สรรพสามิต​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ชี้รายได้ “ภาษีรถกระบะ“ วูบตามยอดขาย

ภาษีรถกระบะ

สรรพสามิตชี้ภาษีรถกระบะตกตามยอดขาย ผลกระทบจากภาวะดอกเบี้ยสูง-เกษตรกรหนี้สินท่วม-สินค้าเกษตรราคาตก-ลีสซิ่งเข้มปล่อยกู้ ขณะที่รถยนต์นั่งยังไปได้ดีดันภาพรวมภาษีรถยนต์ช่วง 10 เดือนแรกปีงบประมาณ 2566 ยังเกินเป้าราว 1 หมื่นล้านบาท อธิบดีสรรพสามิตคาดเลิกใช้ภาษีอุ้มราคาน้ำมันหนุนรายได้กลับมา 2 หมื่นล้าน

นายเกรียงไกร พัฒนาภรณ์ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 หรือตั้งแต่เดือน ต.ค. 2565 จนถึงสิ้นเดือน ก.ค. 2566 ภาษีรถยนต์สามารถจัดเก็บได้ทั้งสิ้นราว 86,000 ล้านบาท

สูงกว่าเป้าหมายกว่า 10,000 ล้านบาท หรือสูงกว่าเป้าหมายราว 13% โดยส่วนใหญ่มาจากการเก็บภาษีรถยนต์นั่งเป็นหลัก ขณะที่ภาษีรถกระบะยอดลดลง ซึ่งมาจากยอดขายรถกระบะที่ชะลอตัว

“ภาษีรถยนต์นั่งยังดี แต่รถกระบะไม่ค่อยดี เนื่องจากภาวะที่เงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ขณะที่เกษตรกรที่ส่วนใหญ่ใช้รถกระบะ ก็มีหนี้สินมาก ราคาสินค้าเกษตรก็ไม่ค่อยดี รวมถึงลีสซิ่งที่ปล่อยกู้ก็ปล่อยยากขึ้น ทำให้ยอดขายรถกระบะชะลอตัว เราก็เก็บภาษีได้ลดลงด้วย” นายเกรียงไกรกล่าว

นายเกรียงไกรกล่าวว่า สำหรับมาตรการส่งเสริมรถอีวี 3.5 ต้องรอจัดตั้งรัฐบาล และมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ แล้วก็ต้องรอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ขึ้นมาก่อนด้วย จึงจะมีการพิจารณาเรื่องนี้ต่อ เช่นเดียวกับมาตรการส่งเสริมเรื่องการผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทยก็ต้องรอเช่นเดียวกัน

เกรียงไกร พัฒนาภรณ์
เกรียงไกร พัฒนาภรณ์

รายงานจากกรมสรรพสามิต ระบุว่า ภาพรวมรายได้ของกรมสรรพสามิต ช่วง 10 เดือนแรกปีงบประมาณ 2566 เก็บได้ทั้งสิ้น 386,000 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วอยู่กว่า 42,000 ล้านบาท และ ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ไปประมาณ 87,000 ล้านบาท หรือต่ำกว่าเป้า 18% เนื่องมาจากก่อนหน้านี้มีการลดภาษีน้ำมันดีเซล เพื่อดูแลค่าครองชีพของประชาชน

อย่างไรก็ดี ในช่วงดังกล่าว ภาษีที่เก็บได้มากที่สุด ยังคงเป็นภาษีน้ำมัน จัดเก็บได้ 89,900 ล้านบาท แต่ต่ำกว่าเป้าหมายไปกว่า 100,000 ล้านบาท หรือกว่า 50% ขณะที่ภาษีรถยนต์เก็บได้เป็นอันดับ 2 ที่กว่า 86,000 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายกว่า 10,000 ล้านบาท ต่อมาภาษีเบียร์เก็บได้กว่า 73,000 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายกว่า 1,800 ล้านบาท

ภาษีสุราเก็บได้กว่า 54,000 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายกว่า 5,000 ล้านบาท ภาษียาสูบเก็บได้กว่า 49,000 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายไปกว่า 500 ล้านบาท ภาษีเครื่องดื่มเก็บได้กว่า 22,000 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายกว่า 2,000 ล้านบาท

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินมาตรการทางภาษีเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ก.พ. 2565 ด้วยการออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตรวมทั้งสิ้น 7 ฉบับ ประเมินสูญเสียรายได้ภาษีประมาณ 156,000 ล้านบาท

“กรณีอัตราภาษีน้ำมันดีเซลกลับเป็นปกติ ตั้งแต่หลังวันที่ 20 ก.ค. 2566 เป็นต้นไป จะทำให้รายได้ภาษีสรรพสามิตจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นประมาณ 20,000 ล้านบาทในปีนี้ หลังจากที่ได้สูญเสียรายได้จากการลดภาษีน้ำมันดีเซลไปแล้ว 156,000 ล้านบาท” นายเอกนิติกล่าว

นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า สถิติการจำหน่ายรถยนต์ช่วงครึ่งปีแรก ปี 2566 (ม.ค.-มิ.ย.) ภาพรวมอยู่ที่ 406,131 คัน เทียบกับปีที่แล้วหดตัว 5% โดยรถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) มียอดขายที่ 182,952 คัน หดตัวถึง 19.7% แต่หากไม่รวมรถกระบะดัดแปลงจะหดตัวถึง 24.5%

ขณะที่รถเพื่อการพาณิชย์ มียอดขายอยู่ที่ 258,044 คัน หดตัว 11.4% ทั้งนี้ มีเพียงรถยนต์นั่งที่ขยายตัวได้ 9% ยอดขายอยู่ที่ 148,087 คัน