WHA กวาดรายได้ 2,440 ล้าน ประกาศเป็นผู้นำ 4 กลุ่มธุรกิจไทย-เวียดนาม

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group

WHA Group ประกาศเป็นผู้นำใน 4 กลุ่มธุรกิจทั้งโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม ดิจิทีล สาธารณูปโภคและพลังงาน ในไทย-เวียดนาม หลังไตรมาส 1 รายได้ 2,440.7 ล้านบาท กำไรอีก 522.7 ล้านบาท รับอานิสงส์การย้ายฐานการผลิตของจีน-ญี่ปุ่น-สหรัฐ หนุนดีมานด์ของโครงการ Built-to-Suit และโรงงาน/คลังสินค้าสำเร็จรูป รวมทั้งพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมเพิ่ม

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2566 บริษัทมีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรทั้งสิ้น 2,440.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.8% และกำไรสุทธิ 522.7 ล้านบาท ลดลง 20.3% โดยเป็นรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ 2,420.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.8% และกำไรปกติ 505.0 ล้านบาท ลดลง 22.7%

ทั้งนี้ในไตรมาส 1/2565 บริษัทมีการบันทึกกำไรพิเศษจากการจำหน่ายสินทรัพย์ประเภทดาต้าเซ็นเตอร์จากธุรกิจดิจิทัล จำนวน 345 ล้านบาท ซึ่งหากไม่นับรวมกำไรพิเศษดังกล่าวในไตรมาส 1/2565 กำไรปกติจะเพิ่มขึ้น 63.6%

ผลงานดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทเป็นผู้นำใน 4 กลุ่มธุรกิจ ทั้งโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภคและพลังงาน ตลอดจนดิจิทัล โซลูชั่น ทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม

โดยธุรกิจโลจิสติกส์ รับอานิสงส์จากความต้องการเช่าพื้นที่คลังสินค้าคุณภาพสูงที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้สามารถลงนามสัญญาเช่าโครงการ Built-to-Suit และโรงงาน/คลังสินค้าสำเร็จรูป ดังนั้นจึงมีพื้นที่คลังสินค้าภายใต้การถือครองและบริหารทั้งหมด 2,771,151 ตารางเมตร

“อย่างโครงการดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ เทพารักษ์ กม. 21 พื้นที่รวมกว่า 400 ไร่ เฟส 1 ที่ผ่านมา ได้การตอบรับที่ดีโดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มให้บริการด้านโลจิสติกส์ (3PL) และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ”

ส่วนเฟส 2 กลุ่มลูกค้าที่สนใจคือให้บริการโลจิสติกส์ การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ผู้ผลิต/จำหน่ายอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงและอาหารสัตว์ เป็นต้น

ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม มียอดขายที่ดินรวม 487 ไร่ (ไทย 379 ไร่/เวียดนาม 108 ไร่) และมียอดการเซ็น MOU รวม 753 ไร่ (ไทย 445 ไร่/เวียดนาม 308 ไร่) รับรู้รายได้ 1,052.5 ล้านบาท เติบโตมากเนื่องจากมีการโอนที่ดินเพิ่ม

จากกระแสการย้ายฐานการทุน ที่เชื่อมั่นไทยเป็นฐานการผลิตและการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาค และพร้อมรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ โดยเฉพาะ S-Curve ส่งผลให้ ทั้งนี้จึงมีที่ดินรอการโอนกรรมสิทธิ์ (Backlog) ในมือแล้วกว่า 675 ไร่

“เรามีนิคมใหม่อีก 2 แห่ง คือนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง เฟส 1 (1,100 ไร่) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ สระบุรี 2 (2,400 ไร่) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2569 นอกจากนี้ยังมีการขยายโครงการนิคมอุตสาหกรรมอีก 2 โครงการ คือ โครงการขยายนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 3 เฟส 3 จำนวน 630 ไร่ และได้มีการขยายโครงการนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 เพิ่มขึ้นจำนวน 460 ไร่”

ที่เวียดนาม บริษัทมีพื้นที่เขตอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 1 แห่ง และจะขยายโครงการใหม่ในจังหวัดหลัก ๆ ของประเทศเวียดนาม อีก 2 โครงการ รวมเป็นพื้นที่ 20,950 ไร่ (3,350 เฮกตาร์) ซึ่งได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงกับทางการองค์กรท้องถิ่นของประเทศเวียดนามเพื่อพัฒนาเขตอุตสาหกรรม คือ

เขตอุตสาหกรรม WHA Smart Technology Industrial Zone-Thanh Hoa พื้นที่ 5,320 ไร่ โดยกำหนดเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2567 หรือต้นปี 2568 และเขตอุตสาหกรรม WHA Smart Eco Industrial Zone-Quang Nam พื้นที่ 2,500 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะได้รับการอนุมัติใบอนุญาตต่าง ๆ ในปี 2569 หรือ 2570

ธุรกิจสาธารณูปโภค (น้ำ) มีรายได้ 643.3 ล้านบาท ปริมาณยอดขายและบริหารน้ำทั้งหมดในประเทศไทยและต่างประเทศรวม 35 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งยังคงได้รับปัจจัยบวกจากการปรับตัวสูงขึ้นของปริมาณยอดจำหน่ายน้ำดิบ (Raw Water) จำนวน 7 ล้านลูกบาศก์เมตร และผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม (Value-Added Water) จำนวน 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ของ Gulf TS 3 และ TS 4 ในปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ บริษัทเริ่มก่อสร้างระบบผลิตน้ำเพื่ออุตสาหกรรมส่วนขยาย มีกำลังการผลิต 3.7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 และคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ พร้อมทั้งเริ่มก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำอุตสาหกรรม เพื่อส่งน้ำไปยังนิคมอุตสาหกรรม ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยองในปริมาณการผลิต 4.5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งคาดว่าการก่อสร้างและเสร็จสิ้นไตรมาส 4/2566

ธุรกิจไฟฟ้า ส่วนแบ่งกำไรปกติจากการดำเนินงานและการลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทร่วมค้าไม่นับรวมกำไร/ขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยน และรายได้จากธุรกิจพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ใน 293.1 ล้านบาท มาจากกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP

เนื่องจากได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นของค่าไฟฟ้า (Ft) ในช่วงที่ผ่านมา และต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่เริ่มปรับตัวลดลง สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้า IPP แม้โรงไฟฟ้า GHECO-One จะมีการปิดซ่อมบำรุงตามแผนงานในช่วงไตรมาสแรกก็ตาม แต่ส่วนแบ่งกำไร IPP มีการปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ธุรกิจโซลาร์ รายได้ 110.7 ล้านบาท และได้ลงนามในสัญญาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มอีก 10 สัญญา

ธุรกิจดิจิทัล ยังคงมุ่งทรานสฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัล เพื่อก้าวสู่การเป็น Technology Company ตามเป้าหมายในปี 2567 โดยได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนองค์กรตั้งแต่การวางกลยุทธ์ทางธุรกิจ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ล่าสุด บริษัท ดับบลิวเอชเอ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้เข้าไปลงทุนในหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บมจ.สยามราชธานี จำนวน 111,597,905 ล้านหุ้น หรือ 20% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดหลังการเพิ่มทุน

การเข้าลงทุนครั้งนี้เล็งเห็น Synergy ที่เกิดจาก Ecosystem ที่ครบวงจรของบริษัท และความเป็นผู้นำด้าน Outsourcing ของ SO ซึ่ง Synergy ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นรวมทั้งธุรกิจในปัจจุบันของบริษัท และสำหรับการพัฒนาธุรกิจในอนาคตตามภารกิจ MTTS โดยความร่วมมือ เฟสแรกจะครอบคลุมถึง Center of Shared Services การขยายธุรกิจ Outsource ไปยังลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ๆ

Workforce Excellence Academy การพัฒนาบุคลากรและแรงงานให้พร้อมรองรับอุตสาหกรรม New S-Curve, EV Fleet Rental and Management ซึ่งอยู่ในแผนการขยายธุรกิจ Green Logistics ของบริษัท รวมถึง ESG และ Carbon Credit ที่เป็นการจัดการพื้นที่สีเขียวในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและเพิ่มคาร์บอนเครดิต