หุ้นอสังหาฯปี’61 ลุ้นกำไรโตดีรับตุนงานในมือแสนล้านบาท

บล.กสิกรไทยชี้เทรนด์หุ้นกลุ่มสังหาฯ เร่งเปิดโครงการใหม่หนุนไตรมาสแรกสดใส ฟันธงครึ่งปีแรกทำกำไรสวย ส่วนครึ่งปีหลังเหนื่อยแข่งเปิดโครงการใหม่ ค่ายกิมเอ็ง คาดรับรู้รายได้จากยอดตุนในมือกว่า 1 แสนล้านบาท เผยความต้องการซื้อฟื้นตัวช้า ขณะที่กลุ่มอสังหาโชว์กำไรปี’60 โต 6% ฟากแอลพีเอ็นแก้เกมรุกตลาดพรีเมี่ยม หวังปีนี้โตดี อ่วมปีก่อนสต๊อกคอนโดฯกลาง-ล่าง ตกค้าง

ผู้สื่อข่าวรายงานข้อมูลผลประกอบการงวดไตรมาส 4/2560 และทั้งปี 2560 ของบริษัทในกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า บริษัทอสังหาฯ 9 บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ใน ตลท. ได้แก่ บมจ.เอพี ไทยแลนด์ (AP), บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น (SC), บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ (LPN), บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ (QH), บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ (ORI), บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH), บมจ.แสนสิริ (SIRI), บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง (PSH) และ บมจ.ศุภาลัย (SUPALI) สามารถทำกำไรสุทธิโดยรวม 10,348 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นราว 8.26% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ที่มีกำไรสุทธิรวม 9,558 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อรวมผลประกอบการทั้งปี 2560 ที่ผ่านมา บจ.ทั้ง 9 แห่งมีกำไรรวม 33,514 ล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 6% จากปี 2559 ที่กำไรรวมอยู่ที่ 33,390 ล้านบาท โดยมี 5 บจ.ที่สามารถทำกำไรเพิ่มขึ้น และอีก 4 บจ. กำไรกลับลดลงจากปี 2559

นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โดยภาพรวมผลประกอบการของ 9 บริษัทจดทะเบียนในกลุ่มพัฒนาอสังหาฯดังกล่าวพบว่า มีกำไรสุทธิรวม 10,348 ล้านบาท ซึ่งถือว่าต่ำกว่าที่บริษัทคาดการณ์ไว้ 11% สาเหตุที่ บจ.ทำกำไรได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ ทั้ง ๆ ที่ยอดขายบ้านและคอนโดมิเนียม ขยายตัวได้ตามภาวะตลาด แต่เนื่องจากมีหลายบริษัทในกลุ่มอสังหาฯ ต้องตั้งสำรองในบางโครงการที่คาดว่าจะมีปัญหา เช่น ORI ที่มีการปรับมูลค่ายุติธรรมในโครงการคอนโดมิเนียม Park 24 และ SC ทำให้มีการบันทึกขาดทุนจากการปรับมูลค่ายุติธรรม เป็นต้น รวมถึงเรื่องของสต๊อกของโครงการที่คงค้างจากผลกระทบของการไม่อนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน

ส่วนคาดการณ์ผลประกอบการของกลุ่มพัฒนาอสังหาฯในช่วงไตรมาส 1/2561 ประเมินว่า ยังมีแนวโน้มจะเติบโตดีขึ้น เนื่องจากมีการเร่งเปิดโครงการใหม่ ๆ และมีการรับรู้รายได้จากงานในมือ (backlog) ซึ่งจะเห็นตั้งแต่ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลัง บรรดาผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาฯ (ดีเวลอปเปอร์) มีความเสี่ยงในการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากการเปิดโครงการใหม่ ๆ พร้อมกัน ซึ่งจะกระทบต่อยอดขายได้

“ขณะนี้หุ้นในกลุ่มอสังหาฯ ที่เราคาดว่าจะเติบโตโดดเด่นในปีนี้ ได้แก่ SUPALI,ORI และ SC” นายประกิตกล่าว

นางสาวเติมพร ตันติวิวัฒน์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในปี 2561 คาดว่ากำไรกลุ่มอสังหาฯ จะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจุบันยังมีการรอรับรู้รายได้จากงานในมือ (backlog) มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมโครงการที่ร่วมลงทุน (joint venture) ขณะที่ความต้องการซื้อ ยังมีทิศทางฟื้นตัวแต่คงช้า ๆ โดยประเมินว่า โครงการบ้านแนวราบน่าจะพอขับเคลื่อนตลาดได้ดีกว่าโครงการคอนโดฯ

โดยเมย์แบงก์คาดการณ์ว่า ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ กลุ่มอสังหาฯจะมีสัดส่วนกำไรจากรายได้ยอดขายอยู่ที่ 45% และครึ่งปีหลังจะรับรู้กำไรได้มากถึง 55% ของรายได้รวมทั้งปีนี้

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ คือ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของปีนี้ หลังจากช่วงเดือน ก.ย.60 ตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคในการซื้อบ้านลดต่ำลงในรอบ 14 ปี

นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) กล่าวว่า แผนงานในปี 2561 บริษัทตั้งเป้ายอดขาย 20,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อน ซึ่งแบ่งเป็นคอนโดฯ ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จโดยรอการขายมูลค่า 2,500 ล้านบาท, คอนโดอยู่ระหว่างก่อสร้าง 4,500 ล้านบาท, คอนโดมิเนียมใหม่ 10,000 ล้านบาท, โครงการที่ยังไม่ได้ก่อสร้าง 1,200 ล้านบาท และโครงการใหม่ที่รอการเปิดตัว 1,800 ล้านบาท

โดยในปีนี้บริษัทคาดรายได้อยู่ที่ 12,000 ล้านบาท เติบโต 38% จากปีที่แล้ว ซึ่งสัดส่วนรายได้จากธุรกิจอสังหาเพื่อขายจะอยู่ที่ 90% และที่เหลือ 10% เป็นรายได้บริการขณะที่อัตรากำไรสุทธิจะขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 14-15% จากปี 2560 ที่อยู่ 11% เนื่องจากปีนี้บริษัทได้ปรับกลยุทธ์ใหม่ในการขยายโครงการพรีเมี่ยมมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมาเน้นทำตลาดระดับกลาง-ล่าง ซึ่งส่งผลให้บริษัทมีสินค้าคงเหลือในสต๊อกจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลกระทบจากธนาคารพาณิชย์ (แบงก์)เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ทำให้ลูกค้าที่จองซื้อไม่ผ่านการอนุมัติสินเชื่อดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ปีนี้บริษัทคาดว่ายอดปฏิเสธสินเชื่อจะทรงตัว 30% ในระดับเดียวกับปีก่อน

“ผลประกอบการในปีที่ผ่านมา เราได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว เชื่อว่าปีนี้จะดีกว่าปีที่แล้ว และจะกลับมาทำนิวไฮได้ในปี 2562 ซึ่งจะส่งผลให้รายได้และกำไรกลับมาสร้างความมั่นใจให้กับตลาดผู้ถือหุ้น และนักลงทุนได้ ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างทำแผน 3 ปี (2563-2565) คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.นี้” นายโอภาสกล่าว