ดอลลาร์อ่อนค่า หลังเงินเฟ้อต่ำกว่าคาด

US dollar
(file photo) REUTERS/Mohamed Azakir

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังเงินเฟ้อต่ำกว่าคาด อาจส่งผลทำให้เฟดชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตได้ ขณะที่เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 35.14-35.31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 35.19/21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม 2566 ว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (3/7) ที่ระดับ 35.27/29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (30/6) ที่ระดับ 35.61/ บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงภายหลังจากที่มีการเปิดเผยตัวเศรษฐกิจสำคัญที่อาจส่งผลถึงโอกาสในการชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCB) ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรวัดเงินเฟ้อสำคัญสำหรับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 3.8% ในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบรายปีลดลงจากระดับ 4.3% ในเดือนเมษายน

ขณะที่ดัชนี PCB ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.1% ลดลงจากระดับ 0.4% ในเดือนก่อนหน้านี้ ส่วนดัชนี PCE พื้นฐานไม่นับรวหมวดอาหารและพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.6% ลดลงจากระดับ 4.7% ในเดือนก่อนหน้า และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 4.7%

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมิชิแกนมีการเปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐ ประจำเดือนมิถุนายน โดยปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 64.4 จากระดับ 59.2 ในเดือนก่อนหน้า ถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 63.9 โดยดัชนีดังกล่าวได้รับแรงหนุนจากการที่ผู้บริโภคคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ รวมทั้งวิกฤตเพดานหนี้สหรัฐ

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.14-35.31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.19/21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (3/7) ที่ระดับ 1.0906/10 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (30/6) 1.0914/18 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

โดยในช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมาได้มีการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปในยูโรโซนประจำเดือนมิถุนายน โดยสำนักงานสถิติยุโรป (Eurostat) รายงานว่า ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 5.5% เมื่อเทียบรายปี ลดลงต่ำกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้

อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อพื้นฐานไม่นับรวมราคาพลังงานและอาหาร ยังคงเคลื่อนไหวในระดับสูง โดยปรับขึ้นสู่ระดับ 5.4% ทั้งนี้ตลาดยังคงติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารออสเตรเลียในวันพรุ่งนี้ (4/7) รวมทั้งถ้อยแถลงจากนายแอนดรูว์ เบลีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และนางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่จะเกิดขึ้นในวันศุกร์ที่ 7 กรกฎาคม 2556 นี้

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0871-1.0918 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0888/91 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (26/6) ที่ระดับ 144.28/29 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/6) ที่ระดับ 144.37/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวมค่าเงินยังคงอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยเดิมที่ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นพิเศษ (ultra-low interest rates) ซึ่งตรงกันข้ามกับธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ

โดยในช่วงหลายวันที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นหลายรายรวมทั้งนายมาชาโดะ คันดะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่น รวมทั้งนายซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ต่างแสดงความกังวลต่อการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องของเงินเยน หลังจากที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าทะลุระดับ 1.44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าอ่อนค่าต่ำสุดในรอบกว่า 7 เดือน

ทั้งนี้นักลงทุนในตลาดคาดการณ์ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นอาจเข้าแทรกแซงตลาด หากค่าเงินยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องจนแตะระดับ 145 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อรักษาเสถียรภาพไว้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 144.23-144.88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 144.73/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิตและบริการประจำเดือนมิถุนายน (3/7), ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานประจำเดือนพฤษภาคม (3/7), รายงานการประชุมเฟดในรอบการประชุมวันที่ 13-14 มิถุนายน (6/7), การจ้างงานภาคเอกชนจากสถาบัน ADP (6/7), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (6/7), อัตราการว่างงานของสหรัฐ (7/7) และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (7/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.75/11.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -10.25/-8.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ