ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ขึ้นดอกเบี้ยสูงสุดในรอบ 22 ปี ไม่สนเศรษฐกิจถดถอย 

ธนาคารกลางยุโรป ECB
Photo by Daniel ROLAND / AFP

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่อัตรา 3.5% ซึ่งสูงสุดในรอบ 22 ปี และเปิดช่องการปรับขึ้นเพื่อสู้เงินเฟ้อต่อไป แม้ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้วก็ตาม

วันที่ 15 มิถุนายน 2566 สำนักข่าว Reuters (รอยเตอร์) รายงานว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่อัตรา 3.5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี และยังเปิดประตูสู่การปรับขึ้นเพื่อต่อสู้อัตราเงินเฟ้อต่อไปอีก แม้ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนเหี่ยวเฉา เข้าสู้ภาวะถดถอยไปแล้วก็ตาม

การเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซน หรือกลุ่ม 20 ประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโรอยู่ในภาวะชะงักงัน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อค่อย ๆ ลดลงมาหลายเดือนแล้ว 

ถึงอย่างนั้นก็ตาม อัตราเงินเฟ้อในยูโรโซน 6.1% ยังคงห่างไกลเป้าหมาย 2% อยู่ถึง 3 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ ECB ไม่สามารถยอมรับได้ และการเติบโตของดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานเพิ่งจะเริ่มชะลอตัวลง อีกทั้งตลาดเงินยุโรปไม่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยช้ากว่าสหรัฐและประเทศอื่น ๆ นั่นมีแนวโน้มที่จะทำให้ ECB ยังอยู่ในเส้นทางการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อไป  

ECB บอกในการแถลงข่าวว่า การตัดสินใจกำหนดอัตราดอกเบี้ยในอนาคตจะทำให้แน่ใจว่าอัตราดอกเบี้ยที่สำคัญของ ECB จะอยู่ในระดับที่เข้มงวดเพียงพอ เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายระยะกลางที่ 2% ในเวลาที่เหมาะสม และจะคงไว้ที่ระดับนั้นตราบเท่าที่จำเป็น  

นักเศรษฐศาสตร์ที่ตอบแบบสำรวจของ Reuters คาดว่า ECB จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในเดือนกรกฎาคม ก่อนจะหยุดชั่วคราวในช่วงที่เหลือของปีนี้ 

คริสตีน ลาการ์ด (Christine Lagarde) ประธาน ECB คาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ และแย้งคาดการณ์ของเหล่านักลงทุนในตลาดที่เดิมพันว่า ECB จะลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีหน้า 

ด้านนักเศรษฐศาสตร์จาก Deutsche Bank คาดว่าความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยสูงสุด (terminal rate) จะสูงกว่า 3.75% ยังคงอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการ ECB และสนับสนุนให้ตลาดขึ้นราคาต่อรองในการเดิมพันว่า ECB จะลดอัตราดอกเบี้ยลงในปี 2567 ซึ่งหมายความว่าโอกาสที่ ECB จะลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้ามีน้อย