ดอลลาร์อ่อนค่า นักลงทุนกังวลเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย

ดอลลาร์อ่อนค่า
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์อ่อนค่า นักลงทุนกังวลเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย คาดเฟดอาจไม่ขึ้นดอกเบี้ยแบบแข็งกร้าวอย่างที่ผ่านมา ขณะที่ปัจจัยในประเทศ คลังคาดเศรษฐกิจไทยปี2566 โต 3.8% แต่ต้องเผชิญความท้าทายจากปัญหาหนี้ครัวเรือน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (08/12) ที่ระดับ 34.86/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (7/12) ที่ระดับ 35.09/10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาท แข็งค่าจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการเกิดเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐว่าจะส่งผลกระทบให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจไม่สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวอย่างที่ผ่านมา

โดยนายเอริค โรเบิร์ตสัน หัวหน้านักวิจัยระดับโลกของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด เผยแพร่รายงานที่ระบุว่าเฟดประเมินความเสี่ยงเงินเฟ้อสหรัฐในปี 2565 ต่ำเกินไป ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2566 ซึ่งอาจกดดันให้เฟดต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวมถึงร้อยละ 2 เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

ทั้งนี้การคาดการณ์ล่าสุดของ CME Fed Watch Tool บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนัก 75% ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.50 และให้น้ำหนัก 25% ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 ในกรประชุมเฟดสัปดาห์หน้า (14/12) โดยนักลงทุนยังคงจับตาดูตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้การปรับขึ้นอตราดอกเบี้ยเฟดต่อไป

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ล่าสุดนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีถ้อยแถลงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ระดับ 3.2% ในปี 2565 และเติบโตที่ระดับ 3.8% ในปี 2566 แม้ว่าอาจต้องเผชิญความท้าทายจากปัญหาหนี้ครัวเรือน

ทั้งนี้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมมือดำเนินนโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและภาคธุรกิจ ในขณะที่ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยรายงานตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายนที่ระดับ 47.9 สูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 46.1 ส่งสัญญาณว่าการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.75-34.88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.81/83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/12) ที่ระดับ 1.0502/04 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (07/12) ที่ระดับ 1.0474/78 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าจากการอ่อนค่าของสกุลดอลลาร์สหรัฐ

ล่าสุดมีรายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของยุโรปไตรมาส 3 เมื่อเทียบรายไตรมาสอยู่ที่ระดับ 0.3% สูงกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 0.2% และเมื่อเทียบรายปีอยู่ที่ระดับ 2.3% สูงกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 2.1% ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0494-1.0531 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0495/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/12) ที่ระดับ 136.79/80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (07/12) ที่ระดับ 137.56/57 ค่าเงินเยนแข็งค่าจากการอ่อนค่าของสกุลดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังได้รับแรงหนุนหลังรายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของญี่ปุ่นไตรมาส 3 เมื่อเทียบรายไตรมาสอยู่ที่ระดับ -0.2% หดตัวลลงน้อยกว่าคาดการณ์ที่ระดับ -0.3% และเมื่อเทียบรายปีอยู่ที่ระดับ -0.8% หดตัวลงน้อยกว่าคาดการณ์ที่ระดับ -1.1% ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นจากผลกระทบของโรคโควิด-19

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 136.57-134.24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 137.05/06 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ GDP ญี่ปุ่น (8/12), คำร้องขอเงินสวัสดิการว่างงานสหรัฐ (8/12), ดัชนีผู้ผลิตของจีน (9/12), ดัชนีราคาผู้บริโภคของจีน (9/12), ดัชนีผู้ผลิตของสหรัฐ (9/12),

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -12/-11.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -22.5/-20.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ