ไตรมาส 4/60 หุ้นขนาดกลาง-เล็ก พลิกขาดทุน กับสถิติที่น่าสนใจ

คอลัมน์ จับช่องลงทุน

โดย วิจิตร อารยะพิศิษฐ /สรพล วีระเมธีกุล บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)

ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ราคาสินทรัพย์ทั่วโลกผันผวนสูง นำโดยหุ้น, พันธบัตร, น้ำมัน และอื่น ๆ สาเหตุหลักเกิดจากการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐ อย่างตัวเลขการจ้างงาน, ค่าแรง และเงินเฟ้อที่ออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาด สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐมีโอกาสสูงกว่าที่ตลาดคาด (3 รอบ) ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี (bond yield) ปรับตัวขึ้นสูงกว่า 30 bps เป็น 2.95% ซึ่งเป็นเหตุให้ earning yield gap (%) ระหว่างตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรแคบลง ทำให้เกิดแรงขายทำกำไรในตลาดหุ้นสหรัฐ และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก

กลับมาที่ตลาดหุ้นไทย สิ้นสุดการประกาศงบฯปี 2560 แล้ว บมจ.หลักทรัพย์เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ MKET พบว่ากำไรสุทธิงวดไตรมาส 4/60 ของบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai รวม 556 ตัว มีกำไรสุทธิทั้งหมดที่ 2.42 แสนล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น +28% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) และ +18% เทียบจากช่วงไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) ซึ่งกำไรส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มพลังงาน เติบโต +75%YOY, +52%QOQ นำโดยกลุ่ม PTT จากธุรกิจก๊าซและปิโตรเคมี กลุ่มค้าปลีกเติบโต +24%YoY, +22%QOQ จากยอดขายเฉลี่ยต่อสาขาที่ฟื้นตัวทำระดับสูงสุดและการขยายสาขาต่อเนื่อง ในขณะที่กลุ่มธนาคารปรับตัวลง -16%YOY, -13%QOQ จากการตั้งสำรองที่ต่ำกว่าคาด และหากดูการขยายตัวของกำไรหุ้นในตลาด mai ถือว่าทำได้แย่กว่าตลาด SET อาจสะท้อนได้ว่า ธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก ในช่วงไตรมาส 4/60 ยังฟื้นตัวได้ช้า ซึ่งสอดคล้องกับรายงานการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในช่วง 4Q60 ที่ออกมาต่ำกว่าคาดโดยเฉพาะในส่วนนอกภาคเกษตรเช่นกัน

ภาพรวมปี 2560 บริษัทจดทะเบียนรายงานกำไรรวมอยู่ที่ประมาณ 9.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนผลกระทบต่อประมาณการกำไรปีนี้พบว่า ตั้งแต่ต้นปีนักวิเคราะห์มีการปรับประมาณการกำไรสุทธิตลาด EPS61 ขึ้นประมาณ +0.5% นำโดยกลุ่มพลังงาน +5.2%, ปิโตร +6.6% ในขณะที่ปรับลดกลุ่มอาหาร -7.0% และวัสดุก่อสร้าง -3.1%

ในเดือน มี.ค. MKET มองกรอบ SET บริเวณ 1,760-1,820 จุด อิงจากข้อมูลในอดีต พบว่าหลังจากเกิด subprime crisis ในปี 2551 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทยในเดือน มี.ค. ติดต่อกัน 9 ปี เฉลี่ยสูงกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท (นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 840 ล้านบาท) ส่งผลให้ SET ปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 2.6% อย่างไรก็ตาม มี.ค.ปีนี้ นักลงทุนต่างชาติ จะพลิกกลับมาซื้อสุทธิเหมือนในอดีตจาก 2 ปัจจัย คือ

ปัจจัยแรก คือ การเมืองในประเทศ วันที่ 8 มี.ค. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เตรียมพิจารณา พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.และการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งหากไม่ผ่านแบ่งเป็น 2 กรณี คือ

1) ส่งร่าง พ.ร.ป.ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งอาจส่งผลให้ชะลอการนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ

2) หากมีมติเสียงข้างมากไม่น้อยกว่า 2/3 (165 เสียง) ไม่เห็นชอบ ร่าง พ.ร.ป.นี้ต้องตกไป และร่างใหม่อีกครั้ง

เรามองโอกาสที่จะเกิด case แรก คือ ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ภายใต้สมมุติฐานศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเสร็จใน 90 วัน (ซึ่งน่าจะอยู่ในช่วงการขยายเวลา 90 วันไปแล้ว) คาด SET แกว่งตัวในกรอบ 1,780 จุด แนะทยอยสะสม BJC, BTS, BH, BDMS แต่หาก สนช.มีมติไม่เห็นชอบ อาจส่งผลให้การเลือกตั้งในช่วง ก.พ. 2562 มีโอกาสถูกเลื่อนออกไป จะเป็นปัจจัยหลักกดดันภาพการลงทุน และส่งผลให้เดือน มี.ค. นักลงทุนต่างประเทศอาจชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นไทย คาด SET เผชิญกับแรงขายทำกำไร และหากปรับหลุดแนวรับบริเวณ 1,760 แนะทยอยขายทำกำไร ถือเงินสดเพิ่มเป็น 30% (เดิม 20%)

ปัจจัยที่สอง คือ ต่างประเทศ “นายทรัมป์” ประธานาธิบดีของสหรัฐเตรียมพิจารณามาตรการภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากต่างประเทศ ซึ่ง MKET มองว่าอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการกีดกันทางการค้าของหลายประเทศทั่วโลก (สงครามการค้า) และหากเกิดขึ้นจริงแนะจับตาการ “ตอบโต้” ของคู่ค้าหลักอย่างจีนและยุโรปผ่านสินค้าอื่น ๆ เช่น สินค้าเกษตร, อาหารสัตว์แปรรูป, อาหารแช่แข็ง ล่าสุดยุโรปออกมาขู่เตรียมประกาศใช้แผนเก็บภาษีบริษัทยักษ์ใหญ่จากอเมริกาอย่าง Amazon และ Facebook ที่ 2-6%

ทั้งนี้ ประเด็นนี้นอกจากส่งผลกระทบในกลุ่มที่เสียประโยชน์แล้ว ยังส่งผลลบต่อ sentiment การลงทุนอย่างอื่น เช่น จีนลดกำลังซื้อพันธบัตรสหรัฐลง เรามีมุมมองเป็นกลาง หากยังไม่มีการออกมาตรการอย่างเป็นทางการผ่านสภา และมองเป็นเพียงเครื่องมือที่สหรัฐใช้เจรจาสนธิสัญญากับนานาประเทศ สำหรับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ อาจทำให้ปริมาณเหล็ก, อะลูมิเนียมจากจีนไหลเข้ามายังภูมิภาคบ้านเรามากขึ้น ส่งผลกดดันต่อราคาเหล็กและการแย่งส่วนแบ่งตลาดในประเทศ (เป็นบวกต่อกลุ่มก่อสร้าง ในขณะที่กลุ่มยานยนต์ใช้คุณภาพเหล็กที่สูงจากญี่ปุ่น)