2 แบงก์รัฐ “ฟื้นฟูกิจการ” ฉลุย ไอแบงก์ลุ้นปิดดีลพันธมิตร

“ธพว.-ไอแบงก์” โชว์ฟื้นฟูกิจการแจ่ม “วิทัย” ชี้ มี.ค. ไอแบงก์ ได้เงินเพิ่มทุน ชงบอร์ดไฟเขียวพันธมิตรร่วมทุน ตั้งเป้าสินเชื่อ 1 หมื่นล้านบาท โต 23% นำแบงก์ปีนี้พลิกกำไร 300 ล้านบาท ขณะที่ “มงคล” ขยับเป้าสินเชื่อ ธพว.เพิ่มดับเบิล-ลุยปั้นเอสเอ็มอีชุมชน หลังได้ออกจากแผนฟื้นฟูแล้ว

นายวิทัย รัตนากร กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทิศทางของไอแบงก์ขณะนี้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนได้รับการชื่นชมจากผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในเรื่องแผนฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากแบงก์จะเริ่มมีกำไรได้จากการแก้ไขหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPF) มุสลิมรายย่อย ที่ยังเหลืออยู่ในพอร์ตราว 3,000 ล้านบาท ซึ่งตนตั้งเป้าจะแก้ไขให้ได้ราว 500 ล้านบาทในช่วง 2 เดือนแรกปีนี้

ขณะที่ในช่วงกลางเดือน มี.ค. ไอแบงก์น่าจะได้รับการเพิ่มทุนจากกระทรวงการคลัง โดยขณะนี้ขั้นตอนการแก้ไขกฎหมายไอแบงก์ให้กระทรวงการคลังถือหุ้นได้เกิน 49% มีกำหนดเข้าพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันที่ 2 ก.พ.นี้ หลังจากนั้นน่าจะต้องใช้เวลาราว 30 วัน สนช.จะพิจารณาร่างกฎหมายเรียบร้อย

“พอเราได้เงินเพิ่มทุนเข้ามา ก็จะสามารถเดินหน้าปล่อยสินเชื่อได้แล้ว ซึ่งปีนี้เราตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อให้ได้ 10,000 ล้านบาท โต 23% จากปีก่อนที่สินเชื่อติดลบ 400 ล้านบาท เมื่อปล่อยสินเชื่อได้แล้ว จะทำให้มีกำไรได้ต่อเนื่องซึ่งคาดว่าได้ 200-300 ล้านบาท จากที่ตั้งเป้าไว้ 150 ล้านบาท แต่ที่สำคัญคือ พลิกจากที่ขาดทุนมา 5 ปี ซึ่งการปล่อยสินเชื่อ ในส่วนรายย่อยเราก็เน้นลูกค้ามุสลิมตามพันธกิจ ขณะเดียวกันก็ปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำ ที่อาจจะกำไรน้อยหน่อย อย่างรัฐวิสาหกิจกับบริษัทขนาดใหญ่” นายวิทัยกล่าว

ส่วนด้านการหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุน ก็ได้รายงาน คนร.ไปว่า ขณะนี้มีนักลงทุนที่เข้าตรวจสอบกิจการแล้ว ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ม.ค.นี้ จากนั้นทางพันธมิตรจะส่งเงื่อนไขราคาสุดท้ายในวันที่ 2 มี.ค. และแบงก์จะนำเรื่องเข้าบอร์ดพิจารณาอนุมัติการเข้ามาร่วมทุนในช่วงกลางเดือน มี.ค.

“มีคนสนใจมากกว่า 1 ราย แต่เราอนุมัติรายที่ให้เงื่อนไขดีที่สุด และราคาเป็นไปตามคำแนะนำของที่ปรึกษาทางการเงิน สามารถเข้าตรวจสอบกิจการได้ ซึ่งบอกได้ว่าเป็นบิ๊กเนม ที่ทุกคนเห็นชื่อแล้วจะสบายใจ เป็นประโยชน์ทั้งกับแบงก์ กับลูกค้ามุสลิม และประเทศชาติ ทั้งนี้ เมื่อพันธมิตรเข้ามาแล้ว ผ่านไปสักระยะเมื่อผลดำเนินงานดีขึ้นเรื่อย ๆ เราก็สามารถออกจากแผนฟื้นฟูได้” นายวิทัยกล่าว

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เปิดเผยว่า หลัง คนร.เห็นชอบให้ ธพว.ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว ในปี 2561 นี้ ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ 70,000 ล้านบาท จากเดิมตั้งไว้แค่ 32,500 ล้านบาท เนื่องจาก คนร.มีมติให้แบงก์ยกระดับความสามารถ มีการเพิ่มหน่วยบริการเคลื่อนที่ พร้อมปรับด้านไอที รวมถึงยังมีโครงการสินเชื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนอีกด้วย

ทั้งนี้ จากเป้าหมายสินเชื่อที่ปรับปรุงแล้ว คาดว่าจะทำให้ถึงสิ้นปี 2561 ธพว.จะมีสินเชื่อคงค้างทั้งหมดราว 150,000 ล้านบาท ส่วน NPL จะลดลงเหลือไม่เกิน 15,100 ล้านบาท จาก ณ สิ้นปี 2560 อยู่ที่ 16,960 ล้านบาท

“มาตรการการให้สินเชื่อหลังจากออกจากแผนฟื้นฟู ยังคงเหมือนกับระหว่างที่อยู่ในแผนฟื้นฟู คือ ปล่อยกู้ไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อราย เอ็นพีแอลสินเชื่อปล่อยใหม่ที่สะสมมาตั้งแต่ปี 2558 ต้องไม่เกิน 5% ขณะที่สินเชื่อปล่อยใหม่ในปีนี้ ถ้าปล่อย 1,000 ราย ต้องไม่เป็นเอ็นพีแอลเกิน 25 ราย ดังนั้นจึงปล่อยสินเชื่ออย่างเดียวไม่ได้ ต้องให้ความรู้ควบคู่ไปด้วย” นายมงคลกล่าว

สำหรับปี 2561 นี้ ธนาคารได้ประกาศตัวเป็น “M SME Development Bank” (M มาจาก Micro) มุ่งสนับสนุนกลุ่ม “จุลเอสเอ็มอี” หรือผู้ประกอบการรายย่อยคนตัวเล็กในชุมชนต่าง ๆ โดยมีแพ็กเกจสินเชื่อเพื่อรายย่อย วงเงินรวม 70,000 ล้านบาทให้บริการ

ส่วนปี 2560 ที่ผ่านมา ธพว.ปล่อยสินเชื่อทั้งสิ้น 43,269 ล้านบาท ขณะที่ NPL ของสินเชื่อใหม่อยู่แค่ 0.21% นอกจากนี้ ธนาคารยังสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายและต้นทุนเงินได้ดี ทำให้มีกำไรก่อนตั้งสำรองหนี้เพื่อความมั่นคง กว่า 1,600 ล้านบาท และบริหารจัดการต้นทุนการเงินอยู่ที่ 1.68% เท่านั้น