เปิดมุมมอง 6 อดีตเลขาฯ ก.ล.ต. ชี้ช่องกำกับตลาดทุนไทยยุคดิจิทัล

6 อดีตเลขาฯ ก.ล.ต.

ท่ามกลางกระแสโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเฉพาะกระแสเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามา ในวาระครบรอบ 30 ปี สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ได้จัดงานเสวนา “ก้าวต่อไปของตลาดทุนไทยในทศวรรษหน้า” ขึ้น โดยเชิญ 6 อดีตเลขาธิการ ก.ล.ต. มาร่วมให้มุมมองต่อการพัฒนาการกำกับดูแลในอนาคต

เริ่มจาก “เอกกมล คีรีวัฒน์” กล่าวว่า คงไม่สามารถทราบได้ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร เพราะยากที่จะคาดการณ์ หรือเกิดการดิสรัปต์ต่าง ๆ ขึ้นก็ตาม แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่กฎเกณฑ์วิธีการดำเนินงาน ที่ต้องมั่นคงเสมอ ไม่ว่าสิ่งต่าง ๆ จะเปลี่ยนไปอย่างไร

“ตอนนี้เรามีตลาดดิจิทัลขึ้นมา ผมไม่ทราบว่า กลายเป็นส่วนหนึ่งของตลาดทุนได้อย่างไร เมืองไทยเราไม่มีหน่วยงานอื่น ก.ล.ต.จึงต้องไปรับทำ การควบคุม กฎเกณฑ์ต่าง ๆ จึงต้องสร้างมาใหม่ ซึ่งตรงนี้เป็นความท้าทาย สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเรื่องที่คุมยาก ดังนั้นผู้กำกับก็ต้องมีความเข้าใจในธุรกิจนี้ให้มากขึ้น”

“ปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา” กล่าวว่า มองไปข้างหน้า 8-10 ปี บทบาทของดิจิทัลเทคโนโลยีจะมีมากขึ้น และจะมีผลต่อการพัฒนาตลาดทุนไทยหลายด้าน ได้แก่ 1.ด้านการวิเคราะห์ที่จะซับซ้อนและรวดเร็วมากขึ้น จะมาทำงานแทนที่คน ทำให้บรรยากาศการแข่งขันเปลี่ยนไป 2.ความจำเป็นในการมีตัวกลางก็จะเปลี่ยนไป เพราะเทคโนโลยีเข้ามาแทนคน 3.การทำธุรกรรมทางการเงิน ในรูปแบบการกระจายศูนย์ และลดบทบาทตัวกลางลง

“สิ่งที่ผมอยากเน้น 1.อยากให้สำนักงาน ก.ล.ต.เพิ่มคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (บจ.) ทั้งเข้าร่วมการต่อต้านคอร์รัปชั่น, ส่งเสริมให้ บจ.ยึดหลัก ESG, เพิ่มเติม บจ.ในอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจยุคใหม่, ส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงตลาดทุน

จะมีแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้บริษัทขนาดเล็กออกหุ้นกู้ได้, ส่งเสริมให้ความรู้เรื่องการบริหารเงินส่วนบุคคล, ส่งเสริมนักลงทุนบุคคลให้เข้าใจเครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ, ขยายฐานผู้ลงทุนบุคคลให้มากขึ้น”

“เนื่องจากในทศวรรษหน้าจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ดังนั้นบทบาทของสำนักงาน ก.ล.ต.ควรปรับมาเป็นผู้ประสานงานให้มากขึ้น ทำให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างตลาดทุน”

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” กล่าวว่า กระบวนการพัฒนาตลาดทุนเป็นเรื่องต่อเนื่อง โดยโจทย์ที่ท้าทายใน 10 ปีข้างหน้า จะมี 3 แกนหลักที่ต้องคิดต่อไป คือ 1.ความทั่วถึง ซึ่งที่ผ่านมาคนที่ใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้ดีคือธุรกิจขนาดใหญ่

ส่วนธุรกิจขนาดเล็กยังได้ประโยชน์น้อย จึงเป็นโจทย์ที่ต้องช่วยกันคิดว่าจะทำให้ทั่วถึงมากขึ้นได้อย่างไร 2.ประสิทธิภาพ ความน่าเชื่อถือ และความสะดวก ซึ่งจะเกี่ยวกับ ก.ล.ต.ค่อนข้างมาก เพราะเป็นเรื่องกฎ ระเบียบ และ 3.การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ จะทำอย่างไรให้ภาคธุรกิจรู้สึกว่า ธุรกิจหลักทำได้ ไม่ใช่แค่เรื่องกิจการเพื่อสังคม

“ขณะที่ในมุมผู้ลงทุน ก็มีการเข้ามาในตลาดมหาชนมากขึ้น แต่ดูสัดส่วนในภาพรวมแล้วยังค่อนข้างน้อย ล่าสุด ก็มีเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งแปลกมาก เพราะในเวลาแค่ปีเดียว มีคนกระโดดเข้ามาในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลถึง 2 ล้านบัญชี เร็วมาก ซึ่งเป็นบทเรียนที่น่าคิด ว่าอะไรที่ดึงเขาเข้ามา”

“ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” กล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นเรื่องที่ผู้กำกับต้องศึกษาและเตรียมตัว โดยควรจะต้องทำเป็นแผนแม่บท ที่ครบทุกมิติ อย่างไรก็ดี เมื่อมองไปในทศวรรษข้างหน้า ถ้าไม่เข้าใจการเมืองโลก จะไม่ทันสมัย ไม่ทันเหตุการณ์ ซึ่งมีสิ่งมาเกี่ยวข้อง 3 เรื่อง 1.เวลานี้เป็นโลกที่แบ่งข้าง ฝั่งหนึ่งคือตะวันตก กับอีกฝั่งคือตะวันออก โดยตะวันออกถูกตะวันตกบีบและไล่ล่า ซึ่งมีผลกระทบมาถึงเรื่องสกุลเงิน

2.การค้าโลกที่แบ่งเป็น 2 ข้าง ซึ่งการค้าขายกับจีนจะมีมากขึ้น และคาดว่าการใช้ดิจิทัลหยวนจะมีมากขึ้น ซึ่งก็ต้องดูว่าจะอำนวยความสะดวก หรือรองรับกรณีเหล่านี้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นกรณีนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทย

หรือธุรกิจเอสเอ็มอีจะเข้าไปค้าขายในแพลตฟอร์มสัญชาติจีนต่าง ๆ และ 3.เศรษฐกิจดิจิทัล เป็นอนาคตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะต้นทุนต่ำกว่า ซึ่งการขยับกฎ กติกาของประเทศมหาอำนาจจะส่งผลกระทบ ดังนั้นผู้กำกับดูแลตลาดทุนจะต้องหาทางรับมือ

“วรพล โสคติยานุรักษ์” กล่าวว่า ใกล้ตัวที่สุดตอนนี้ ก.ล.ต.มีภารกิจสำคัญที่เกี่ยวข้อง เพราะประเทศไทยมีปัญหาแฝดอยู่หลายปัญหา ได้แก่ 1.ขาดดุลแฝด คือ ขาดดุลการคลังขนาดหนักปีละ 7 แสนล้านบาท และขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ซึ่งการจะแก้ปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ใช่ขึ้นดอกเบี้ย แต่ต้องลงทุน โดยตลาดทุนต้องมีบทบาทผลักดัน

2.ไทยกำลังมีภาวะคนเกิดน้อยกว่าคนตายซึ่งจะกระทบการบริโภคภายในประเทศ 3.ไทยยังมีอุตสาหกรรมที่ล้าหลัง ส่วนอุตสาหกรรมอนาคตยังไม่ค่อยมี ต้องคิดว่าจะส่งเสริมอย่างไร 4.เทคโนโลยีก้าวหน้าเร็ว แต่ประชาชนยังรู้ไม่เท่าทัน รวมถึงธุรกิจใหญ่เติบโต แต่ธุรกิจเล็กยังไม่เติบโต ซึ่งตลาดทุนต้องคิดว่า จะทำอย่างไรให้ธุรกิจขนาดเล็กได้รับการสนับสนุน และ 5.ความขัดแย้งระหว่างโลกตะวันตกกับตะวันออก

“เราคงจะหลีกเลี่ยง 5 ความขัดแย้ง คู่แฝดนี้ไม่ได้ แล้ว ก.ล.ต.จะทำอย่างไรต่อไป ต้องยอมรับว่า เราเป็นองค์กรที่มีความสำคัญ เราต้องเห็นก่อนใคร มองไกลกว่า” นายวรพลกล่าว

ปิดท้ายที่ “รพี สุจริตกุล” กล่าวว่า มี 3 เรื่องที่สำคัญคือ 1.การเชื่อมโยงระหว่างตลาดทุนกับเงิน เพราะปัจจุบันตลาดโตเร็วมาก ซึ่งสถาบันการเงินเป็นผู้เล่นสำคัญ และอนาคตหากมีอะไรเกิดขึ้นกับ 2 ตลาดนี้ สถาบันการเงินก็ไม่น่าจะอยู่รอดได้ โดยกรณีที่เกิดปัญหากับตลาดตราสารหนี้ที่ผ่านมา ธปท.ก็ต้องเข้ามาช่วย 2.การลงทุนโดยไม่ผ่านตัวกลางทางการเงิน (Disintermediation) ซึ่งผู้กำกับดูแลขาดเครื่องมือที่จะกำกับดูแล

และ ธปท.ไม่ให้สถาบันการเงินเข้ามายุ่ง ทำให้มีแต่ผู้เล่นหน้าใหม่ที่ไม่คุ้นเคยกับการดูแลความเสี่ยง และไม่คุ้นเคยกับการพังทลายของระบบสถาบันการเงินมาก่อน รวมถึงลูกค้าก็เป็นหน้าใหม่ที่ไม่เคยเจ๊ง แต่กระโดดเข้ามาด้วยความโลภ

“ตรงนี้จะท้าทาย ซึ่งผมไม่คิดว่าผู้กำกับจะควบคุมได้ เพราะตลาดนี้ถูกขับเคลื่อนโดยนักลงทุน และผู้กำกับดูแลก็ไม่สามารถ save them from them self ได้ด้วย เหมือนกับที่เรามีกฎหมายขายแอลกอฮอล์ แต่ไม่สามารถป้องกันเรื่องการติดเหล้าได้ ทั้งนี้ สำหรับเรื่องการกำกับสินทรัพย์ดิจิทัล ผมคิดว่าต้องดึง ธปท.เข้ามา

โดย ธปท.คงไม่สามารถถอย แล้วบอกว่าไม่เกี่ยว ไม่ให้สถาบันการเงินยุ่งด้วย แล้วทุกอย่างจะเรียบร้อย ซึ่งเราได้คุยกันบางส่วนแล้ว ว่าสินทรัพย์ดิจิทัลพวกนี้ ถึงต่อให้เป็นโทเคนในช่วงแรก แต่สามารถกลายพันธุ์ได้ ในที่สุดจะกลายเป็น currency (สกุลเงิน) รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แล้วถ้า ธปท.บอกไม่เกี่ยว สุดท้ายก็จะมีปัญหาอีก”

และ 3.การแก้ปัญหาหลอกลวงลงทุน จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานกำกับดูแลทั้งหมด ไม่ใช่องค์กรใดองค์กรหนึ่ง และ ต้องสร้างการเรียนรู้ให้กับนักลงทุน

ทั้งหมดนี้เป็นมุมคิดจากอดีตเลขาธิการ ก.ล.ต.ทั้ง 6 คน ที่เสนอแนะแนวทางการกำกับตลาดทุนในระยะ 10 ปีข้างหน้า