จับตาต้น มี.ค. Request to pay พร้อมใช้ KBank ย้ำไม่คิดค่าฟีรายย่อย

“ITMX” เผยต้นเดือนมี.ค. ระบบ Request to pay พร้อมใช้งาน หลังอัพระบบครั้งแรกเมื่อ 17 ก.พ. 2561 ที่ผ่านมา ‘กสิกรไทย’ ย้ำไม่คิดค่าธรรมเนียมการส่งแจ้งเตือนกรณีบุคคลธรรมดา ชูฐานลูกค้าพร้อมเพย์แตะ 6 ล้านรหัส

นางสาววรรณา นพอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด (ITMX) เปิดเผย ‘ประชาชาติธุรกิจ’ ว่า ขณะนี้ทางบริษัทฯและธนาคารพาณิชย์อยู่ระหว่างการทดสอบบริการเรียกเก็บเงิน (Request to Pay) ผ่านระบบพร้อมเพย์เป็นขั้นสุดท้าย และจะเปิดให้บริการในช่วงต้นเดือนมี.ค. 2561 หลังจากที่วางระบบครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2561 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้บริการ Request to Pay เป็นฟังก์ชั่นที่อยู่บนโครงสร้างพื้นฐานของพร้อมเพย์ จะให้บริการผ่านโมบายแบงก์กิ้งของแต่ละธนาคาร เช่น นาย ก. เรียกชำระเงินไปยังหมายเลขพร้อมเพย์ และจะแสดงบนโมบายแบงก์กิ้งของ นาย ข. ซึ่งแต่ละธนาคารสามารถแสดงรูปแบบในการชำระเงินได้ บางส่วนอาจคล้าย SMS Alert

“Request to Pay ต่อยอดมาจากพร้อมเพย์ หลักๆจะมาเพิ่มบนโมบายแบงก์กิ้ง ซึ่งวันแรกอาจไม่ใช่ทุกธนาคารที่ทำฟังก์ชั่นนี้ได้ ส่วนใหญ่ปรับระบบกันอยู่ ที่สำคัญแต่ละธนาคารจะสามารถเพิ่มรูปแบบได้ต่างกันเช่น เราลืมจ่ายค่าบิล บริษัทนั้นส่งชำระบิลมาทาง Request to Pay บางธนาคารอาจขึ้นเป็นลิงค์เชื่อมต่อไปดูบิลก่อนจ่าย หรือ เชื่อมไปแพลตฟอร์มเพื่อการชำระเงิน หรือบางที่จะเหมือนระบบเลขาส่วนตัวคือ ใส่เวลาที่จะจ่าย หรือเลือกเก็บไว้ดูได้ว่ามีบิลไหนต้องจ่ายบ้างก็ได้” นางสาววรรณากล่าว

อย่างไรก็ตามบริการ Request to Pay บนระบบพร้อมเพย์สามารถรองรับใช้งานได้ทั้งรูปแบบ Business to Business (B2B) Business to consumer (B2C) และ Consumer to Consumer (B2C) ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารจะออกแบบฟังก์ชั่นมาให้ลูกค้าใช้อย่างไร

นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เรื่อง Request to pay เพื่อการแข่งขันกับภาคธุรกิจทางธนาคารจะมีคิดค่าธรรมเนียมการส่งแจ้งเตือนกรณีบุคคลธรรมดา อย่างไรก้ตามทางธนาคารมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือบุคคลทั่วไป ร้านค้า และนิติบุคคล

หากจะใช้งานทั้งผู้ส่งการแจ้งเตือนและผู้รับการแจ้งเตือนต้องสมัครใช้บริการเรียกเก็บเงินผ่านระบบพร้อมเพย์และผูกบัญชีพร้อมเพย์กับธนาคารที่เปิดให้บริการ ดังนั้นอาจจะเชื่อมโยงกับฐานลูกค้าพร้อมเพย์ของธนาคารได้ โดย ณ สิ้นเดือนม.ค. ทางธนาคารมีรหัสพร้อมเพย์ 6 ล้านรหัส แบ่งเป็นลงทะเบียนเลขโทรศัพท์มือถือ 3.2 ล้านรหัส และ ลงทะเบียนด้วยหมายเลขประจำตัวประชาชน 2.8 ล้านรหัส

ทั้งนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังประกาศค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) Request to pay ออกมาแล้ว โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกค่าฟีการชำระเงินตามที่ได้รับการแจ้งเตือนจะเป็นไปตามค่าฟีพร้อมเพย์(เช่น ไม่เกิน 5,000 บาท ไม่เสียค่าฟี) และค่าฟีกรณีชำระเงินจากการแจ้งเตือนที่มีรหัสอ้างอิง (Bill Payment เช่นใบเสร็จต่างๆ) และส่วนที่สองค่าธรรมเนียมที่เกิดจากการส่งหรือรับบริการ Request to pay