STARK เจอผู้เสียหายรุมฟ้องเอาผิด หลัง ก.ล.ต.กล่าวโทษบุคคลและนิติบุคคลลอตแรก 10 ราย ตกแต่งงบการเงิน-เปิดเผยข้อความเป็นเท็จ-ทุจริต-หลอกลวง
วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ผู้เสียหายหลายกลุ่ม ทั้งผู้ถือหุ้นรายย่อย ทั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) รวมไปถึงธนาคารเจ้าหนี้ ต่างออกมาประกาศว่าจะฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และผู้เกี่ยวข้อง ที่สร้างความเสียหาย
โดยล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กล่าวโทษบุคคลและนิติบุคคล รวม 10 ราย เป็นชุดแรก ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ให้ดำเนินคดีกรณีตกแต่งงบการเงิน เปิดเผยข้อความอันเป็นเท็จ ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ และกระทำโดยทุจริตหลอกลวง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวง อันเข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
รวมถึงได้มีคำสั่งยึดอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิดชุดแรกดังกล่าวเป็นเวลา 180 วัน เนื่องจากปรากฏพฤติการณ์การกระทำผิดที่มีลักษณะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของประชาชนในวงกว้าง
โดยปรากฏมูลค่าความเสียหายจากหนี้สินของบริษัท STARK ที่มีมากกว่า 38,000 ล้านบาท และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่าผู้กระทำความผิดจะยักย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินออกไป
ผู้ถือหุ้น 1,759 ราย ลุยฟ้องคดีแบบกลุ่ม
รายงานจากสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) เปิดเผยว่า กลุ่มผู้เสียหายที่ลงทุนในหุ้นสามัญของ STARK ที่ได้ลงทะเบียนเป็นผู้ได้รับความเสียหาย 1,759 ราย ได้ยื่นหนังสือถึง TIA เพื่อขอให้สนับสนุนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินการฟ้องร้องคดีแบบกลุ่ม (class action) อาทิ
ค่าวิชาชีพทนายความ ฯลฯ ตลอดจนค่าดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากผู้เสียหายได้สูญเสียเงินลงทุนและ/หรือเงินออมไปเป็นจำนวนมากแล้ว และเพื่อให้การดำเนินการฟ้องร้องคดีแบบกลุ่มดำเนินไปตามลำดับได้อย่างรวดเร็ว ราบรื่น และประสบความสำเร็จในที่สุด ซึ่งจะเป็นการเยียวยาและสร้างความยุติธรรมให้กับผู้ลงทุนรายบุคคล
นอกจากนี้ กลุ่มผู้เสียหายลงทุนหุ้นสามัญ STARK ยังได้ยื่นหนังสือถึงหน่วยงานในตลาดทุน ทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เร่งดำเนินคดี เพราะการกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลทั้ง 10 ราย เข้าข่ายความผิดหลายมาตราของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ
ซึ่งให้อำนาจ ก.ล.ต.ในการใช้มาตรการลงโทษผู้กระทำความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง กลุ่มผู้เสียหายจึงเรียกร้องให้ ก.ล.ต.ดำเนินมาตรการลงโทษทั้งทางอาญาและทางแพ่งขั้นสูงสุด พร้อมทั้งขอคำแนะนำถึงช่องทางที่ ก.ล.ต.จะสามารถช่วยเหลือบรรเทาเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ลงทุนรายบุคคลเหล่านี้
“สมาคม บลจ.” เล็งฟ้องในนามรายย่อย
ขณะที่นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ. กรุงไทย (KTAM) ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการการลงทุน (AIMC) กล่าวว่า ขณะนี้สมาคมมีข้อสรุปเบื้องต้น จากที่ทางที่ปรึกษาทางกฎหมายได้แนะนำว่าในการฟ้องร้องนั้น หากเป็นรายย่อยจะสามารถฟ้องร้องง่ายกว่า เนื่องจากเป็นคนหมู่มาก เพราะหากจะฟ้องในนาม บลจ.ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ใหญ่มาก ก็อาจจะไม่มีน้ำหนักต่อศาล จึงต้องใช้วิธีการอื่นในการดำเนินการฟ้องร้องแทน
“การฟ้องร้องจะต้องมีการแยกประเภทการลงทุนออกเป็นหุ้นทุน, หุ้นกู้ และหุ้น PP หรือการเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด เพราะต้องให้เป็นกลุ่มคนฟ้องที่มีความเสียหายเหมือนกัน ซึ่งสาเหตุที่ต้องมีการแยกประเภท เนื่องจากว่าหากมีการแยกกันน่าจะดำเนินการได้รวดเร็วมากขึ้นและจะทำให้มีน้ำหนักต่อศาล”
“ไทยพาณิชย์” ลั่นเอาผิดตามกฎหมาย
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรณีการปล่อยสินเชื่อให้กับ STARK นั้น ไม่มีผลกระทบต่อธนาคารไทยพาณิชย์ เพราะวงเงินค่อนข้างเล็กประมาณ 2,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับพอร์ตสินเชื่อขนาดใหญ่ที่มีอยู่ 1 ล้านล้านบาท และเมื่อเทียบกับหนี้ที่เกิดจากสินเชื่อรายย่อยที่มีกว่า 1 หมื่นล้านบาท
“ไทยพาณิชย์ในฐานะเจ้าหนี้ เราก็เดินหน้าจัดการ STARK ตามขั้นตอนเช่นเดียวกับเจ้าหนี้ธนาคารพาณิชย์อื่น ตามกระบวนการกฎหมายต่อไป” นายอาทิตย์กล่าว