ครม. อนุมัติ 1.5 หมื่นล้าน ชดเชยหนี้เกษตรกร ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง

เกษตรกรไทย

ครม.อนุมัติกรอบวงเงินชดเชย 1.5 หมื่นล้าน แก้ปัญหาหนี้เกษตรกร ที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ธนาคารรัฐ 4 แห่ง

วันที่ 14 มีนาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เห็นชอบแนวทางการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟู และพัฒนาเกษตรกรลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง

คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส. ) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) โดยจัดสรรงบประมาณเพื่อจ่ายชดเชยให้กับธนาคารทั้ง 4 แห่ง เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายตามโครงการฯ 50,621 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 15,481.657 ล้านบาท

กรณีเกษตรกรมีเหตุสุดวิสัยไม่สามารถชำระหนี้ได้ และได้ขอให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ชำระหนี้แทน ให้กองทุนฟื้นฟูฯ เสนอขอรับการจัดสรรงบฯ เพื่อชำระหนี้ให้แล้วเสร็จภายใต้ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนการชำระหนี้ตามสัญญา

ในการดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าวที่รัฐจะต้องรับภาระในการจัดสรรชดเชยให้กับธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ เงินต้นครึ่งหลัง (ร้อยละ 50) และดอกเบี้ยของเงินต้นเดิม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 15,481.657 ล้านบาท โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2568 – 2580 ให้กับธนาคารที่เกษตรกรทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ จำแนกตามข้อมูลของแต่ละธนาคารได้ ดังนี้

  • ธ.ก.ส. จำนวนลูกหนี้ 47,973 ราย เงินต้นครึ่งหลัง 7,340.176 ล้านบาท ดอกเบี้ย 6,718.949 ล้านบาท กรอบวงเงินชดเชย 14,059,125 ล้านบาท
  • ธ.ออมสิน จำนวนลูกหนี้ 552 ราย เงินต้นครึ่งหลัง 81.184 ล้านบาท ดอกเบี้ย 173.385 ล้านบาท กรอบวงเงินชดเชย 254.569 ล้านบาท
  • ธอส. จำนวนลูกหนี้ 2,008 ราย เงินต้นครึ่งหลัง 153.207 ล้านบาท ดอกเบี้ย 478.649 ล้านบาท กรอบวงเงินชดเชย 631.856 ล้านบาท
  • ธพว. จำนวนลูกหนี้ 88 ราย เงินต้นครึ่งหลัง 146.861 ล้านบาท ดอกเบี้ย 389.246 ล้านบาท กรอบวงเงินชดเชย 536.107 ล้านบาท
  • รวมจำนวนลูกหนี้ทั้งสิ้น 50,621 ราย เงินต้นครึ่งหลัง 7,721.428 ล้านบาท ดอกเบี้ย 7,760.229 ล้านบาท กรอบวงเงินชดเชย 15,481.657 ล้านบาท

กรณีการขอเงินชดเชยให้กับธนาคารของรัฐทั้ง 4 แห่ง เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ กระทรวงการคลัง และ ธนาคารทั้ง 4 แห่ง หารือเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันให้ได้ขอยุติและนำเสนอขออนุมัติงบประมาณประจำปี ทั้งนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้องไม่เป็นหนี้เกินกว่าจำนวนมูลหนี้ที่กำหนดไว้ในแผนการชำระหนี้ ที่ได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ไว้กับธนาคารเจ้าหนี้

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังย้ำให้ถึงความสำคัญในการกำกับดูในการดำเนินโครงการ ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ช่วยเหลือเกษตรกรอย่างทั่วถึง โปร่งใสและเป็นธรรม รวมทั้งมีมาตรการดูแล เพื่อสร้างวินัยด้านการเงินให้กับเกษตรกร เพื่อป้องกันปัญหาหนีที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต