จะเกิดอะไรขึ้น ! เมื่อธนาคารกลางทั่วโลกดำเนินนโยบายการเงินต่างกัน

เมื่อธนาคารกลางทั่วโลก ทำ “นโยบายการเงิน” ต่างกัน
คอลัมน์ : สถานีลงทุน
ผู้เขียน : สวภพ ยนต์ศรี บลจ.ทิสโก้

ช่วงระหว่างวันที่ 14-16 มิ.ย.ที่ผ่านมา ในช่วงระยะเวลาห่างกันไม่ถึง 72 ชั่วโมง มีการประชุมของธนาคารกลางสำคัญ ๆ ทั่วโลกถึง 4 แห่งด้วยกัน ประกอบไปด้วย สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งปรากฏว่าผลลัพธ์ของการประชุมที่ออกมามีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

โดยธนาคารกลางของสหรัฐ (Fed) และญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ย, ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติขึ้นดอกเบี้ยต่อ ส่วนธนาคารกลางของประเทศจีนกลับมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งแน่นอนว่าผลของการดำเนินนโยบายทางการเงินที่ต่างกันของสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ย่อมส่งผลกระทบมาถึงโลกของการลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยธนาคารกลางเพียงแห่งเดียวที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย คือ ECB ที่นอกจากจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้สู่ระดับ 3.5% แล้ว ยังคงส่งสัญญาณว่าจะยังคงขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปในเดือน ก.ค.อีก ซึ่งเหตุผลที่ธนาคารกลางยุโรปยังคงขึ้นดอกเบี้ยต่อเป็นเพราะอัตราเงินเฟ้อยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 6.1% และเมื่อเทียบกับ Fed ที่ขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องติดต่อกัน 10 ครั้งตั้งแต่เดือน มี.ค. 2022 ECB เพิ่งจะปรับขึ้นดอกเบี้ยไป 8 ครั้ง

โดยเริ่มขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกเมื่อเดือน ก.ค. 2022 ห่างจากการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกของ Fed ราว 4 เดือน ดังนั้น ที่จริงแล้วจึงไม่น่าแปลกใจมากนักที่ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้ Fed จะทำการหยุดขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งล่าสุด ส่วน ECB ยังคงทำการขึ้นดอกเบี้ยต่อ

ซึ่งหากข้ามมามองทางฝั่งสหรัฐ ถึงแม้ Fed จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ แต่ยังคงส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 2 ครั้งในปีนี้ และจะยังไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2024 โดยที่ผ่านมาดูเหมือนว่าตลาดจะไม่เชื่อว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยได้ถึง 2 ครั้ง และจะเห็นได้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่อง หลังจากผลการประชุม Fed ออกมา

โดยตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐที่เป็นปัจจัยกดดันให้ Fed ขึ้นดอกเบี้ย ข้อมูลในเดือนล่าสุดก็ชะลอตัวลงเหลือ 4% และมีความเป็นไปได้ที่การรายงานตัวเลขเงินเฟ้อในครั้งถัดไป เราอาจได้เห็นตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐ ปรับลดลงเหลือระดับราว 3% อย่างไรก็ดี มุมมองของ Fed ยังคงเชื่อว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอาจจะมีโอกาสกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง ซึ่งในการประชุมหลังจากนี้ Fed ยืนยันว่าจะตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายตามตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาว่ามีทิศทางเป็นอย่างไร

ทางฝั่ง BOJ ที่มีการตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยเช่นเดียวกันกับ Fed แต่แตกต่างกันตรงที่ BOJ คงการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (ดอกเบี้ยต่ำ) มาอย่างยาวนาน ซึ่งถือเป็นธนาคารกลางของประเทศพัฒนาแล้วประเทศสุดท้ายที่ยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอยู่ แต่คาดว่าในท้ายที่สุดแล้ว BOJ น่าจะต้องกลับมาใช้นโยบายเข้มงวดทางการเงิน เมื่อถึงเวลาที่มั่นใจว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับมาเติบโตได้ ซึ่งน่าจะเป็นระยะเวลาอีกไม่นานนักต่อจากนี้

สุดท้ายทางด้านประเทศจีนที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ไม่ดีนักหลังจากการเปิดเมืองก็ไม่มีทางเลือกอื่นคือการตัดสินใจกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่จะเห็นได้ว่ามุมมองของนักลงทุนส่วนใหญ่มองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจจะไม่เพียงพอทำให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวได้ แต่ยังคงคาดหวังมาตรการอื่น ๆ อีกในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

โดยนโยบายของธนาคารกลางประเทศสำคัญทั้ง 4 แห่งของโลกที่แตกต่างกัน คือภาพสะท้อนวัฏจักรเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ และผลตอบแทนของตลาดหุ้นของทั้ง 4 ประเทศก็มีความแตกต่างกัน ซึ่งตลาดหุ้นจีนในปีนี้สร้างผลตอบแทนได้น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหุ้น สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น

หลังจากนี้ สิ่งที่ตลาดรอคอยคือการที่ Fed และ ECB จะกลับทิศทางของนโยบายมาใช้การผ่อนคลายทางด้านการเงินหรืออย่างน้อยก็ส่งสัญญาณว่าจะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยอย่างชัดเจน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงจะถือเป็นปัจจัยบวกสำคัญที่ส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อได้ ในขณะเดียวกัน BOJ หากกลับทิศทางของนโยบายมาใช้การเข้มงวดทางด้านการเงินจะถือเป็นความเสี่ยงที่รออยู่

ส่วนจีนเองดูเหมือนตลาดหุ้นอาจจะต้องการมากกว่าแค่การดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางด้านการเงิน โดยถึงแม้หลังจากนี้ธนาคารกลางจีนน่าจะยังใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินไปอีกซักระยะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเพียงพอให้ตลาดหุ้นปรับขึ้นได้ แต่สิ่งที่ตลาดต้องการก็คือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอื่น ๆ เพิ่มเติมออกมาอีก