มุมมอง “ซีอีโอ บลจ.วรรณ” ลงทุนอย่างไร…เมื่อโลกเสี่ยงถดถอย ?

พจน์ หะริณสุต
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

“ปี 2566 จะเป็นปีที่น่าสนใจ จาก 3 ข้อสำคัญ คือ Reset การเริ่มต้นใหม่หลังโควิด-19 Rebalance การปรับพอร์ตลงทุนใหม่ และสุดท้าย Recession ซึ่งมีคำถามว่าเศรษฐกิจถดถอยจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีเรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เหล่านี้คือความท้าทายที่ยังต้องเผชิญในปีนี้”

นี่เป็นคำกล่าวของ “พจน์ หะริณสุต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด ที่สะท้อนมุมมองการลงทุนในปี 2566 นี้

อย่ากังวลศก.ถดถอย-เงินเฟ้อ

“พจน์” กล่าวว่า ปีที่แล้วนอกจากน้ำมันที่เป็นสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนสูงที่สุดในโลกแล้ว กลุ่มประเทศอาเซียนอย่าง ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เป็นกลุ่มที่หุ้นปิดบวก นอกนั้นติดลบหมด ดังนั้นปีที่แล้วเป็นปีที่ไม่ค่อยสวยหรูนัก โดยเฉพาะกลุ่มหุ้น ที่เป็นเทคโนโลยีหรือสินทรัพย์ดิจิทัล

“จะเห็นว่าหุ้น Dow Jones ติดลบ 10% S&P500 ติดลบ 20% และ NASDAQ ติดลบ 30% ส่วนหุ้นยุโรปก็ติดลบ 15% แต่การที่ตลาดหุ้นพากันติดลบมาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ย”

สำหรับภาพรวมในปีนี้ “พจน์” ชี้ว่า จะเห็นกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีปรับเพิ่มประมาณการอัตราขยายตัวด้านเศรษฐกิจ (GDP) โลกปีนี้เป็น 2.9% แต่ถ้าดูกลุ่มประเทศพัฒนาจะเห็น GDP ส่วนใหญ่ปีนี้ยังปรับตัวลง มีแค่จีนเท่านั้นที่คาดว่า GDP จะเป็นบวก

ทั้งนี้ ในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เฟดมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบที่ 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยสหรัฐตอนนี้ขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4.5-4.75% นอกจากนี้ ประธานเฟดยังบอกอีกว่าจะทำเงินเฟ้อให้ลงมาเหลือ 2% จาก 6% ให้ได้ ดังนั้นก็อาจมีการขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบในเดือน มี.ค.นี้ ซึ่งถ้าขึ้นดอกเบี้ยจบแล้ว เรื่องภาวะเงินเฟ้อก็อาจจะจบไปด้วย หลังจากนั้นก็ต้องมานั่งดูว่าการที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยมาก ๆ จะทำให้เศรษฐกิจถดถอยหรือไม่

“ไม่อยากให้คนกลัวเรื่องเศรษฐกิจถดถอย เพราะถ้าดูจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐ รวมถึงไทยก็ยังเติบโต”

ขณะที่เรื่องภาวะเงินเฟ้อหลาย ๆ ประเทศก็เริ่มลดลงมา อย่างยุโรปเคยอยู่ที่ 9% ก็ลดลงมาอยู่ที่ 8.5% สหรัฐก็ลดจาก 7% มาเหลือ 6% หรือไทยก็ปรับจาก 6% ลงมาเหลือ 5%

“จะเห็นว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก ได้ส่งผลสำเร็จในระดับหนึ่ง จึงคาดว่าเฟดน่าจะใกล้จบการปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ดังนั้นความน่ากังวลในเรื่องของเงินเฟ้อในปีนี้น่าจะลดลง”

เก็งเป้าดัชนีหุ้นไทย 1,750 จุด

สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยมองว่าปีนี้มีโอกาสขยับขึ้นไปที่ระดับ 1,750 จุด จากปัจจัยบวกที่แนวโน้มการยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมถึงมีประเด็นบวกภายในจากการเลือกตั้งทั่วไปของไทยที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ อีกทั้งมีประเด็นบวกที่จีนเปิดประเทศ ทำให้มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาไทยเพิ่มขึ้น

“จากระดับดัชนีปัจจุบันที่แถว ๆ 1,700 จุด เริ่มขยับเข้าใกล้ 1,750 จุดแล้ว ซึ่งหากการจัดเก็บภาษีขายหุ้น (Sransaction Sax) ไม่ได้เลื่อนออกไป ก็จะเป็นปัจจัยหลักที่จะเข้ามากดดันบรรยากาศการลงทุน (sentiment) ในตลาดหุ้นไทยด้วย”

จีน-ไต้หวันทำฝันสลาย

“พจน์” กล่าวว่า อย่างไรก็ดี มีปัจจัยที่น่ากังวลมากพอสมควรในปีนี้ คือปัญหาระหว่างจีนกับไต้หวัน หากเกิดเรื่องนี้ขึ้น สิ่งที่มองว่าตลาดปีนี้จะดีก็จะพังทลายหมด ส่วนรัสเซียกับยูเครน ไม่เรียกว่าเป็นสงคราม แต่เรียกว่าเป็น Special Mission ที่มองว่าน่าจะจบภายใน 3 เดือน แต่ก็ลากมา 11 เดือนก็ยังไม่จบ

“ดังนั้น เรื่องปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เป็นหัวข้อที่น่าสนใจในปีนี้”

จัดพอร์ตเน้นหุ้นต่างประเทศ

ซีอีโอ บลจ.วรรณ กล่าวอีกว่า คาดการณ์ว่าในไตรมาสแรกนี้จะเป็นไตรมาสที่ดี ส่วนในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ต้องจับตาดูตัวเลขเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนเป็นหลัก ส่วนไตรมาส 4 หากเฟดมีการออกมาบอกว่าจะลดดอกเบี้ยก็จะเป็นช่วงเวลาที่ดีของนักลงทุน

“เรายังมองว่าทุก ๆ วิกฤต มันสร้างโอกาสในการลงทุนเสมอ สำหรับปีนี้คิดว่าน่าจะจัดพอร์ตได้สนุกมากขึ้นจะเห็นว่าตลาดหุ้นสหรัฐปรับขึ้นมาแล้ว 10% ตลาดหุ้นจีนก็ขึ้นมากว่า 10% แสดงให้เห็นว่าภาวะการลงทุนในปีนี้น่าจะดีกว่าปีที่แล้ว”

โดยให้น้ำหนักการลงทุนหุ้นต่างประเทศมากกว่าการลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากดัชนี SET Index ในปัจจุบันมีโอกาสปรับขึ้นได้จำกัด โอกาสสร้างผลตอบแทนเกิน 5% จึงค่อนข้างยาก ขณะที่การลงทุนในต่างประเทศอาจให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า หรือทำได้ถึง 10%

“แนะนำจัดพอร์ตการลงทุนปีนี้ให้เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศ 50% หุ้นไทย 10%, ตราสารหนี้ 20% และลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก 20%”

นี่เป็นมุมมองของผู้จัดการกองทุน ที่ได้ฉายภาพแนวโน้มการลงทุนในปีนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งนักลงทุนก็ต้องติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ กันต่อไป