ 1.0000/02 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยูโรยังได้รับผลกระทบ หลังสถาบันวิจัย GfK เปิดเผยผลสำรวจในวันนี้ ระบุว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคของเยอรมนีจะลดต่ำเป็นประวัติการณ์เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันในเดือน ก.ย. เนื่องจากภาคครัวเรือนเตรียมตัวรับมือค่าพลังงานที่พุ่งสูงทะลุเพดาน

GfK ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคซึ่งจัดทำโดยการสำรวจชาวเยอรมันประมาณ 2,000 คน ร่วงสู่ระดับ -36.5 ในเดือน ก.ย. ทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ก.ย. ที่ดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ -27.7 ก่อนจะลดลงเหลือ -30.9 ในเดือน ส.ค. ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโร เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 0.9914-0.9968 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 0.9956/57 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/8) ที่ระดับ 138.51/52 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (26/8) ที่ระดับ 136.89/91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงหลังยังถูกกดดันจากความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยนโยบายระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกที่เริ่มมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 137.54-138.99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 138.64/66 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจ ที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีการผลิตเดือน ส.ค. จากเฟดสาขาดัลลัส (29/8), ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือน ก.ค. (30/8), ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือน ส.ค.จาก ADP (1/9), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (2/9), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือน ส.ค.จากเอสแอนด์พี โกลบอล (2/9), ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ส.ค. (3/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -5.70/-5.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7.80/-5.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ