สินมั่นคงประกันภัย ได้ไปต่อ! ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการ เดินหน้าตั้งผู้ทำแผน

สินมั่นคง

ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ “สินมั่นคงประกันภัย” เหตุกิจการลูกหนี้ยังมีรายได้-ยื่นคำร้องโดยสุจริต-มีหนี้สินล้นพ้นตัวจริง เดินหน้าตั้งผู้ทำแผน แจงเจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ภายในกำหนด 1 เดือน

วันที่ 20 ตุลาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้เวลา 10.00 น. ศาลล้มละลายกลางได้พิจารณาคดีหมายเลขดำที่ ฟฟ 9/2565 บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในฐานะลูกหนี้/ผู้ร้องขอ ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ โดยวันนี้มีเจ้าหนี้ผู้คัดค้านมาฟังคำสั่งศาลประมาณ 25 ราย โดยศาลเห็นควรมีคำสั่งให้พื้นฟูกิจการของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) และตั้งบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ทำแผนตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

เนื่องจากไต่สวนได้ความจริงว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและเป็นหนี้เจ้าหนี้หลายคนรวมกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท กิจการของลูกหนี้ยังมีรายได้ กรณียังมีช่องทางและมีเหตุอันสมควร และลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยสุจริต ทั้งไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้ทำแผน เพราะเป็นองค์กรที่มีประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจประกันภัยเป็นเวลานาน มีศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งเชื่อว่าลูกหนี้เข้าใจสภาพปัญหาและสามารถกำหนดทิศทางธุรกิจของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งได้รับความยินยอมฟื้นฟูกิจการเป็นหนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจของลูกหนี้

ส่วนกรณีเจ้าหนี้ผู้คัดค้านอ้างว่าลูกหนี้มุ่งประสงค์ปรับโครงสร้างหนี้เฉพาะเจ้าหนี้บางกลุ่มนั้น ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ล้มละลาย ผู้ทำแผนจะต้องตรวจสอบรายละเอียดและความเป็นไปได้ของการปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ บนหลักการที่ว่าแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จะต้องก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ทุกฝ่าย และเจ้าหนี้จะต้องได้รับชำระหนี้ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ

อีกทั้งแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ต้องได้รับการอนุมัติจากเจ้าหนี้และศาลล้มละลายกลาง เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและให้เกิดความเป็นธรรมกับเจ้าหนี้ และเป็นประโยชน์แก่กิจการของลูกหนี้ ซึ่งแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวจะต้องจัดทำขึ้นโดยความยินยอมของเจ้าหนี้และผู้ทำแผนในฐานะผู้แทนของลูกหนี้ โดยมีหลักประกันว่า “เจ้าหนี้จะไม่ได้รับความเสียหายเพิ่มเติมจากเดิม” แต่หากทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ลูกหนี้ย่อมไม่สามารถจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการให้เป็นไปตามที่ตนเองต้องการโดยปราศจากความร่วมมือจากเจ้าหนี้ได้ โดยเฉพาะความร่วมมือจากเจ้าหนี้ค่าเสียหายทดแทนกรมธรรม์ประกันภัยโควิดได้ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กลุ่มใหญ่ที่มีสัดส่วนสูงกว่าเจ้าหนี้อื่น ๆ จำนวน 350,000 ราย

นอกจากนั้น การประกอบกิจการของลูกหนี้ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน คปภ. และภายใต้การกำกับดูแลของศาลล้มละลายกลางและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

“เจ้าหนี้ยังมีสิทธิได้รับชำระหนี้เช่นเดิม แต่ศาลให้ลูกหนี้สามารถจัดทำแผนมาเสนอให้เจ้าหนี้พิจารณาว่าจะยอมรับหรือไม่ ซึ่งเข้าใจว่าเจ้าหนี้คงมีความกังวล แต่ในชั้นนี้เน้นย้ำว่าสิทธิได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ยังมีเหมือนเดิม โดยจะยอมรับแผนหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหนี้ หากไม่ยอมรับก็ไปใช้บริการตาม พ.ร.บ.ประกันวินาศภัยต่อไป”

ในขั้นตอนต่อไป สำหรับเจ้าหนี้ที่อาจจะไม่มีที่ปรึกษาทางกฎหมาย หลังจากนี้เจ้าหนี้จะต้องไปแสดงตัวในกระบวนการว่าเป็นเจ้าหนี้สินมั่นคงประกันภัยจริง โดยวิธีการคือ เจ้าหนี้จะต้องไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และแสดงเอกสารข้อมูลพยานหลักฐานว่าเป็นเจ้าหนี้ของสินมั่นคงประกันภัย

ซึ่งยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กองฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ สำนักงานฟื้นฟูกิจการ กรมบังคับคดี ตั้งอยู่ที่กระทรวงยุติธรรม ชั้น 8 โดยศาลล้มละลายกลางได้ประสานกับทางกรมบังคับคดีแล้ว สามารถติดต่อขอข้อมูลเบื้องต้นได้เลยวันนี้

และเจ้าหนี้จะต้องมีหน้าที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ประกาศคำสั่งลงในราชกิจจานุเบกษา เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งกำหนดลงประกาศคำสั่งในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 20 ธันวาคม 2565 โดยมีช่องทางในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ดังนี้

1.ยื่นคำขอรับชำระหนี้ออนไลน์ทางเว็บไซต์กรมบังคับคดี wwww.led.go.th
2.ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กองฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ กรมบังคับคดี หรือสำนักงานบังคับคคีทั่วประเทศ
3.ยื่นคำขอรับชำระหนี้ผ่านบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ หรือสำนักงานสาขาทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ขอให้เจ้าหนี้ติดตามความคืบหน้าของคดีและรายละเอียดอื่น ๆ เพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์กรมบังคับคดี www.led go.th ต่อไป

อัพเดตข้อมูลการเงินของสินมั่นคงประกันภัย สิ้นสุดเดือน มิ.ย. 65 มีสินทรัพย์ 7,871 ล้านบาท มีหนี้สิน 38,229 ล้านบาท โดยมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน 30,357 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้สินค่าสินไหมประกันภัยโควิด โดยมีสินทรัพย์ที่แปลงเป็นเงินสดเพียง 2,481 ล้านบาท แต่มีค่าใช้จ่ายอื่น ณ เดือน พ.ค.-ก.ค. 65 ประมาณ 550 ล้านบาทต่อเดือน

ตามแผนสินมั่นคงประกันภัยในเบื้องต้น จะมีการขยายเวลาชำระหนี้, แปลงหนี้เป็นทุน นอกจากจ่ายหนี้เป็นเงินสด โดยเชื่อว่าเมื่อราคาหุ้นสูงขึ้นเจ้าหนี้จะได้รับประโยชน์จากมูลค่าหุ้น โดยรับผลตอบแทนในรูปแบบของเงินปันผล ขณะเดียวกัน ตามแผนของสินมั่นคงประกันภัยจะปรับลดสาขาและพนักงาน พร้อมทั้งหากพันธมิตร เพื่อเพิ่มการแข่งขันในอนาคตต่อไป โดยแผนเพิ่มทุนอยู่ระหว่างเจรจาผู้ร่วมทุนใหม่ โดยสนใจใส่เงินลงทุนประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท