ดอลลาร์แข็งค่า ตลาดจับตาผลประชุมเฟดสัปดาห์นี้

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์แข็งค่า ตลาดจับตาผลประชุมเฟดสัปดาห์นี้ ขณะที่นักลงทุนให้น้ำหนักถึง 72 % ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อนในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย.นี้ ส่วนปัจจัยในประเทศ แบงก์ชาติเผยดัชนีเชื่อมั่นผู้ประกอบการพักแรมเดือน พ.ค.2566 ปรับตัวลดลง หลังเข้าสู่ช่วงโลว์ ซีวั่น

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/6) ที่ระดับ 34.65/67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/6) ที่ระดับ 34.61/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นดัชนีความเคลื่อนไหวของดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.20% แตะที่ระดับ 103.55 ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (9/6) ขณะที่นักลงทุนมุ่งความสนใจไปที่การเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐ (CPI) และการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ ในวันศุกร์ (9/6) และตลาดโดยรวมคาดการณ์ว่า เฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์นี้ โดยเจ้าหน้าที่เฟดเริ่มเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็น (Blackout Period) ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 13-14 มิถุนายน ซึ่งเป็นไปตามกฎระเบียบของเฟด

ทั้งนี้ตลาดคาดการณ์ว่า นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด มีแนวโน้มที่จะรักษาสถานการณ์ในปัจจุบัน แต่จะเน้นย้ำว่า การคุมเข้มนโยบายยังไม่สิ้นสุด โดยล่าสุด FewWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 72.4% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิถุนายน และให้น้ำหนักเพียง 27.6% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50%

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรมเดือนพฤษภาคม 2566 มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 51% ปรับตัวลงจากเดือนเมษายน 2566 ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 57% โดยลดลงในทุกภูมิภาคตามการเข้าสู่ช่วง Low season ของทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 สิ้นสุดลง

สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 6-9 มิถุนายน 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 84.4 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 2,699 ล้านบาท (แม้จะซื้อสุทธิพันธบัตร 64 ล้านบาท แต่ก็มีตราสารหนี้หมดอายุ 2,763 ล้านบาท)

ทั้งนี้ ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าอยู่ในกรอบระหว่าง 34.54-34.74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.56/57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/6) ที่ระดับ 1.0739/43 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/6) ที่ระดับ 1.0758/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แม้ว่าผลการสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์ พบว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 2 ครั้ง ก่อนที่จะพักการดำเนินการด้านอัตราดอกเบี้ยจนถึงสิ้นปีนี้

โดยนางคริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB กล่าวว่า ECB จะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อกดดันให้เงินเฟ้อปรับตัวลงสู่เป้าหมาย 2% ของ ECB ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในวันที่ 15 มิถุนายน

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็นครั้งสุดท้ายในปีนี้ในวันที่ 27 กรกฎาคม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0731-1.0783 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0777/79 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/6) ที่ระดับ 139.48/50 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/6) ที่ระดับ 139.62/65 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่า ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนพฤษภาคม (PPI) ที่มีการเปิดเผยเมื่อเช้านี้ (12/6)ปรับตัวลงอยู่ที่ -0.7% เมื่อเทียบรายเดือน ต่ำกว่าที่คาดการณ์ว่าจะลดลงอยู่ที่ -0.2% และต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 0.3%

ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษในการประชุมวันที่ 15-16 มิถุนายน โดยจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1 และคงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทอายุ 10 ปี ไว้ที่ระดับ 0%

อีกทั้งนายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ เน้นย้ำก่อนหน้านี้ถึงความจำเป็นในการคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ จนกว่าค่าจ้างจะมีการขยายตัวอย่างยั่งยืนไปพร้อม ๆ กับการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้า ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 139.14-139.64 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 139.17/20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคเดือนพฤษภาคมของสหรัฐ (12/6), ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมเดือนพฤษภาคมจากสหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (NFIB) (13/6), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพฤษภาคมของสหรัฐ (13/6), ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเดือนมิถุนยนจากสถาบัน ZEW ของยูโรโซน (13/6), อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมของเยอรมนี(13/6), และอัตราว่างงานเดือนเมษายนของอังกฤษ (13/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.8/-10.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -11/-9.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ