เศรษฐกิจขาขึ้น … แต่ต้องระวังสะดุดบันได

เศรษฐกิจขาขึ้น
คอลัมน์ : เช้านี้ที่ซอยอารีย์
ผู้เขียน : พงศ์นคร โภชากรณ์ ([email protected])

เศรษฐกิจไทยในปี 2565 ข้อมูลจริง 3 ไตรมาสแรก ขยายตัวได้ร้อยละ 3.1 ต่อปี คาดว่าทั้งปีน่าจะขยายตัวได้ ใกล้ ๆ ร้อยละ 3.5 ต่อปี ส่วนในปี 2566 ทุกค่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ มองว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.5-4.0 ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่

1.เครื่องยนต์ด้านการท่องเที่ยว (ถูกนับอยู่ในการส่งออกบริการ 5% ของ GDP) จากการผ่อนปรนมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ การเปิดด่านชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางของประเทศต่าง ๆ

ในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 แตะ 11 ล้านคนไปแล้ว สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ประมาณ 10 ล้านคน และคาดว่าในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 20 ล้านคน แต่ภายหลังจากจีนเปิดประเทศ โดยยกเลิกข้อกำหนดการกักกันโรคโควิด-19 สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางออกมาเที่ยวมากขึ้น ดังนั้นจำนวนนักท่องเที่ยวน่าจะมากกว่า 20 ล้านคนแน่นอน

2.เครื่องยนต์ด้านการบริโภค (54% ของ GDP) เมื่อปัญหาต่าง ๆ คลี่คลาย กิจกรรมทางเศรษฐกิจทำได้มากขึ้นจนเกือบเป็นปกติ มีการเดินทางระหว่างจังหวัดมากขึ้น บวกกับมาตรการช็อปดีมีคืนในช่วง 45 วันแรกของปี ย่อมส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น สะท้อนได้จากความเชื่อมั่นผู้บริโภคฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องมาแล้ว 6-7 เดือน

สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรม และความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย (ไทยเที่ยวไทย) ยังคงขยายตัวในระดับสูงมาก นอกจากนี้ในช่วง 3 เดือนล่าสุด ดัชนีรายได้เกษตรกรที่แท้จริงยังคงขยายตัวในระดับสูง ทำให้เกิดแรงส่งมายังปี 2566 ด้วย

3.เครื่องยนต์ด้านการลงทุน (25% ของ GDP) ต้องยอมรับว่าการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศ จากข้อมูลพบว่า การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ดูจากยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุน การขยายพื้นที่และการเช่าพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรม และต้องเร่งรัดการลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ ที่สำคัญหลังจากได้รัฐบาลใหม่ ต้องมีการเหยียบคันเร่งการลงทุนมากกว่าเดิม

เมื่อรวมสัดส่วนทั้ง 3 เครื่องยนต์เข้าด้วยกัน จะอยู่ที่ประมาณ 84% ของ GDP ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเครื่องยนต์การส่งออกสินค้าที่มีสัดส่วน 62% ของ GDP ทั้งนี้ สัดส่วนดังกล่าวยังไม่ได้คำนึงถึงการหักส่วนที่เป็นการนำเข้าสินค้าและบริการออก ดังนั้น ทั้ง 3 เครื่องยนต์นี้ จึงเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ตาราง ศก.ระวังบันได 3 ช่วง

มาถึงตรงนี้ภาพของเศรษฐกิจดูค่อย ๆ เติบโตอย่างสวยงามใช่ไหมครับ ผมไม่อยากให้เรายึดติดกับภาพความสวยงามนี้จนไม่ทำอะไร ซึ่งนั่นจะทำให้เศรษฐกิจที่กำลังไต่บันไดขึ้นไปยืน ณ จุดที่เคยเป็น เกิดสะดุดหัวทิ่มได้ ผมอยากให้ภาครัฐ เอกชน และประชาชน เฝ้าติดตามและวางแผนรับมือกับบันได 3 ช่วงนี้ดี ๆ ได้แก่

1.บันไดช่วงต้นปี เศรษฐกิจโลกไม่สดใส กองทุนการเงินระหว่างประเทศและหลายหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ ได้ออกมาเตือนว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2566 ไม่น่าจะสดใส บางหน่วยงานบอกจะชะลอตัว บางหน่วยงานบอกถึงขั้นหดตัว ถ้าไม่สดใสเฉพาะต้นปี หรือลากมาถึงกลางปี

ก็น่าจะพอประคับประคองได้ แต่ถ้าไม่สดใสตลอดทั้งปี อันนี้แย่แน่นอน และถ้าเป็นอย่างหลัง การส่งออกของไทยที่เริ่มส่อแววไม่ดีตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา อาจจะฉุดเศรษฐกิจมากกว่าที่คิด เพราะการส่งออกสินค้า คือ เครื่องยนต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด

2.บันไดช่วงกลางปี การเลือกตั้งทั่วไป ในช่วงกลางปีประเทศไทยจะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง แม้ช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจคึกคักอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเพียงระยะสั้น ๆ และต้องแลกด้วยความล่าช้าในการจัดทำกรอบงบประมาณรายจ่ายปี 2567 เพราะกว่าจะได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ต้องใช้เวลาเป็นเดือน

ซึ่งอาจจะทำให้การใช้งบประมาณปี 2567 ไม่ทัน 1 ตุลาคม 2566 แต่ประเด็นนี้ลดความกังวลได้บ้าง เพราะในมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ ระบุว่า ในกรณีที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีออกใช้ไม่ทันปีงบประมาณใหม่ ให้ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณที่ล่วงแล้วไปพลางก่อนได้

3.บันไดช่วงครึ่งหลังของปี ความหวังของการฟื้นตัวฝากไว้กับการท่องเที่ยว ปี 2566 เราคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 20 ล้านคน และความหวังนี้เจิดจ้ามากขึ้น เมื่อจีนเปิดประเทศ เพราะก่อนโควิด-19 จีนคือลูกค้ารายใหญ่สุดของไทย ด้วยสัดส่วนกว่า 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มาไทย

แต่หากปัญหาโควิด-19 ในจีนกลับมารุนแรงอีกครั้ง (ซึ่งหวังว่าจะไม่มี) จนต้องปิดประเทศอีกรอบ เศรษฐกิจโลกและไทยก็จะได้รับผลกระทบอีกรอบ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปีที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมมาเที่ยวไทยเพราะตรงกับช่วงปิดเทอมในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม และต่อด้วย high season ของภาคการท่องเที่ยวในช่วงปลายปีพอดี

ดังนั้น ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ต้องตั้งรับกับบันได 3 ช่วงนี้ดี ๆ ซึ่งผมเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่งพอที่จะผ่านไปได้ สวัสดีปีใหม่ครับ

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด