บี้ขยายผลเอาผิด STARK ลอตสอง – 19 ก.ค. เดดไลน์แผนฟื้นธุรกิจ

STARK

แกะรอยคดี STARK บอร์ด ก.ล.ต. สั่งสำนักงานไล่บี้ขยายผลเอาผิดผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพิ่มเติม รวมทั้งผู้ตรวจสอบบัญชี และ “ดีลอยด์” ขณะที่ “เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่” โดนหางเลขที่ปรึกษากฎหมาย STARK ดีลซื้อกิจการในเยอรมนี จับตา 19 ก.ค. เดดไลน์ STARK ยื่นแนวทางฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้แบงก์เดินหน้าฟ้องตามขั้นตอนกฎหมาย ด้านผู้เสียหายหุ้นกู้รวมตัวฟ้องแพ่งแบบกลุ่ม

บี้ขยายผล “ผู้สอบบัญชี”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการดำเนินการตรวจสอบหาตัวผู้กระทำความผิดคดี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) โดยปรากฏมูลค่าความเสียหายจากหนี้สินของบริษัท STARK ที่มีมากกว่า 38,000 ล้านบาท ทั้งนี้สำนักงาน ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษบุคคลและนิติบุคคลรวม 10 ราย เป็นชุดแรก ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ให้ดำเนินคดีกรณีตกแต่งงบการเงิน และเปิดเผยข้อความอันเป็นเท็จในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหุ้นกู้ มีคำสั่งยึดอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิดชุดแรกรวม 10 ราย เป็นเวลา 180 วัน และขอศาลขยายเวลาได้อีก 180 วัน

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) ก.ล.ต. ได้มีนโยบายและความเห็นให้สำนักงาน ก.ล.ต.ดำเนินการขยายผลการกล่าวโทษ กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิดให้ครอบคลุมทุกส่วน เนื่องจากเห็นว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอีกจำนวนมากที่ยังไม่ถูกกล่าวโทษ เช่น ในส่วนของผู้ตรวจสอบบัญชี รวมถึงบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทตรวสอบบัญชีให้กับ STARK ในช่วงปี 2564-2565 ที่มีการตกแต่งงบการเงิน รวมทั้งการตรวจสอบบริษัทที่ปรึกษาการเงินในการนำบริษัทเข้าเสนอขายหุ้นไอพีโอ และการเสนอขายหุ้นกู้

ทั้งนี้แม้ว่าตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ปัจจุบันสำนักงาน ก.ล.ต. อาจยังไม่สามารถเอาผิดถึง “บริษัทตรวจสอบบัญชี” ได้ ซึ่งทางคณะกรรมการ ก.ล.ต.ก็เสนอแนะให้ปรับแก้ข้อกฎหมายอย่างเร่งด่วน ด้วยการออกเป็นประกาศสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อที่จะสามารถดำเนินการเอาผิดผู้สอบบัญชีและบริษัทตรวสอบบัญชีได้

“เบเคอร์” โดนหางเลข

แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากนี้สำนักงาน ก.ล.ต. ได้มีการเรียกบุคคลและองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการของ STARK เข้ามาให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ทั้งในส่วนของที่ปรึกษาการเงิน และบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับ STARK ในการทำดีลซื้อกิจการบริษัท LEONI Kabel GmbH (ประเทศเยอรมนี) และ LEONIsche Holding Inc (ประเทศสหรัฐอเมริกา) ซึ่งต่อมาทาง STARK ก็ยกเลิกดีลดังกล่าว และเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 ทาง LEONI AG และ LEONI Bordnetz-Systeme GmbH ก็ได้ยื่นฟ้องเกี่ยวกับการใช้สิทธิเพิกถอนสัญญาซื้อขายหุ้นดังกล่าวต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการของประเทศเยอรมนี มูลค่ารวม 608 ล้านยูโร หรือประมาณ 22,619 ล้านบาท

Advertisment

แบงก์เจ้าหนี้รวมตัว

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินเปิดเผยว่า ขณะนี้สถาบันการเงินเจ้าหนี้มีทั้งธนาคารพาณิชย์ อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย รวมทั้งธนาคารรัฐ คือธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ก็เดินหน้าตามกระบวนการทางกฎหมาย กับ STARK และบริษัทลูก โดยการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินส่วนใหญ่จะเป็นการปล่อยให้กับบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) ในฐานะผู้ผลิตและส่งออกสายไฟและสายเคเบิลรายใหญ่ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ STARK

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สำหรับกรณีธนาคารไทยพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้กับ STARK วงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท ในฐานะเจ้าหนี้ เราก็เดินหน้าจัดการ STARK ตามขั้นตอนเช่นเดียวกับเจ้าหนี้ธนาคารพาณิชย์อื่นตามกระบวนการกฎหมายต่อไป

อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร STARK ให้ข้อมูลว่า นายวนรัชต์ได้มีการเซ็นค้ำประกันหนี้ไว้ทั้งสิ้นประมาณ 20,000 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการเจรจากับเจ้าหนี้ โดยมีแผนจะนำบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จฯเข้าฟื้นฟูกิจการ เพื่อที่จะให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ได้ปล่อยสินเชื่อให้ต่อลมหายใจ ในระหว่างที่ขายกิจการต่าง ๆ ทั้งที่เป็นของสตาร์ค และเป็นของเฟ้ลปส์ดอด์จฯเพื่อเอาเงินมาชำระหนี้

19 ก.ค.เดดไลน์ STARK

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งการให้ STARK ส่งรายงานผลการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษภายในวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ตามที่ได้ขอขยายระยะเวลาเพิ่มเติม

Advertisment

นอกจากนี้ STARK มีกำหนดจะต้องส่งแนวทางการดำเนินการแก้ไขเพื่อทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทมีค่ามากกว่าศูนย์ ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 19 ก.ค. 2566 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา 4 แนวทางคือ 1.เจรจากับเจ้าหนี้ ขอระงับการใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้โดยพลัน สนับสนุนแผนการปรับโครงสร้างทุนและโครงสร้างหนี้ของบริษัท รวมถึงให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อวางแผนการบริหารการชำระหนี้ และวางแผนธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

2.จำหน่ายทรัพย์สิน และปรับโครงสร้างองค์กร 3.เพิ่มทุนจดทะเบียน เพื่อจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมในปัจจุบัน หรือพิจารณาหานักลงทุนรายใหม่ 4.ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายเพื่อดำเนินการฟื้นฟูกิจการเพื่อปรับโครงสร้างทุนและโครงสร้างหนี้ รวมถึงให้สิทธิการแปลงหนี้เป็นทุนแก่เจ้าหนี้ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ

ผู้ถือหุ้นกู้ เดินหน้าฟ้องแพ่ง

แหล่งข่าวผู้เสียหายที่ลงทุนหุ้นกู้ STARK กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้เรามีหลักฐานมากขึ้น และพร้อมที่จะดำเนินการฟ้องร้องคดีแพ่งแบบกลุ่ม (class action) กับตัวบุคคล ซึ่งคาดว่าจะยื่นต่อศาลแพ่งก่อนวันที่ 19 ก.ค. 2566 โดยจะดำเนินการคู่ขนานไปกับทางบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด และธนาคารกสิกรไทย ในฐานะตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ ที่จะยื่นฟ้อง STARK เพื่อบังคับคดีตามกฎหมาย หลังผิดนัดชำระหนี้และมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ทั้ง 5 รุ่น เรียกให้คืนเงินโดยพลัน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าเงินรวม 9,198 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวนผู้ลงทุนหุ้นกู้ทั้งหมดกว่า 4,528 ราย

ส่วนกรณีที่พบว่าธนาคารกสิกรไทยได้แอบเสนอขายหุ้นกู้ให้นักลงทุนรายย่อย ซึ่งไม่ได้ยื่นเอกสารแสดงตนว่าเป็นกลุ่ม high net worth นั้น จะดำเนินการในขั้นตอนถัดไป ตอนนี้ทางแบงก์ยังไม่ออกมายอมรับเพราะจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือ และทางผู้เสียหายที่ลงทุนหุ้นกู้ STARK เองก็พยายามใช้วิธีเจรจาก่อน

“ตอนนี้กระบวนการดำเนินการขอสำนักงาน ก.ล.ต. และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เครื่องติดแล้ว แต่ขั้นตอนยังไปไม่ถึงศาล ฉะนั้นจึงยังไม่เป็นจุดสรุปสุดท้าย แล้วถ้าปล่อยให้ระบบรันเอง จะไปติดที่ขั้นตอนอัยการอีกที”

สุดท้ายแล้วผลลัพธ์ที่คาดหวังที่ดีที่สุดคือ “เอาคนผิดมาลงโทษและเข้าคุก” ส่วนเรื่องเงิน นักลงทุนกว่า 90% ทำใจไว้แล้ว ตอนนี้แค่อยากให้สังคมเห็นคนผิดเข้าคุก เรียกว่าให้คนหน้าบาง พร้อมจะเสียชื่อและภาพลักษณ์ของวงศ์ตระกูล เพราะไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ที่มาทลายเงินเกษียณของคนที่เขาทำงานเก็บเงินมาทั้งชีวิต ซึ่งถือเป็นการทำลายระบบสังคมของคนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นคนรวยหรือเจ้าสัว