หุ้น 2 สายการบินกำไรปี’66 ฟื้น นักท่องเที่ยวทะลัก-เร่งเปิดเส้นทางจีนเพิ่ม

แอร์เอเชีย

โบรกฯส่องหุ้นสายการบิน ปี’66 กำไร “เทิร์นอะราวนด์” รับคลื่นนักท่องเที่ยวทะลักไทย “บล.ฟิลลิป” เผย “AAV-BA” รับอานิสงส์จีนเปิดประเทศลุยเปิดเส้นทางบินแดนมังกร ขณะที่ “FSSIA” ประเมิน 2 สายการบินพลิกมีกำไรตั้งแต่ไตรมาสแรก แรงส่งราคาค่าตั๋วสูงกว่าก่อนโควิดแล้ว 10% อัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสารฟื้น ดันมาร์จิ้น

นายสยาม ติยานนท์ นักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้ประเมินผลประกอบการธุรกิจสายการบินที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยปี 2566 จำนวน 2 บริษัท โดยในส่วนของ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) หรือสายการบินแอร์เอเชีย คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 217 ล้านบาท จากปีที่แล้วขาดทุนสุทธิ 8,030 ล้านบาท และ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส จะขาดทุนลดลงเหลือ 200 ล้านบาท จากปีก่อนขาดทุนอยู่กว่า 2,110 ล้านบาท

โดยกำไรไตรมาส 1 ปีนี้คาดว่าจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ตามตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ยังคงโตดีต่อเนื่อง เพราะเป็นช่วงไฮซีซั่น ขณะที่ไตรมาส 2 โดยปกติจะเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของท่องเที่ยว แต่ปีนี้อาจจะไม่แรงเหมือนปีก่อน ๆ เนื่องจากจีนเริ่มเปิดประเทศ จึงน่าจะเริ่มเห็นคนกลับเข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้น ซึ่งน่าจะช่วยลดผลกระทบของฤดูกาลได้บ้างบางส่วน ดังนั้น ปีนี้นักท่องเที่ยวจีนจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะผลักดันการเติบโตท่องเที่ยวไทย

กำไรหุ้นสายการบิน

อย่างไรก็ดี ประเมินภาพธุรกิจสายการบินครึ่งปีหลัง น่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก เพราะจีนน่าจะเริ่มกลับมาตั้งแต่ไตรมาส 2 ประกอบกับช่วงไตรมาส 3 เป็น gloden week หรือช่วงวันหยุดวันชาติจีนในเดือน ต.ค. เพราะฉะนั้นการท่องเที่ยวน่าจะมีมากกว่า

“เราคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวไทยปีนี้ สอดรับตามที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ไว้ว่าปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศไทยราว 30 ล้านคน เป็นคนจีนประมาณ 7-8 ล้านคน ซึ่งขยับมาใกล้เคียงช่วงก่อนโควิดที่อยู่ประมาณ 11 ล้านคน”

นายสยามกล่าวว่า เที่ยวบินส่วนใหญ่จะมุ่งสู่จีนเป็นหลัก ซึ่งทาง AAV มีแผนจะเปิดเที่ยวบินสู่จีนทุกไตรมาสของปีนี้ และตั้งเป้าขึ้นบินให้ได้ประมาณ 110 เที่ยวต่อสัปดาห์ จากก่อนโควิดที่อยู่ระดับ 140 เที่ยวต่อสัปดาห์ โดยมีเป้าผู้โดยสารปีนี้จำนวน 20 ล้านคน จากปีที่แล้ว 9.95 ล้านคน ซึ่งจะกลับมาใกล้เคียงระดับปกติในช่วงก่อนโควิดที่มีจำนวน 21.15 ล้านคน ส่วนทาง BA ตามแผนตั้งเป้าผู้โดยสารปีนี้ไว้จำนวน 4.4 ล้านคน จากปีที่แล้ว 2.65 ล้านคน แต่อาจจะยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิดที่มีจำนวน 6.5 ล้านคน

“ส่วนกรณีที่มีการเปิดสายการบินใหม่ในตลาด ประเมินว่าเจ้าใหม่คงแข่งขันยาก เนื่องจากยังคงเป็นสายการบินขนาดเล็กอยู่ เครื่องบินมีไม่มาก ถ้าเทียบกับเจ้าใหญ่ในปัจจุบัน นอกจากว่ามีแผนเป็นสายการบินเซ็กเมนต์พิเศษ ซึ่งอาจจะมีผู้โดยสารเฉพาะกลุ่ม แต่ถ้าเกิดจะเข้ามาแข่งขันในช่วงเวลานี้ก็อาจจะลำบาก” นายสยามกล่าว

นายธีระพล อุดมเวศย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาการลงทุน เอฟ เอส เอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (FSSIA) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ไตรมาส 1 ปีนี้ประเมินกำไร AAV และ BA น่าจะปรับตัวดีทั้งคู่ ลุ้นพลิกกลับมามีกำไรได้ เพราะทิศทางราคาค่าตั๋วดีกว่าก่อนโควิดแล้ว โดยช่วงไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ราคาค่าตั๋วสูงกว่าก่อนโควิดราว 10% และอัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสาร (load factor) ดีกว่าก่อนโควิดทั้งคู่เช่นกัน

อาทิ AAV ช่วงไตรมาส 4/2565 อัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 90% จากช่วงก่อนโควิด 86% ส่วน BA อยู่ที่ 79% จากช่วงก่อนโควิด 68% ประกอบกับค่าใช้จ่ายน่าจะลดลงด้วยจากช่วงก่อนที่มีการลีนองค์กรไปพอสมควร โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายหลักด้านพนักงาน ซึ่งจะทำให้มาร์จิ้นและรายได้ปรับตัวดีขึ้น

ส่วนคู่แข่งสายการบินใหม่ในตลาด คาดการณ์ว่าปีนี้คงไม่มีการแข่งขันมาก เพราะกว่าจะเริ่มบินได้ช่วงปลายปี และถ้ามองภาพปี 2567 การแข่งขันก็ยังไม่มีผลอะไรมาก เพราะส่วนใหญ่ประกาศเปิดตัวมีเครื่องบินไม่กี่ลำ (แค่ 3-4 ลำ) หากจะแข่งได้ต้องมีสเกลใหญ่กว่านั้นมาก

“บางเจ้าก็เป็นแบบเที่ยวบินเช่าเหมาลำ ไม่ใช่ เที่ยวบินเชิงพาณิชย์และบางเจ้าไม่ได้แข่งเส้นทางในประเทศหรือเป็นสายการบินโลว์คอสต์เหมือน AAV ส่วนทาง BA มุ่งเน้นเส้นทางสมุย ซึ่งไม่มีใครแข่ง ฉะนั้นการแข่งขันไม่น่าจะกระทบมากนัก ปีนี้ปัจจัยเสี่ยงธุรกิจสายการบิน คือทิศทางราคาน้ำมัน หากปรับตัวสูงมากจะมีผลต่อต้นทุน ซึ่งเป็นต้นทุนหลัก และอาจจะมีค่าใช้จ่ายการคืนเครื่องบิน อาทิ BA ปีนี้ประมาณ 700 ล้านบาท ส่วน AAV ค่าใช้จ่ายส่วนนี้บันทึกในงบการเงินไปแล้วเมื่อปีก่อน” นายธีระพลกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วน บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) และ บมจ.การบินไทย (THAI) ปัจจุบันยังอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยการบินไทยได้ยื่นแก้แผนฟื้นฟูกิจการเพื่อสร้างความแข็งแกร่งและแก้ปัญหาทุนติดลบ โดยเติมทุนใหม่ไปกว่า 80,000 ล้านบาท เพื่อลดวงเงินกู้เหลือ 12,500 ล้านบาท หลังรายได้ธุรกิจการบินฟื้นตัวดี โดยยื่นแผนแปลงหนี้เป็นทุนกว่า 3.78 หมื่นล้านบาท ขายหุ้นเพิ่มทุนใหม่ 2.5 หมื่นล้านบาท และวางแผนจะนำบริษัทออกจากแผนฟื้นฟูและกลับเข้าตลาดหุ้นอีกครั้ง อย่างเร็วปลายปี 2567 หรือปี 2568