อนาคตของเงิน (บาท) ท่ามกลางการอุบัติของเงินดิจิทัลเอกชน (3)

ตู้เอทีเอ็ม
คอลัมน์ : ระดมสมอง
ผู้เขียน : ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
        facebook : Narun on Fintech Law

สวัสดีครับ มาพบกับอนาคตของเงิน เดอะซีรีส์ กันอีกครั้ง โดยขอเท้าความไปถึงความสำคัญของเงินที่ผลิตและบริหารโดยรัฐ หรือ state money (ในประเทศไทยคือเงินบาทนั่นเอง) ว่าเป็นกลไกสำคัญของระบบเศรษฐกิจที่ช่วยให้บุคคลลดต้นทุนในการทำธุรกรรม เมื่อทุกคนในประเทศใช้เงินสกุลเดียวกัน ก็จะได้ประโยชน์จากพลังของเครือข่าย หรือ network effect ของเงินสกุลเดียวที่รัฐสนับสนุน

จึงมีกฎหมายกำกับ ดูแล และควบคุมเงินของรัฐมากมาย เช่น พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินพุทธศักราช 2485 และพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 เป็นต้น

ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นนะครับที่มีกฎหมายลักษณะนี้ แต่ประเทศต่าง ๆ ก็มีกฎหมายในลักษณะคล้าย ๆ กัน

ด้วยเหตุผลดังกล่าว หากเงินดิจิทัลเอกชนจะสามารถเข้ามาแทนที่เงินของรัฐได้อย่างสมบูรณ์ จะต้องสามารถทำหน้าที่แทนเงินของรัฐ หรือทำได้ดีกว่า โดยมีปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณา 3 เรื่องดังต่อไปนี้

ประการแรก เงินดิจิทัลเอกชนต้องสามารถช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมของบุคคลได้ดีเท่าหรือมากกว่าเงินของรัฐ เช่น มีวิธีการหรือกระบวนการในการสืบราคาและชำระราคา (price discovery and settlement) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากกว่าระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเงินของรัฐ

ประการที่สอง เงินดิจิทัลเอกชนต้องมีกระบวนการระงับข้อพิพาทที่สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรมมากกว่าระบบกระบวนการยุติธรรม กล่าวคือมีต้นทุนในการสืบค้นพยานหลักฐาน ต้นทุนในการฟ้องร้อง ต้นทุนในการบังคับคดี ที่ต่ำกว่าการดำเนินคดีโดยเจ้าพนักงานและศาลยุติธรรมในปัจจุบัน

ประการที่สาม เงินดิจิทัลเอกชนที่จะเข้ามาแทนที่เงินของรัฐ ต้องสามารถดึงดูด หรือโน้มน้าวให้ประชาชนในสังคมหันมาใช้เงินสกุลดังกล่าวกันอย่างพร้อมเพรียง จนกลายเป็นเงินสกุลหลักของประเทศ เพื่อให้เกิด network effect ในลักษณะเดียวกับระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเงินของรัฐได้

หากเงินดิจิทัลเอกชน ไม่ว่าจะเป็น stable coin สกุลใด หรือสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ครบถ้วนทั้งสามประการที่ผมนำเสนอไว้ข้างต้น ก็อาจจะกลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพื่อแทนที่เงินของรัฐ ในการเป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน เป็นเครื่องมือเก็บสะสมความมั่งคั่ง และเป็นหน่วยร่วมทางเศรษฐกิจ เพื่อใช้ในการสืบและชำระราคาสินค้าและบริการก็เป็นได้

อย่างไรก็ดี การจะหาเงินดิจิทัลเอกชนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนทั้งสามประการไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ว่าจะเป็นด้วยเพราะข้อจำกัดด้านความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ความผันผวนของราคาสินทรัพย์ดิจิทัล หรือเพราะความไม่แน่นอนด้านกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ เราอาจจะต้องหันกลับมาพิจารณาเลือกเดินทางสายกลาง และไม่จำเป็นต้องสร้างโลกที่เป็น binary หรือกำหนดหลักเกณฑ์ตายตัว ว่าต้องเลือกระหว่างระบบเศรษฐกิจเงินของรัฐ หรือระบบที่สร้างด้วยเงินดิจิทัลของเอกชน แต่ควรหาแนวทางที่เงินทั้งสองประเภทสามารถอยู่ร่วมกัน และสนับสนุนให้สังคมและเศรษฐกิจก้าวไปข้างหน้าได้ ด้วยการเติมเต็มช่องว่างหรือข้อด้อยของกันและกัน

หนทางดังกล่าวหน้าตาเป็นเช่นไร ผมขอเก็บไว้นำเสนอในตอนจบของซีรีส์ อนาคตของเงิน เจอกันตอนหน้าครับ