สรรพสามิตรอฟังรัฐบาลใหม่ ต่อเวลา “อีโคคาร์” อีก 2 ปี-เคาะ “อีวี 3.5”

สรรพสามิต รอรัฐบาลใหม่ตัดสินใจเดินหน้ามาตรการส่งเสริม “อีวี 3.5” ต่อเวลา “อีโอคาร์ เฟส 1” อีก 2 ปี รวมถึงตั้งงบประมาณปี’67 จ่ายชดเชยตามมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่ม หวั่นเงินเหลือ 2,000 ล้านบาท ไม่พอจ่ายช่วงไตรมาสสุดท้าย

นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวว่านโยบายเกี่ยวกับการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ก่อนหน้านี้มีแนวคิดเรื่อง อีวี 3.5 หรืออีวีพลัส รวมถึงการขยายเวลาการส่งเสริมการลงทุนอีโคคาร์ เฟส 1 ต่อไปอีก 2 ปี ถึงปี 2569 ตามข้อเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น ต้องรอรัฐบาลใหม่เข้ามาตัดสินใจทั้งหมด แม้ว่าบางมาตรการจะผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ไปแล้วก็ตาม

“ตอนนี้ทุกอย่างต้องรอรัฐบาลใหม่ทั้งหมด โดยมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ก็ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ เข้ามาร่วมโครงการเพิ่มเติม รวมถึงเรื่องเงินอุดหนุนในโครงการ ซึ่งตอนนี้เหลือกว่า 2,000 ล้านบาท ต้องดูว่าจะเพียงพอหรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 4 ของปีงบประมาณ 2566 เนื่องจากต้องรอรัฐบาลใหม่ มาจัดทำงบประมาณปี 2567” นายณัฐกรกล่าว

โฆษกกรมสรรพสามิตกล่าวด้วยว่า เชื่อว่าไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาล ก็น่าจะสนับสนุนอุตสาหกรรมอีวีต่อเนื่อง เพราะเท่าที่ได้รับฟังนโยบายแต่ละพรรค ส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับการสนับสนุนอีวีทั้งสิ้น และที่ผ่านมา โครงการก็เดินหน้าไปด้วยดี มียอดขาย ยอดจองรถอีวีที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการจ่ายเงินอุดหนุนตามแพ็กเกจอีวี ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ดังนี้ 1.กรณีรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท แบ่งเป็น สำหรับรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง แต่น้อยกว่า 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง จำนวนเงินอุดหนุน 70,000 บาทต่อคัน

นโยบายส่งเสริม อีวี

ส่วนรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป จำนวนเงินอุดหนุน 1.5 แสนบาทต่อคัน

2.กรณีรถยนต์กระบะประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศและมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป (เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศเท่านั้น) จำนวนเงินอุดหนุน 1.5 แสนบาทต่อคัน

3.กรณีรถจักรยานยนต์ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 1.5 แสนบาท จำนวนเงินอุดหนุน 1.8 หมื่นบาทต่อคัน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ยังมีในส่วนของมาตรการส่งเสริมลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่รถอีวี ที่ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ดอีวีไปแล้ว ที่ต้องรอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เข้ามาพิจารณาเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีสรรพสามิตจาก 8% ลดเหลือ 1% รวมทั้งการให้เงินสนับสนุนวงเงิน 24,000 ล้านบาท สำหรับการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้า โดยเงินสนับสนุนจะขึ้นกับขนาดของโรงงานผลิตแบตเตอรี่และความจุพลังงานจำเพาะของแบตเตอรี่

โดยโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดต่ำกว่า 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุนระหว่าง 400-600 บาท/kWh หากเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดสูงกว่า 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุนระหว่าง 600-800 บาท/kWh

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ปี 2566 นี้ จะเป็นอีกปีที่ดีสำหรับตลาดรถยนต์ BEV ในไทย ซึ่งหากทำได้ดีก็มีโอกาสที่ยอดขายจะสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดถึง 271.6%ต่อปี (YOY) ไปแตะระดับ 50,000 คันหรือเพิ่มขึ้นจาก 13,454 คันในปี 2565 รวมถึงประเมินว่า น่าจะมีโอกาสที่สัดส่วนยอดขายรถยนต์ BEV ของค่ายจีนในปี 2566 อาจเพิ่มขึ้นเป็น 85% ต่อยอดขาย BEV รวม จากปี 2565 ที่สัดส่วนอยู่ที่ 78%