8 Mega Trends ในปี 2023 โอกาสและความท้าทายธุรกิจ

8 Mega Trends
คอลัมน์ : Smart SMEs
ผู้เขียน : ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ในช่วงต้นปีของทุกปี ผู้รู้จากสถาบันต่าง ๆ จะมีการบอกเล่าถึง Mega Trends ที่จะเป็นกระแสสำคัญและส่งผลกระทบทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ทั้งในภาคสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งทางกรุงศรีเอง โดยศูนย์วิจัยกรุงศรีได้มีการออกมาให้มุมมองเรื่อง Mega Trends นี้ด้วยเช่นกัน โดยมองว่ามีเทรนด์ที่สำคัญอยู่ 8 กระแสด้วยกัน

1) กระแสโลกาภิวัตน์ที่ย้อนกลับ หรือ Deglobalization อันเกิดจากโลกหลังโควิดที่มีการปรับสมดุล ลดการ Globalization ลง และเข้าสู่ความเป็น Regionalization มากขึ้น คือจะเชื่อมโยงกันเองในภูมิภาค สำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหลายประเภท อาจเคยพึ่งพาวัตถุดิบจากแหล่งต่าง ๆ ทั่วโลก ก็จะหันมาหาวัตถุดิบกันในภูมิภาคมากขึ้น ห่วงโซ่อุปทานอาจจะไม่ข้ามทวีปไปมามากเหมือนเดิมแล้ว

2) การเปลี่ยนขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจจีนเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นและอีกไม่นานคงมีขนาดใหญ่กว่าสหรัฐ และเหตุการณ์ที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องเลือกข้างมีมากขึ้น ทำให้เกิดการแบ่งขั้วที่ชัดเจนขึ้น เกิดความเสี่ยงเชิง Geopolitics พร้อมปะทุได้ตลอดเวลา

3) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร โดยสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก และเพิ่มขึ้นมากในประเทศซีกตะวันออกอย่างญี่ปุ่น จีน รวมทั้งไทยด้วย คาดการณ์ว่าปี 2023 นี้ ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว คือมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปถึง 20% ซึ่งจะกระทบแนวโน้มการจับจ่ายใช้สอยที่เปลี่ยนไป เนื่องจากกำลังซื้อของผู้สูงอายุแตกต่างจากคนหนุ่มสาว ประเภทของสินค้าก็แตกต่าง อีกทั้งเรื่องกำลังแรงงานที่มีอายุมากขึ้น

4) สังคมเมือง (Urbanization) หมายถึงการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานเข้าสู่เขตเมือง อาจจะไม่ใช่ใจกลางเมืองหลวง คืออาจเป็นต่างจังหวัด แต่เป็นเขตเมืองก็ได้ ค่านิยมและไลฟ์สไตล์ก็จะเป็นแบบคนเมืองมากขึ้น วิถีชีวิตเร่งรีบขึ้น มีความต้องการที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น

นอกจากนี้ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้คนอาจจะมีไลฟ์สไตล์แบบคนเมืองได้ในระดับหนึ่ง แม้จะใช้ชีวิตอยู่นอกเขตเมือง ด้วยการเชื่อมต่อกับไลฟ์สไตล์แบบคนเมืองได้ผ่านช่องทางเสมือนและบริการขนส่งและ Logistics ต่าง ๆ

5) เทรนด์ปัจเจกบุคคล (Individualism) จากผลของการเติบโตของชนชั้นกลางและการศึกษาที่ดีขึ้นทั่วโลก คนจะมองหาความแตกต่างที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ต้องการสินค้าที่ทำมาเพื่อตัวเองโดยเฉพาะมากขึ้นด้วย มีการ Personalize ต่าง ๆ หรือเป็นความต้องการแบบ Customize คือสามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับแต่ละคนได้มากขึ้น

6) เทรนด์สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ยิ่งมีโควิด คนยิ่งให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น ทั้งในเชิงป้องกัน ทั้งการรักษาความสะอาด อนามัยส่วนบุคคล แหล่งที่มาของของกินของใช้ที่ถูกต้อง มีมาตรฐานและตรวจสอบได้ นอกจากนั้นการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่ดี จนถึงวิตามินอาหารเสริมต่าง ๆ เป็นสิ่งที่คนให้ความสำคัญมากขึ้น ทำให้เทรนด์สินค้าสุขภาพมาแรงขึ้นเรื่อย ๆ รวมไปถึงบริการทางการเงิน อย่างประกันสุขภาพ ประกันโรคร้าย

7) การตื่นตัวในเรื่องสิ่งแวดล้อม กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันและในระดับประเทศ ไทยเราเริ่มด้วยการงดแจกถุงพลาสติกตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว แต่พอมีโควิด โจทย์ที่ท้าทายคือจะรักษาสุขอนามัยอย่างไรให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย เมื่อต้องสั่งอาหาร ซื้อของออนไลน์ กล่องพลาสติก Bubble ห่อของ เต็มล้นถังขยะ นอกจากนี้ ไทยเองเราก็มี Roadmap เพื่อก้าวเข้าสู่ Carbon Neutrality ในปี 2050 และ Net Zero ในปี 2065 ซึ่งกดดันให้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัว

8) เทรนด์เทคโนโลยี ทั้งที่จะเข้ามา Disrupt และเข้ามาช่วยธุรกิจและชีวิตประจำวันเรา ทุกวันนี้คนแทบทุกวัยพร้อมเปิดใจให้กับเทคโนโลยีได้มากขึ้น เร็วขึ้น ผู้คนพูดคุยพบปะกันทาง VDO Call ทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking ซึ่งนับจากนี้ไปเทคโนโลยีจะพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง AI เทคโนโลยีอัตโนมัติ

ทั้งนี้ Mega Trends เหล่านี้มักจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจ ซึ่งอาจจะเป็นทั้งความท้าทายและโอกาส ขึ้นอยู่ว่าธุรกิจนั้นจะปรับตัวอย่างไร ธุรกิจทุกระดับต้องคอยศึกษาและติดตามเกี่ยวกับ Mega Trends อย่างสม่ำเสมอในแต่ละปี และมีการวางแผนหรือปรับตัวเพื่อให้สามารถเปลี่ยนเป็นโอกาสธุรกิจใหม่ ๆ หรือนำมาสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันให้ธุรกิจได้