บาทยังคงทิศทางอ่อนค่า ตามสกุลเงินภูมิภาค หลังจีนประกาศลดดอกเบี้ย

เงินบาท-ดอลลาร์-จีนลดดอกเบี้ย

เงินบาทยังคงทิศทางอ่อนค่า สอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาค หลังจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ หลังเศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณชะลอตัวลงอย่างมาก 

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานสภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 20 มิถุนายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/6) ที่ระดับ 34.77/78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (19/6) ที่ระดับ 34.73/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์ในช่วงการซื้อขายในตลาดยุโรปเมื่อคืน

อย่างไรก็ตาม ปริมาณการซื้อขายค่อนข้างเบาบาง เนื่องจากในวันจันทร์ที่ 19 มิ.ย. ตลาดการเงินนิวยอร์กปิดทำการในวันจูนทีนท์ (Juneteenth) หรือวันรำลึกถึงการประกาศอิสรภาพของทาสผิวดำและการสิ้นสุดของการค้าทาสในอเมริกา

โดยในช่วงเช้าค่าเงินบาทอ่อนค่าขึ้นไปแตะระดับ 34.81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการอ่อนค่าของสกุลเงินหยวน ซึ่งระหว่างวันอ่อนค่าสูงสุดที่ระดับ 7.1852 หยวน/ดอลลาร์สหรัฐ ภายหลังจากธนาคารกลางจีนกำหนดค่ากลางหยวนที่ระดับ 7.1596 หยวน/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 6 เดือน และอ่อนค่าลงจากค่ากลางของวันก่อนที่ 7.1201 หยวน/ดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ธนาคารกลางจีนยังประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปี ลง 0.10% สู่ระดับ 3.55% จากระดับ 3.65% พร้อมกับปรับลดอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปี ลง 0.10% สู่ระดับ 4.2% จากระดับ 4.3% ซึ่งทั้งคู่เป็นการปรับลดดอกเบี้ยในรอบ 10 เดือน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยการลดอัตราดอกเบี้ย LPR เป็นไปตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากเศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณชะลอตัวลงอย่างมาก และได้มีการลดอัตราดอกเบี้ยประเภทอื่นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

อาทิ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปี ลง 0.10% สู่ระดับ 2.65% จากระดับ 2.75% และการลดอัตราดอกเบี้ย Reverse Repurchase Rate ระยะ 7 วัน ลง 0.10% สู่ระดับ 1.90

ทั้งนี้การอ่อนค่าของเงินหยวนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าตามไปด้วย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.68-34.81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.74/75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/6) ที่ระดับ 1.0918/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (19/6) ที่ระดับ 1.0908/10 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยนางอิซาเบล ชนาเบล สมาชิกคณะกรรมการบริหารธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ให้ความเห็นสนับสนุนการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนมีโอกาสพุ่งขึ้นสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ และมองว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยน้อยเกินไปได้สร้างความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจมากกว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากเกินไป

นอกจากนี้นายฟิลิป เลน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางยุโรปกล่าวว่า ธนาคารกลางยุโรปมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือน ก.ค. แต่เขามองว่าการประชุมในเดือน ก.ย.อยู่ไกลเกินกว่าจะคาดการณ์ได้ และการตัดสินใจของธนาคารกลางยุโรปจะขึ้นอยู่กับตัวเลขทางเศรษฐกิจเป็นหลัก จึงทำให้สกุลเงินยูโรคงทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง

โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0909-1.0946 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0927/29 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/6) ที่ระดับ 142.09/11 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (19/6) ที่ 14.97/99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนายชุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่นกล่าวว่า ญี่ปุ่นกำลังติดตามความเคลื่อนไหวของสกุลเงินอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศยังคงมีเสถียรภาพสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ หลังจากที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าแตะระดับ 142.25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 7 เดือน หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นพิเศษ (ultra-low interest rates) สวนทางกับการดำเนินนโยบายตึงตัวของธนาคารกลางอื่น ๆ ทั่วโลก

ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 141.42-142.25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 141.62/64 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การเปิดเผยรายงานการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (21/6), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือน พ.ค. ของประเทศอังกฤษ (21/6), ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ ต่อสภาคองเกรส (21-22/6), การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารอังกฤษ (BOE) (22/6),

จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (22/6), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือน พ.ค.ของประเทศญี่ปุ่น (23/6) และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคการบริการขั้นต้นเดือน มิ.ย. ของประเทศอังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, สหภาพยุโรป และสหรัฐ (23/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -11.40/-11.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -12.80/-11.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ