ตั๋วเครื่องบินแพง ดันสเปนดิ้ง บัตรเครดิตตีปีกรับเทรนด์ท่องเที่ยวบูม

ตั๋วเครื่องบิน

ธุรกิจบัตรเครดิตเฮรับเทรนด์ท่องเที่ยวบูม หนุนยอดใช้จ่ายผ่านบัตรโตแซงหน้าก่อนโควิด “กรุงศรี คอนซูมเมอร์” ปักธงทั้งปีโกย spending แตะ 3.5 แสนล้าน ขณะที่ “เคทีซี” เผยค่าตั๋วเครื่องบินแพงขึ้น 20-30% ปัจจัยดันยอดใช้จ่ายพุ่ง ฟาก “ทีทีบี” เตรียมอัดแคมเปญตลอดทั้งปีรับกระแสท่องเที่ยว

นางสาวณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2566 นี้ ภาพรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต (spending) มีทิศทางการเติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะหมวดการท่องเที่ยวที่มีการขยายตัวชัดเจน

นับตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2565 เป็นต้นมา เนื่องจากคนต้องการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น หลังโควิด-19 คลี่คลาย โดยในปีนี้กรุงศรีฯตั้งเป้าการใช้จ่ายผ่านบัตรที่ 3.5 แสนล้านบาท หรือเติบโต 17% จากปีก่อนอยู่ที่ 3.3 แสนล้านบาท

ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรในหมวดท่องเที่ยว ทั้งในประเทศและต่างประเทศตั้งแต่ต้นปี-กลางเดือน ก.พ. 2566 อยู่ที่ 2,413 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 หรือก่อนโควิดประมาณ 14% ดังนั้น ปีนี้คาดว่าน่าจะมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรในหมวดท่องเที่ยวสูงถึงเกือบ 3 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ยอดการใช้บัตรในต่างประเทศ (ไม่รวมซื้อของออนไลน์จากต่างประเทศ) ในช่วงเดียวกันอยู่ที่ 1,330 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากก่อนโควิดประมาณ 9% ทั้งนี้ หากสถานการณ์การท่องเที่ยวขาออก (outbound) ยังคึกคักต่อเนื่อง กรุงศรีฯน่าจะมียอดใช้บัตรในหมวดท่องเที่ยวต่างประเทศถึง 13,600 ล้านบาท

นางสาวณญาณีกล่าวว่า ภายในเดือน เม.ย.นี้ กรุงศรีฯจะจัดแคมเปญพิเศษ รวมถึงสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับการท่องเที่ยวต่าง ๆ

นางสาวพัทธ์ธีรา อนันต์โชติพัชร ผู้บริหารแผนกเคทีซี เวิลด์ ทราเวล เซอร์วิส และการตลาดท่องเที่ยว บมจ.บัตรกรุงไทย (เคทีซี) กล่าวว่า หลังเปิดประเทศ ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโตเพิ่มขึ้นเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในหมวดการท่องเที่ยว

ซึ่งในปี 2565 มีอัตราการเติบโตกว่า 100% แม้จะเปิดท่องเที่ยวไม่เต็มที่ และในปี 2566 ช่วง 2 เดือนแรก มียอดเกือบ 50% เมื่อเทียบไตรมาส 1/2562 ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ที่มียอดรวมอยู่ที่ 4,700 ล้านบาท

“การเปิดประเทศมากขึ้น และคนไทยที่ต้องการท่องเที่ยวมากขึ้น การใช้จ่ายในหมวดการท่องเที่ยวในปี 2566 จะมีอัตราเติบโตเทียบเท่าช่วงก่อนโควิด โดยเคทีซีตั้งเป้ายอดการใช้จ่ายผ่านบัตรหมวดท่องเที่ยวเติบโตอย่างน้อย 20-30% คิดเป็นเม็ดเงินราว 1.8-2 หมื่นล้านบาท

ถือเป็นหมวดที่มีการใช้จ่ายเป็นอันดับ 3 โดยเป็นรองจากหมวดประกัน และเติมน้ำมัน เทียบกับในช่วงโควิดที่หมวดท่องเที่ยวตกไปอยู่ในอันดับ 13 ที่มียอดใช้จ่ายอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท”

อย่างไรก็ดี ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากราคาตั๋วเครื่องบินที่ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20-30% ส่งผลให้ภาพรวมยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเฉลี่ยจากเดิมอยู่ 5,000-6,000 บาทต่อบัตรค่อคน เพิ่มเป็น 7,000-8,000 บาทต่อบัตรต่อคน

ดังนั้น กลยุทธ์การเติบโตของเคทีซีในปีนี้ จะใช้แผน 3 แกนหลัก คือ 1.จับมือพันธมิตร (partner) ที่เกี่ยวข้องในหมวดการท่องเที่ยว และองค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยว 2.เจาะกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังใช้จ่ายที่มีรายได้ 5 หมื่นบาทขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายท่องเที่ยวสูง

และ 3.การสื่อสารและกิจกรรมการตลาด เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าเดิมกลับมาใช้บัตรและที่ใช้อยู่กลับมาใช้จ่ายผ่านบัตรมากขึ้น โดยปัจจุบันเคทีซีมีฐานบัตรท่องเที่ยวราว 2 แสนใบ และมีสมาชิกที่ใช้จ่ายผ่านบัตรในกลุ่มเดินทาง 7.4 แสนราย

“เราจะมีการทำแคมเปญร่วมกับองค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อเนื่อง ซึ่งตอนนี้เรื่องราคาอาจจะไม่มีผล เพราะยิ่งรอราคายิ่งปรับขึ้น สายการบิน capacity ยังกลับมาได้เพียง 80% เท่านั้น จะเห็นว่าราคาตั๋วเพิ่มจาก 2 หมื่นบาท วันนี้ 4 หมื่นบาทแล้ว แต่คนก็ยังไปเที่ยวกันอยู่ ซึ่งสะท้อนไปยังยอดใช้จ่ายผ่านบัตรอัตโนมัติหลังมีการเปิดประเทศกลางปี 2565 ยอดเราเติบโต 143%”

นายจเร เจียรธนะกานนท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าบริหารผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) กล่าวว่า จากการฟื้นตัวของรายได้ภาคท่องเที่ยวและการบริโภคเอกชน เป็นปัจจัยบวกต่อการเติบโตและยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต

โดยปีนี้คาดว่ายอดใช้จ่ายและยอดบัตรใหม่จะเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อนอยู่ที่ 20-30% ตามสัญญาณการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งธนาคารจะมีแคมเปญทางการตลาดกระตุ้นยอดใช้จ่ายตลอดทั้งปี เน้นทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ทำกระบวนการสมัครสินเชื่อให้รวดเร็วขึ้น และเพิ่มความร่วมมือกับพันธมิตรต่อยอดการเติบโต