จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ คีย์แมนลุย “พักหนี้-แจกเงินหมื่น”

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ได้เห็นชอบคำสั่งแต่งตั้ง “คณะกรรมการพักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเกษตรกร และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19” และ “คณะกรรมการดิจิทัลวอลเลต” ขึ้นมา

โดยผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการทั้ง 2 คณะดังกล่าว คือ “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

ต่อมา คำสั่งแบ่งงานของกระทรวงการคลัง “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แบ่งงานให้ “จุลพันธ์” รับผิดชอบกำกับดูแลกรมสรรพากร, กรมธนารักษ์, สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.), ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์), บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.), ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และบริษัท บริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด

ขณะที่ “กฤษฎา จีนะวิจารณะ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังอีกราย กำกับดูแลกรมบัญชีกลาง, กรมสรรพสามิต, สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.), บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.), องค์การสุรา, การยาสูบแห่งประเทศไทย และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

จะเห็นได้ว่า แม้ว่า “กฤษฎา” จะได้กำกับดูแลหน่วยงานรัฐวิสาหกิจถึง 8 แห่ง แถมด้วยกรมสำคัญอีก 2 กรม ทว่า บทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน “นโยบายเร่งด่วน” ที่ทางพรรคได้หาเสียงเอาไว้ ทั้งเรื่อง “พักหนี้” และ “แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท” ทั้งหมดจะอยู่กับ “จุลพันธ์“ ที่เป็น “คนของพรรคเพื่อไทย” มีดีกรีเป็น สส.จังหวัดเชียงใหม่มาถึง 5 สมัยติดต่อกัน

แสดงให้เห็นว่า พรรคต้องการ “คนที่ไว้วางใจได้” ในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญที่หาเสียงไว้กับประชาชน เนื่องจาก “กฤษฎา” ปรากฏชื่ออยู่ใน “โควตาของพรรครวมไทยสร้างชาติ”

โดย “จุลพันธ์” กล่าวว่า การที่ตนได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้กำกับดูแล ธ.ก.ส. เนื่องจากมีภารกิจในเรื่องการขับเคลื่อนนโยบาย “พักหนี้” รวมถึงตนก็เพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการพักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเกษตรกร และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และกระบวนการจัดทำนโยบายเรื่องนี้จะต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการธนาคาร

“ผมเป็นนักการเมืองมานาน และเป็น สส.เขต ซึ่งบทบาทของ ธ.ก.ส.เองก็ใกล้ชิดกับชาวบ้านมาก โดยมาตรการพักหนี้เป็นเรื่องที่เราต้องผลักดันให้ออกมาภายใน 2 สัปดาห์นี้”

โดยการพักหนี้ เป็นการต่อลมหายใจให้กับเกษตรกร อย่างไรก็ดี ก็ต้องพิจารณาว่า การพักหนี้ 13 ครั้งที่ผ่านมา หนี้สินเกษตรกรอาจจะยังไม่ได้ลดลงอย่างชัดเจน ดังนั้น ในครั้งนี้ จะต้องประกอบด้วยนโยบายอื่น ๆ ตามมาด้วย

“ครั้งนี้ จะมีนโยบายอื่น ๆ ด้วย ทั้งการทำเรื่องการเพิ่มผลผลิตต่อไร่, การเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น, การลดต้นทุนการผลิต ไปจนถึงการช่วยเหลือด้านการขาย หรือทำการตลาด ซึ่งตรงนี้จะมีเรื่องข้อตกลงทางการค้า (FTA) ที่ต้องทำด้วย โดยทางกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศยุคใหม่ จะร่วมมือกัน”

ซึ่งการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีข้อท้วงติงนั้น “จุลพันธ์” กล่าวว่า การที่ ธปท. มีข้อเสนอแนะ ก็เป็นไปตามบทบาทหน้าที่ของ ธปท. โดยนโยบายที่จะทำ ก็มีการหารือร่วมกัน ทั้งนี้ ก็ต้องยอมรับว่า การทำนโยบายก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียทุกนโยบายอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่พักหนี้ 3 ปี ระหว่างนั้น ก็จะต้องมีมาตรการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรกลับมาชำระหนี้เป็นปกติเมื่อพ้นเวลา 3 ปีไปแล้ว ดังนั้น ก็จะต้องทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางที่จะทำให้เกษตรกรแข็งแรงขึ้นด้วย

“ในช่วง 1-2 สัปดาห์ข้างหน้านี้ ผมนัดหมายประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเยอะมาก เพราะต้องเร่งเรื่องพักหนี้และเรื่องดิจิทัลวอลเลตให้ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องพักหนี้เกษตรกรจะต้องเสร็จภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ ส่วนพักหนี้เอสเอ็มอีจะซับซ้อนกว่า แต่ก็จะพยายามให้ออกมาพร้อม ๆ กัน” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าว

ทั้งหมดนี้ สะท้อนภาพการ “วางตัวคน” เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาล “เศรษฐา 1” เพราะต้องยอมรับว่า เป็นเวลาเกือบ ๆ ครึ่งศตวรรษเลยทีเดียวที่ประเทศไทย เคยมีนายกรัฐมนตรีนั่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ครั้งล่าสุด ก็ต้องย้อนไปสมัย “พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์”

โดยการนั่งควบตำแหน่งเช่นนี้ นายกรัฐมนตรีคงไม่สามารถลงมาทำเองได้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะ “งานปฏิบัติ” หรืองานที่ต้องลงรายละเอียด

ซึ่ง “จุลพันธ์” เป็นคีย์แมนสำคัญที่พรรคเพื่อไทยไว้วางใจนั่นเอง