ถอดบทเรียนลงทุน STARK ด้วยการลงทุนแนว VI สไตล์วอร์เรน บัฟเฟตต์   

โดยตราวุทธิ์ เหลือสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth 

ถอดบทเรียนลงทุน STARK  ด้วยการลงทุนแนว VI แบบปู่ วอร์เรน บัฟเฟตต์   

ความเชื่อมั่นของตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมาถูกท้าทายไม่น้อยเลยนะครับ กรณีล่าสุดอย่างการตบแต่งบัญชีของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARKสร้างความเสียหายมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทไว้ให้บรรดาเจ้าหนี้และเหล่านักลงทุน ทั้งกองทุนรวมและบริษัทประกัน ไม่พ้นนักลงทุนรายย่อยพากันบาดเจ็บไปตามๆ กัน เห็นข่าวนักลงทุนรายย่อยหันหลังให้ตลาดหุ้นไทยไม่น้อย ผมเห็นบางคนต้องสูญเสียเงินที่เตรียมไว้สำหรับเกษียณเพราะกรณีนี้แล้วรู้สึกสะท้อนใจจริงๆ ครับ

วันนี้ผมจึงอยากมาถอดบทเรียนสุดคลาสสิคจากกรณีของ STARK ที่ผู้ลงทุนควรตั้งข้อสังเกตและหนทางเอาตัวรอดแบบฉบับนักลงทุนเน้นคุณค่า VI นะครับ

ก่อนอื่นต้องบอกว่าผมไม่แปลกใจเลยที่นักลงทุนจะบาดเจ็บกันเป็นวงกว้างขนาดนี้ ด้วยตัวเลขงบการเงินสวยหรูในช่วงปีแรกจนทำให้มูลค่าราคาตลาดหรือมาร์เกตแคปพุ่งไปสูงกว่า 7 หมื่นล้านบาท ขึ้นแท่นกลุ่ม SET100 ดึงดูดนักลงทุนไทยและเทศ ใครเห็นก็ต้องอยากมีติดพอร์ตไว้

แต่จู่ๆ วันนี้หุ้น STRAK กลับถูกขบวนการไซฟ่อนเงินออกไปในหลักหลายหมื่นล้านบาท ทำให้กิจการของ STARK ต้องพลิกเป็นบริษัทที่ขาดทุนกว่าหมื่นล้านบาท และอาจตัองเข้าสู่กระบวนการยื่นล้มละลายและเริ่มฟื้นฟูใหม่ต่อจากนี้ไป เป็นจุดจบหุ้นดาวร่วงที่แทบไม่เหลือมูลค่าเลย

หลายคนคงมีเกิดคำถามตัวโตๆ ว่า ตกลงเจ้าตัวเลขต่างๆในงบการเงินแต่ละไตรมาสแต่ละปีของบริษัทต่างๆ มีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหนกันแน่ ตัวเลขยอดขาย รายได้ รายจ่าย การทำธุรกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นจริงหรือปลอม นักลงทุนไม่มีทางรู้ได้ เพราะระดับผู้ตรวจสอบบัญชีระดับโลกยังติดกับดักกับการตกแต่งบัญชีที่ปลอมแปลงธุรกรรมต่างๆ ขึ้นมาช่วง 2-3 ปีก่อนหน้า

ปฐมบทหุ้น STARK ปั้นธุรกิจเติบโต สู่สตอรี่โกยเงินระดมทุน

ผมขอย้ำว่า STARK เป็นอีกกรณีศึกษาอย่างมากครับ และเคสนี้ทำให้ผมหยุดที่จะหาข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้เลยครับ ผมจึงขอมารวบตึงให้คุณผู้อ่านได้เห็นภาพคร่าวๆ เพื่อปูทางไปสู่ประเด็นอื่นๆ นะครับ

เท่าที่ได้ไล่เรียงจากข่าวที่ออกมา จุดเริ่มต้นของหุ้น STARK อยู่ที่การเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แบบทางอ้อม (Backdoor Listing) ในปี 2562 ผ่านบริษัท สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ SMM

STARK กลายเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสายไฟฟ้าและสายเคเบิลอันดับหนึ่งในอาเซียนและใหญ่ติดอันดับโลก ผลประกอบการฉายแววโดดเด่นตั้งแต่เข้าสู่ตลาดหุ้น โดยในปี 2562 มีรายได้กว่า 11,607 ล้านบาท และพลิกกลับมามีกำไรสุทธิราว 123 ล้านบาท จากปี 2561 ที่ขาดทุนราว 183 ล้านบาท จากนั้นในปี 2563-2564 ก็มีรายได้และกำไรที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด จนมาสู่งวดสุดท้ายที่แจ้งตัวเลขให้กับตลาดคืองวด 9 เดือนปี 2565 มีรายได้ 21,877 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2,216 ล้านบาท หลังจากนั้น และหลังจากนั้นก็ไม่ได้นำส่งงบการเงินมาถึงเวลานี้

ช่วง 3 ปีที่ตัวเลขงบสวยๆ เหล่านี้เอง ที่ทำให้หุ้น STARK เนื้อหอมดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่จนถึงแมงเม่าจำนวนมากต่างตบเท้ากันเข้ามาลงทุนกันคึกคัก นอกจากนี้ยังดึงดูดกองทุนทั้งในไทยและในต่างประเทศไม่น้อย หนุนความน่าเชื่อถือให้หุ้น STARK ติดโผหุ้น Growth Stock ที่มีพื้นฐานดีมีอนาคต จนทำให้ราคาหุ้น STARK ร้อนแรง สูงสุดที่ 5.55 บาท ส่งให้มาร์เก็ตแคปพุ่งแตะ 7.35 หมื่นล้านบาท

กุหลาบที่เคลือบยาพิษ มักจะถูกเคลือบเมื่อกุหลาบแบ่งบานสวยงามที่สุด ขบวนการไซฟ่อนเงินของ STARK ก็น่าจะเริ่มจากช่วงเดือน พ.ค. 2565 ที่งบการเงินแสนสวยงาม ด้วยการแจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเห็นชอบอนุมัติให้บริษัทซื้อหุ้นทั้งหมดของ LEONI Kabel GmbH (LEONI Kabel) และ LEONIsche Holding Inc (LEONIsche) ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าสำหรับรถยนต์และสายไฟสำหรับ EV charging solutions ใหญ่ที่สุดในโลก มูลค่าการซื้อขายรวมประมาณ 20,572 ล้านบาท

นำมาสู่เหตุผลในการขอเพิ่มทุนในเดือนต.ค. ปีเดียวกันโดยจะขายหุ้นให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ให้แก่นักลงทุนสถาบัน 12 ราย ซึ่งล้วนเป็นสถาบันการเงินระดับโลกและนักลงทุนรายใหยญ่ในประเทศ และนอกจากนี้ ด้วยอันดับเครดิตเรตติ้งระดับ BBB+ จึงทำให้ STARK สามารถระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้กว่า 9,000 ล้านบาท และขอสินเชื่อจากธนาคารอีกประมาณ 8,000 ล้านบาท

การระดมทุนมูลค่ามหาศาลครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย นักลงทุนย่อมยินดีที่จะจ่ายเงินให้บริษัทที่มีเครดิตดีแถมมีแนวโน้มเติบโตอยู่แล้วจริงไหมล่ะครับ ทุกฝ่ายก็ควรจะแยกย้าย กลับไปนอนหลับฝันดีกัน ​ แต่ระหว่างที่นักลงทุนฝันดีอยู่นั้นเอง ความผิดปกติบางอย่างกำลังคืบคลานเข้ามา

ปมล้มดีล ผู้บริหารทยอยลาออก เลื่อนส่งงบต่อเนื่อง

หลังได้เงินไปเรียบร้อยแล้ว ในช่วงเดือน ธ.ค.2565 STARK กลับแจ้งยกเลิกแผนการซื้อกิจการ LEONI Kabel โดยไม่มีการพูดถึงเงินเพิ่มทุนที่ระดมไปเพื่อดีลดังกล่าว แม้จะมีเสียงทวงถามของนักลงทุนที่ตั้งคำถามและเรียกร้องให้บริษัทออกมาชี้แจงแต่ก็ไร้คำตอบที่ชัดเจนจากผู้บริหาร บ่งชี้ความไม่โปร่งใสภายในองค์กรและธรรมาภิบาลของคณะผู้บริหาร

ปมที่สอง ผู้บริหารทยอยลาออก เริ่มตั้งแต่ระดับซีอีโอที่ประกาศลาออกกะทันหัน ก่อนจะมีการแต่งตั้งซีอีโอคนใหม่เข้ามาเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2566 ยังผิดปกติได้อีกเมื่อกรรมการบริษัททั้ง 7 คน ลาออกยกชุด เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติขั้นรุนแรง

ปมถัดมา บริษัทผิดนัดส่งงบการเงินของปี 2565 ครั้งที่ 1 เมื่อต้นปี 2566 และในเดือนมี.ค. ก็ได้เลื่อนอีกครั้งจนครั้งล่าสุดในเดือนเม.ย. ที่ผ่านมาก็ยังอ้างว่าผู้สอบบัญชีรายใหม่ไม่สามารถดำเนินให้แล้วเสร็จทันกำหนด ตอกย้ำความผิดปกติชัดเจน

ปมที่สี่ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่พยายามเข้ามาแก้ไขปัญหาด้วยการแต่งตั้งกรรมการเข้าใหม่แทนที่กรรมการที่ลาออก รวม 6 คน แต่ทำงานไปไม่ถึงสัปดาห์ก็ลาออกไปครึ่ง ก่อนจะหากรรมการใหม่เข้ามาเพิ่มอีก 2 ราย สะท้อนภาพว่า แม้แต่เจ้าของบริษัท ที่พยายามดึงผู้ใหญ่เข้ามาช่วย แต่เมื่อเห็นข้อมูลภายในบริษัทมีความเสี่ยงมาก จนตัดสินใจถอยหนีจากวิกฤต STARK ตอกย้ำถึงความไม่โปร่งใสภายในที่คุมไม่อยู่แล้ว

ความโป๊ะของเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อผู้สอบบัญชีระดับโลกอย่าง PWC ได้เข้ามารื้อและพลิกดูหินทุกก้อนที่เกี่ยวข้องในงบการเงินของ STARK ข้อมูลทุกอย่างปรากฎชัดเจนว่านี่คือการตบแต่งบัญชีขึ้นมา ทั้งการสร้างยอดขายปลอม ตั้งสินค้าคงคลังลม การสั่งซื้อวัตถุดิบปลอมเพื่อนำเงินจ่ายออกไป ยังพบความผิดปกติของเส้นทางเงินที่โอนเข้าออกในบริษัทต่างๆ ที่ไม่ชอบมาพากล และสุดท้ายปรากฏว่า บริษัทมีผลขาดทุนจำนวนมาก!

ปมเหล่านี้อาจจะไกลตัวนักลงทุนที่ไม่ได้คลุกวงข่าวมากพอและตลอดเวลา แต่ผมอยากชวนให้กลับมาที่หลักการเลือกหุ้นขั้นพื้นฐาน นั่นคือการอ่านงบการเงินแล้วตั้งคำถาม หากสนิทกับคุณ ‘เอ๊ะ’ สักนิดอาจจะดี เพราะ STARK เอง มีการดำเนินธุรกิจโดยใช้เงินในส่วนของหนี้ที่สูงมาก ซึ่งมากกว่าส่วนของผู้ถือหุ้นด้วย อีกทั้งยังพบว่า เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีกำไรสูง และ ดูเหมือนเติบโตได้ดีแข็งแกร่ง แต่ เอ๊ะ! ทำไมบริษัทไม่เคยจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นเลยล่ะ????

เครื่องมือหนึ่งที่ผมอยากแนะนำให้นักลงทุนทอลองนำมาใช้ในการวิเคราะห์หุ้น STARK ได้อย่างง่ายๆ และฟรี ก็คือ Jitta.com ที่เราเคยจะเห็นได้ว่าเป็นหุ้นที่ได้ JITTA SCORE ซึ่งเป็นตัวบอกคุณภาพของกิจการ  สูงสุดที่ 4.17 เพียงปีเดียว หลังจากนั้นก็ขึ้นๆ ลงๆ อีกด้วย สะท้อนถึงความไม่แข็งแกร่งและไม่มีเสถียรภาพของกิจการ

อย่างที่ว่านะครับ รู้อะไรก็ไม่สู้ ‘รู้งี้’ แต่ผมเชื่อนะครับว่า ‘รู้งี้’ ในวันนั้นจะทำให้เรา ‘(เรียน)รู้แล้ว’ ในวันนี้

วิธีเอาตัวรอดจากหุ้นชุบแป้งทอด

ผมเชื่อว่า บทเรียนวิกฤต STARK นักลงทุนที่เสียหาย ต่างตกอยู่ในภาวะ shock กันไม่น้อย หลายคนถามผมว่า แม้จะเลือกหุ้นที่มีขนาดกลาง ธุรกิจเติบโตดีมีอนาคต ผลดำเนินงานสวยและยังเป็นหุ้นกลุ่ม SET 100 เสมือนเครื่องการันตี ยกให้เป็นหุ้นน้ำดี แต่สุดท้ายกลับเจอดี แบบนี้แล้วนักลงทุนจะเอาตัวรอดอย่างไรได้

ก่อนอื่นผมขอให้กำลังใจกับทุกท่านที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ครั้งนี้นะครับ เพราะไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนสายไหน สายเทคนิคหรือ VI ก็บาดเจ็บจากเคสนี้ได้อย่างไม่น่าแปลกใจเลยครับ อย่างว่าครับทุกการลงทุนมีความเสี่ยง หากเราพลาดข้อมูลอะไรไปสัดนิด อาจตกหลุมพลางที่วางไว้ได้ครับ

ผมขอแชร์วิธีการเอาตัวรอดให้แก่นักลงทุนมาเสนอครับ

ข้อแรก ความเสี่ยงจะลดทอนลง ถ้าคุณยึดตามแนวทางของปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนระดับโลกที่ไม่ได้ตำแหน่งนี้มาเพราะโชคช่วย ปู่ใช้วิธีเลือกหุ้นคุณภาพดี ราคาถูกหรือเหมาะสม กิจการมีอนาคตเติบโต เพื่อคัดกรองหุ้นแต่ละตัวว่าเป็นหุ้นน้ำดีหรือเป็นหุ้นชุบแป้งทอดข้างในกลวง ปู่ไม่ได้ฟังนักวิเคราะห์ ปู่ไม่ได้ซื้อหุ้นตามเพื่อน แต่ปู่จะใช้เวลาศึกษาหุ้นแต่ละตัวอย่างละเอียดถี่ถ้วนเพื่อเข้าถึงแก่นปัจจัยพื้นฐานของหุ้นคุณภาพครับ อ่านงบการเงินจนรู้ใส้ในของแต่ละบริษัทเป็นอย่างดี เรียกว่ารู้จักภาพรวมของธุรกิจนั้นๆ ยังไม่พอ ยังคาดการณ์ไปถึงผลกระทบที่เกี่ยวข้องในเศรษฐกิจและการลงทุนอีกด้วย

ในปี 2564 ที่เกิดปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐฯ เร่งตัวแรงจนทำสถิติเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 40 ปี และนำมาสู่การปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงของเฟด เรื่องนี้ปู่เห็นสัญญาณล่วงหน้ามาก่อนแล้ว 1 ปี เพราะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และเฟอร์นิเจอร์ในพอร์ตของ Berkshire Hathaway ต้องซื้อเหล็กในราคาสูงขึ้น เรียกว่า ลงทุนด้วยการศึกษาตัวเลขงบการเงินอย่างลึกซึ้งทีเดียว

ไหน ใครเคยอ่านไปถึงหมายเหตุประกอบงบการเงินบ้างครับ ผมปรบมือให้ และขอให้คุณพยายามอ่านมันต่อไปนะครับ

สำหรับกรณีของ STARK อาจจะยากขึ้นไปอีกเล็กน้อยเพราะเป็นหุ้นที่ถูก backdoor เข้ามา การจะหาข้อมูลดูงบการเงินย้อนหลังอาจจะค่อนข้างยาก เพราะอยู่นอกตลาดหุ้นมาก่อน และเมื่อเข้ามาตลาดหุ้นก็สวมธุรกิจใหม่เข้ามา ยิ่งทำให้ต้องระวังอย่าไหลตามกระแสตลาดเวลาเห็นหุ้นวิ่งแรงแล้วกระโจนเข้าไปตาม เช่นที่เกิดขึ้นมาแล้ว และอีกสิ่งที่สำคัญ คุณสมบัติผู้บริหาร อย่างน้อยต้องย้อนอ่านข้อมูลรู้จักประวัติชื่อเสียงเติบโตมาอย่างไร สะท้อนความเป็นคนซื่อตรง โปร่งใส มีธรรมาภิบาลได้ระดับหนึ่งครับ แม้เขาเข้ามาบริหารุแล้วก็ยังต้องติดตามข่าวสาร ฝีมือการบริหารงานด้วย อย่างน้อยหากมีสัญญาณความผิดปกติที่มีนัยต่อตัวหุ้น ก็ยังมีข้อมูลสนับสนุนข้อสันนิฐานนั้นๆ ได้รอบด้านและรับมือและแก้ปัญหาได้ทันสถานการณ์

เรื่องต่อมา การกระจายความเสี่ยงการลงทุน เป็นอีกเรื่องที่ผมย้ำเสมอ พอร์ตลงทุนที่ดี อย่าทุ่มเงินลงในหุ้นตัวใดตัวหนึ่งหรือสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งมากเกินไป เพราะหากเรามีการกระจายความเสี่ยงลงทุนที่ดี หากต้องเจอวิกฤตที่มากระทบสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง ก็ยังมีสินทรัพย์บางตัวที่เข้ามาช่วยประคองได้ อย่างที่ว่ากันว่าอย่าเก็บไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว

เวลานี้นักลงทุนอาจจะตั้งคำถามถึงการลงทุนในตลาดหุ้นไทย หลังถูกมองมีหุ้นเจ้าปัญหาเยอะ นอกจากเคสทุจริตหากจำได้ดีก็มีกรณีปั่นหุ้น MORE ที่สร้างความเสียหายให้นักลงทุนเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้เอง  ซึ่งเรื่องธรรมาภิบาลยังไม่มีดัชนีชี้วัดที่จะนำมาคำนวนหรือประเมินมูลค่าหุ้นได้อย่างชัดเจน การตีกรอบควบคุมใดๆ ก็ทำได้เพียงตัวหนังสือ การสร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาสร้างให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

จริงอยู่ว่าตลาดหุ้นไทยยังมีหุ้นมากกว่า 700 ตัวให้เลือกลงทุนก็ตาม ยังมีหุ้นน้ำดีอีกมาก แต่เป็นเรื่องดีที่ทุกวันนี้นักลงทุนสามารถกระจายความเสี่ยงการลงทุนออกไปนอกประเทศได้มากขึ้น แม้จะเป็นนักลงทุนรายย่อยก็มีเครื่องไม้เครื่องมือเข้ามาเป็นตัวช่วยอย่างหลากหลายเลยครับ ถนัดแพลตฟอร์มไหนก็เลือกตามสะดวกได้เลย หรือจะลงทุนผ่านกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคลอย่างที่จิตตะ เวลธ์ให้บริการอยู่ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถเลือกไว้พิจารณาได้ครับ

นอกจากจะช่วยกระจายความเสี่ยงแล้ว ​การที่คุณออกไปทำความรู้จักกับตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดหุ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ตลาดสหรัฐฯ หรือยุโรป ตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ปีนี้ปู่บัฟเฟตต์เทน้ำหนักลงทุนเพิ่มต่อเนื่อง คือเราจะได้เรียนรู้อีกตลาดที่มีกฎหมายกำกับดูแลที่เข้มแข็งมีมาตรฐานการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนเป็นอย่างไร ผมไม่อาจการันตีได้ว่าว่าตลาดหุ้นในประเทศที่พัฒนาแล้วจะไม่มีปัญหาทุจริตหรือปั่นหุ้นเหมือนบ้านเรานะครับ เพียงแต่เขามีหน่วยงานกำกับดูแลใช้กฎหมายที่เข้มงวดในการดูและและดำเนินการคนทำผิดได้รวดเร็วและมีบทลงโทษที่หนักและเข้มข้นกว่ากฎหมายตลาดทุนไทย ที่เราสามารถเรียนรู้และนำกลับมาใช้กับประเทศไทยได้ในทางใดทางหนึ่ง

โลกที่เปิดกว้าง นักลงทุนต้องไม่พลาดที่จะคว้าโอกาสเรียนรู้นะครับ บทเรียนที่ผ่านมาอาจจะหนักหนาสาหัส แต่อย่าเพิ่งหมดหวังกับการลงทุนนะครับ ผมขอส่งกำลังใจให้นักลงทุนก้าวข้ามผ่านไปได้แล้วกลับมาตั้งหลักลงทุนใหม่ ด้วยหลักการที่มั่นคง ขยันทำการบ้านหมั่นติดตามข้อมูลข่าวสารและทบทวนการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ “ขอให้ความสุขในการลงทุนของคุณกลับมาเร็วๆ นะครับ”