จับตาหอบเงินกลับประเทศปีนี้ “สรรพากร” เปลี่ยนเกมภาษี 1 ม.ค. 2567

จับตาหอบเงิน

เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาก เมื่อคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.161/2566 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ลงประกาศเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา โดยเป็นการปรับปรุงวิธีการการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

สำหรับผู้มีเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศ แล้วนำเข้ามาในประเทศไทย จากเดิมหากนำเข้าข้ามปีจะไม่เสียภาษี แต่เป็นต้องเสียภาษีไม่ว่าจะนำเข้าเมื่อใดก็ตาม ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 นี้

กระทบกลุ่มผู้ลงทุนต่างประเทศเอง

โดยในมุมของ “จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์” Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การเก็บภาษีดังกล่าว ล้อไปกับกฎหมายข้อตกลงแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่างไทยและต่างประเทศ (Common Reporting Standard หรือ CRS) ซึ่งในอนาคตอาจจะมีหลักเกณฑ์เพิ่มเติม เรื่องของรายได้ต่างประเทศ ที่จะต้องนำกลับมาภายใน 360 วันด้วย ซึ่งอาจต้องรอความชัดเจนอีกที

ทั้งนี้ ในแง่ผลกระทบต่อผู้ลงทุน อาจจะต้องแบ่งช่องทางการลงทุนของลูกค้า เป็น 2 กลุ่ม คือ 1.ลงทุนในกองทุนไทยที่มีการลงทุนในต่างประเทศ ส่วนนี้จะไม่ได้รับผลกระทบ และ 2.หอบเงินไปซื้อหรือลงทุนเองในกองทุนต่างประเทศโดยตรง กลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบ เนื่องจากผลตอบแทนจะต้องเสียภาษี และ Private Banker ต่างประเทศจะได้รับผลกระทบจากกฎหมายนี้

จับตาแห่หอบเงินเข้าก่อนสิ้นปีนี้

“กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจะเป็นบริษัท หรือสถาบันการเงินที่พาลูกค้าไปลงทุนต่างประเทศ (off shore) จะกระทบเยอะ เพราะต้องเสียภาษี ส่วนของเรากระทบน้อย เรามีลูกค้าแค่ประมาณ 2-3% ที่มีการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ

ซึ่งส่วนนี้ได้เริ่มมีการประชุมและพูดคุยกับลูกค้า ถึงภาระภาษีที่จะเสียในอนาคต และมีการแนะนำลูกค้าให้เปลี่ยนช่องทางการลงทุนผ่านกองทุนในไทย อย่างไรก็ดี ช่วงอีก 3 เดือนก่อนกฎหมายบังคับใช้ ลูกค้าที่มีรายได้ในปี 2565 ยังสามารถนำกลับมาในปีนี้ โดยยังไม่ต้องเสียภาษี” จิรวัฒน์กล่าว

“ดร.สาธิต ผ่องธัญญา” ผู้อำนวยการอาวุโส Wealth Planning and Family Office ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในแง่ผลกระทบ ถ้าเป็นกองทุนไทยอาจจะไม่ได้กังวลมาก แต่หากเป็นกองทุนต่างประเทศ โดยเป็นการขายแบบ direct off shore เป็นหุ้นกู้ออกต่างประเทศ ธนาคารจะต้องมีการรายงานว่า ซื้อเมื่อไร และหักภาษีเท่าไร และจะโอนเข้าพอร์ตเมื่อไร เหล่านี้เป็นสิ่งที่ธนาคารต้องเตรียมการ

“ตอนนี้กลุ่มที่มีรายได้ตั้งแต่ปี 2564-2565 กลุ่มนี้น่าจะนำรายได้กลับเข้ามาได้ในปี 2566 แต่คนที่มีรายได้ในปี 2566 อาจจะต้องมีการยื่นแบบการเสียภาษีในปี 2567 ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่จะต้องมีการเสียภาษี ทั้งนี้ ธนาคารมีการคุยกับลูกค้าบ้างแล้ว

แต่ลูกค้ายังรอความชัดเจนของกฎหมาย เพราะกรมสรรพากรน่าจะต้องมีการอธิบายเพิ่มเติม เพื่อสร้างความเข้าใจ และตอนนี้ยังมีระยะเวลาเหลือ ในการนำรายได้ของปี 2564-2566 กลับเข้ามาได้”

หนุน “หุ้น-โปรดักต์ในประเทศ”

“เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัยประเมินคำสั่งกรมสรรพากร จะมีผล คือ 1.น่าจะเห็นนักลงทุนขายทำกำไรหุ้นต่างประเทศบางส่วน ในช่วงที่เหลือของปีนี้

เพราะนอกจากจะยังไม่เสียภาษีแล้ว ยังได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมด้วย ซึ่งเม็ดเงินบางส่วนอาจเข้ามาเสริมสภาพคล่องตลาดหุ้นไทยในระยะถัดไป 2.กองทุนต่างประเทศ (FIF) จะได้รับความสนใจมากขึ้น

และ 3.DR, DRx น่าจะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่ง ที่เคลื่อนไหวและถูกซื้อขายได้เหมือนหุ้นต่างประเทศ โดยไม่ต้องไปเปิดพอร์ตหุ้นต่างประเทศ และยังไม่ต้องนำกำไรมาคำนวณรวมกับภาษีเงินได้เหมือนกับหุ้นต่างประเทศ

“น่าจะหนุนให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ต่าง ๆ ออกกอง FIF เพิ่มขึ้น เพราะได้รับสิทธิไม่ต้องนำกำไรมาคำนวณรวมกับภาษีเงินได้เหมือนกับหุ้นต่างประเทศ หนุนความต้องการซื้อหุ้นต่างประเทศเพิ่มขึ้นได้ และน่าจะเป็นแรงหนุนให้นักลงทุนกลับมาสนใจ และให้น้ำหนักกับผลิตภัณฑ์การลงทุนในประเทศมากขึ้น ไม่ว่ากอง FIF, DR, DRx

รวมถึงหุ้นไทยเอง อาจจะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลใหม่ต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีพอดี”

เชิญผู้เสียภาษีทำความเข้าใจ

ด้าน “ลวรณ แสงสนิท” อธิบดีกรมสรรพากร อธิบายว่า ปัจจุบันบริบทการเก็บภาษีเปลี่ยนไป เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการออกพระราชกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566 ซึ่งทำให้มีข้อมูลรายได้ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศมากขึ้น

“ข้อมูลของคนไทยที่มีรายได้เกิดขึ้นในต่างประเทศ เมื่อก่อนอาจจะไม่ค่อยรู้ หรือยากที่จะได้มา แต่หลังจากนี้จะได้ และได้มาแบบอัตโนมัติด้วย หรือว่าได้ในกรณีที่ร้องขอ อันนี้ทำให้เราต้องเปลี่ยนบริบทของการกำหนดเงื่อนไข ว่าเงื่อนไขแบบไหนต้องเสียภาษีบ้าง”

โดยยืนยันว่า การปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บภาษีครั้งนี้ ก็เพื่อทำให้ถูกต้องและเป็นธรรมสำหรับคนที่ลงทุนในประเทศและในต่างประเทศ กล่าวคือ ไม่ว่าจะลงทุนที่ไหน ก็ต้องเสียภาษีอย่างถูกต้อง ซึ่งนอกจากคำสั่งฉบับนี้ที่ออกมาแล้ว จะมีกฎหมายตามมา เพื่อให้เกิดความชัดเจนเรื่องวิธีปฏิบัติ

“กรมจะเชิญกลุ่มที่เกี่ยวข้องมาคุย จัดเป็นโฟกัสกรุ๊ป ทั้งกลุ่มที่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล กลุ่มที่ลงทุนในธุรกรรมด้านการเงิน เพื่อให้เขาแสดงความคิดเห็น สิ่งที่เป็นข้อกังวล หรือคำแนะนำ เพื่อให้การดำเนินการในช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด”

เครดิตภาษีคืนได้ไม่เก็บซ้ำซ้อน

อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวด้วยว่า ขอย้ำว่าทั้งหมดเป็นเรื่องของพัฒนาของกติกาภาษีโลกที่ไทยเข้าไปเป็นสมาชิก และต้องยืนยันด้วยว่า จะไม่มีการเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อน

ขณะที่ “วินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ” รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า ตามคำสั่งดังกล่าว ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีต่อเมื่อนำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทย

ทั้งนี้ หากผู้มีเงินได้ถูกเก็บภาษีไว้ในประเทศแหล่งเงินได้แล้ว ผู้มีเงินได้สามารถนำภาษีที่ถูกประเทศแหล่งเงินได้ที่มีการทำอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทยเก็บไว้มาใช้เป็นเครดิตภาษีได้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในอนุสัญญาภาษีซ้อน