ดอลลาร์อ่อนค่า จากถ้อยแถลงของพาวเวลล์

ดอลลาร์สหรัฐ
REUTERS/Jo Yong-Hak/File Photo

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า จากถ้อยแถลงของ เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ที่ระบุว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐเริ่มชะลอตัวลงบ้างแล้ว นักลงทุนคาดเฟดอาจชะลอขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ปัจจัยในประเทศ รายงานแบงก์ชาติระบุเศรษฐกิจไทยจะผ่านจุดต่ำสุดในปี 2566 นี้ ก่อนฟื้นตัวปี 2567 ทั้งภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน

สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/2) ที่ระดับ 33.49/51 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (7/2) ที่ระดับ 33.60/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้กล่าวสุนทรพจน์ในงานเสวนาที่จัดขึ้นในคืนวันอังคารที่ผ่านมา โดยสมาคมเศรษฐกิจแห่งวอชิงตัน (Economic Club of Washington) ซึ่งได้กล่าวในทำนองที่ว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐนั้นเริ่มชะลอตัวลงบ้างแล้ว และการดำเนินการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐนั้นเป็นไปด้วยดี ทำให้นักลงทุนมีความหวังว่าเฟดอาจจะชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ตลาดเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ด้วยเหตุนี้เองทำให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง และตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น ณ ปิดตลาด

แต่อย่างไรก็ตาม ทางพาวเวลล์กล่าวว่าธนาคารกลางยังคงจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีกระยะ เพื่อให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 2% และไม่ได้ให้สัญญาณถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ทั้งนี้ หากตัวเลขเศรษฐกิจทางภาคแรงงานออกมาตึงตัว หรือตัวเลขเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทางธนาคารกลางก็จำเป็นจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป

โดยภายหลังตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ทางประธานเฟดสาขามินนิอาโพลิสได้กล่าวว่า เฟดยังคงจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 5.4% จากระดับปัจจุบันที่ 4.5-4.7% นอกจากนี้ ในคืนวันอังคารที่ผ่านมายังมีตัวเลขดุลการค้าของสหรัฐในเดือนธันวาคม ซึ่งขาดดุลเพิ่มขึ้นจาก 61.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 67.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ขาดดุลน้อยกว่าที่คาดการณ์ จากการที่การนำเข้าของสหรัฐเพิ่มขึ้นจาก 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 317.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้เผยแพร่รายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินออกมา โดยประเมินว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยจะผ่านจุดต่ำสุดในปี 2566 ก่อนจะฟื้นตัวในปี 2567 ทั้งทางภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน โดยปัจจัยหลักของการฟื้นตัวมาจากการผ่อนคลายมาตรการโควิดในประเทศจีน ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นผลดีกับไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นผลดีกับเศรษฐกิจเอเชียด้วย

ทางด้านการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอตัวลงในปี 2566 ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลง แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง จากการที่เงินเฟ้อด้านอุปทานลดลง แต่มีแรงกดดันเงินเฟ้อจากทางด้านอุปสงค์ โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.43/33.62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.45/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/2) ที่ระดับ 131.05/08 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (7/2) ที่ระดับ 131.78/81 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ตลาดยังคงจับตาดูการเลือกผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คนถัดไป ซึ่งการรับตำแหน่งของผู้ว่าการคนถัดไปจะมีผลต่อมุมมองการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 130.59/131.38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 130.76/79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/2) ที่ระดับ 1.0726/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (7/2) ที่ระดับ 1.0710/14 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรแข็งค่าตามการอ่อนค่าของสหรัฐ ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0722/1.0760 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0749/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเยอรมนี (9/2), จำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ (9/2), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครัฐมิชิแกน (ก.พ.) ของสหรัฐ (10/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10/-9.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -10.5/-8.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ