วิบากกรรมหุ้น MORE วิบากกรรมโบรกฯ-ตลท.เร่งล้อมคอก

หุ้น MORE

เหตุการณ์หุ้น MORE หรือ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) เดินทางมาไกลพอสมควร ตอนนี้ก็น่าจะใกล้ถึงตอนจบแล้ว

เพราะในทางคดี ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ส่งเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ให้กับทางตำรวจ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในคดี “ฉ้อโกง” เรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ในส่วนที่เกี่ยวกับ “การสร้างราคาหุ้น” หรือ “ปั่นหุ้น” ก็ได้ส่งข้อมูลหลักฐานให้กับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้วเช่นกัน

ตลท.พอใจกระบวนการดับไฟ

“ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ค่อนข้างพอใจกับความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา ว่าได้ส่งข้อมูลให้กับทางตำรวจอย่างครบถ้วน รวมถึงการส่งข้อมูลให้กับผู้กำกับดูแลที่เกี่ยวข้องแล้ว

“สัปดาห์ที่ผ่านมา (14-18 พ.ย.) ถือว่าเป็นช่วงสถานการณ์ที่เรียกว่า ต้องรีบช่วยกัน ‘ดับไฟ’ แต่มาในสัปดาห์นี้ หลังจากดำเนินการหลายอย่างไปเรียบร้อยแล้ว ทางตลาดหลักทรัพย์ฯก็จะมาพิจารณาถึงแนวทางการปรับปรุงแก้ไขเกณฑ์ต่าง ๆ ให้รัดกุมมากขึ้น”

Advertisment

ปปง.อายัดทรัพย์ 5.3 พันล้าน

ซึ่งล่าสุด ปปง. ได้ดำเนินการอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว ราย นายอภิมุข บำรุงวงษ์ กับพวก ซึ่งมีพฤติการณ์กระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ

อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 จำนวน 34 รายการ เป็นเงินหรือหลักทรัพย์ที่ซื้อต่อเนื่องจากเงินที่ได้จากการขายหุ้น MORE หรือ MORE-R รวมมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 5,300 ล้านบาท พร้อมดอกผล

โดยคำสั่งอายัดมีกำหนดไม่เกิน 90 วัน คือนับตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย. 2565 ถึงวันที่ 18 ก.พ. 2566

ราคาหุ้น MORE ดิ่งหนักต่อเนื่อง

ขณะที่หุ้น MORE ที่กลับมาซื้อขายได้ตามปกติ ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่า ทันทีที่เปิดตลาดในแต่ละวัน (21-22 พ.ย.) ราคาหุ้นก็ร่วงลงต่ำสุด หรือติดฟลอร์ทันที

Advertisment

“ประกิต สิริวัฒนเกตุ” นักกลยุทธ์การลงทุน กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ จำกัด ชี้ว่า นับตั้งแต่วันที่ 10 พ.ย. จากราคาหุ้น MORE ที่พุ่งขึ้นไปผิดปกติที่ 2.90 บาท หลังจากนั้นมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จนถึง ณ 22 พ.ย. 2565 ปรับตัวลดลงมาแล้วกว่า 77% ลงมาอยู่ที่ราคา 0.68 บาท เป็นการติดฟลอร์เป็นวันที่ 4 แล้ว

ทั้งนี้ จะสังเกตได้ว่าในแต่ละวัน จะมีการวาง offer อยู่ที่ประมาณ 500-600 ล้านหุ้น ซึ่งคาดน่าจะเป็นหุ้นที่บรรดาโบรกเกอร์ถืออยู่ เพื่อเอาไว้เป็นหลักประกัน ซึ่งต้องนำออกมาขาย

“ในแต่ละวันมีเคลียร์หุ้นออกไปน้อยมาก อย่างในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ก็มีการขายออกไปแค่ประมาณ 6.5-10 ล้านหุ้น ถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับไซซ์ของคนที่ต้องการจะออก นั่นหมายความว่าต้องรอจนกว่าจะมีแรงซื้อกลับเข้ามาเยอะ ๆ ซึ่งตรงนี้ตอบไม่ได้และไม่มีใครรู้ ดังนั้น แสดงว่าในวันถัด ๆ ไป หุ้น MORE มีโอกาสปรับลดลงต่อ หรือลงไปติดฟลอร์ไปได้อีกต่อเนื่อง เพราะแรงขายคงมีเข้ามาเรื่อย ๆ ทุกวัน”

ล้อมคอกโบรกฯปล่อย “มาร์จิ้น”

ทั้งนี้ “พิเชษฐ สิทธิอำนวย” นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) กล่าวว่า ขณะนี้กำลังหารือกันถึงการปรับปรุงเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณากันอยู่ 2 ส่วน คือ

1.การให้วงเงินมาร์จิ้นแก่ลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ ควรเป็นอย่างไร และ 2.การจัดตั้งระบบกลาง หรือเรียกว่า เป็น “บูโร” ที่จะทำให้สามารถตรวจเช็กวงเงินมาร์จิ้นรวมได้ ว่าลูกค้าแต่ละราย มีโบรกเกอร์รายอื่น ๆ ให้วงเงินไปมากแค่ไหนแล้ว

“เรากำลังพิจารณากันอยู่ แต่เกณฑ์จะออกมาเมื่อไหร่นั้น ตอนนี้ยังไม่ได้กำหนดเวลาที่ชัดเจน”

จับตาเอฟเฟ็กต์โบรกเกอร์

ผลกระทบต่อโบรกเกอร์จากกรณีหุ้น MORE นี้ หลายโบรกฯต่างออกมายืนยันความแข็งแกร่งของเงินกองทุน

ล่าสุด บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) หรือ MST ก็ได้ออกมายืนยันความแข็งแกร่งของบริษัท โดยระบุถึงตัวเลขสภาพคล่องของทั้งเครือธนาคารเมย์แบงก์ ที่มีเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิมากกว่า 5.7 แสนล้านบาท และสภาพคล่องในประเทศไทย กว่า 6,000 ล้านบาท มากกว่าที่ ก.ล.ต.กำหนดไว้ที่ 25 ล้านบาท

“ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด ด้วยความแข็งแกร่งทางการเงิน หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) มีความพร้อมในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้กับกลุ่มลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ ช่วยจัดการความมั่งคั่งและการลงทุน เดินหน้าตามวิสัยทัศน์ที่มุ่งสร้างโอกาสการลงทุนให้กับทุกคนได้อย่างเท่าเทียมต่อไป” อารภัฏ สังขรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MST กล่าว

อย่างไรก็ดี โบรกฯที่ประสบปัญหาจากที่ล่าสุด สำนักงาน ก.ล.ต.มีคำสั่งระงับการดำเนินธุรกิจทุกประเภท พร้อมให้โอนทรัพย์สินลูกค้าไปยังผู้ประกอบการรายอื่น ก็คือ บล.เอเชีย เวลท์ ที่ก่อนหน้านี้มีการนำเงินของลูกค้าไปชำระค่าหุ้นกว่า 150 ล้านบาท

ซึ่งแม้ว่าก่อนหน้านี้จะยืนยันกันมาตลอดว่า เคส บล.เอเชีย เวลท์ เป็นเรื่องของการใช้เงินลูกค้าผิดวัตถุประสงค์ ไม่ได้มีปัญหาเรื่องเงินกองทุน

แต่จากคำสั่ง ก.ล.ต.ล่าสุด ก็คือ ก.ล.ต.เห็นว่า บริษัทดังกล่าวไม่สามารถดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (Net Capital : NC) ได้ตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีเงินกองทุนต่ำกว่า 0 ติดต่อกันเกิน 5 วันทำการ นับตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย. 2565

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามกันว่า ยังมีโบรกฯ อื่น ๆ ที่กำลังประสบปัญหาดำรงเงินกองทุนสภาพคล่อง จากเอฟเฟ็กต์หุ้น MORE นี้อีกหรือไม่ ซึ่งต้องติดตามกันต่อไป