คำสั่งสรรพากรที่ ป.161 ปิดช่องเลี่ยงภาษีนอกประเทศ

คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้ออกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.161/2566 เรื่องการเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร โดยมีสาระสำคัญให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวปฏิบัติสำหรับผู้อยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีเงินได้พึงประเมิน แต่มีหน้าที่การงานหรือมีกิจการที่ดำเนินการอยู่ในต่างประเทศหรือมีทรัพย์สินอยู่ในต่างประเทศและนำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีใดก็ตาม จะต้องให้บุคคลหรือผู้นำเงินได้เข้ามานั้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีที่ได้นำเงินได้เข้ามาในประเทศไทยด้วย

ประกาศของกรมสรรพากรดังกล่าว นับเป็นการปิดช่องว่างในการหลีกเลี่ยงภาษีจากเงินได้ที่เกิดจากแหล่งนอกประเทศไทยที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เงินได้นอกประเทศ หากมีการโอนหรือนำเงินเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีใดก็ตาม ก็จะต้องเสียภาษีเงินได้ด้วย โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 หรืออีก 3 เดือนข้างหน้า

โดยเงินได้ที่เกิดจากแหล่งนอกประเทศไทยที่จะต้องนำมาคำนวณภาษีนั้น หมายถึง เงินได้ที่เกิดขึ้นหรือเป็นผลสืบเนื่องมาจาก 1) หน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศ 2) กิจการที่ทำในต่างประเทศ และ 3) ทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ รวมไปถึงค่าลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ และกำไรอันเกิดจากการขายสินทรัพย์ในต่างประเทศด้วย

ที่ผ่านมาเงื่อนไขของกรมสรรพากร ในการคำนวณภาษีผู้มีเงินได้ที่เกิดจากแหล่งนอกประเทศในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว จะต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทยก็ต่อเมื่อเข้าองค์ประกอบ 2 ประการ กล่าวคือ 1) ผู้มีเงินได้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ในปีภาษีนั้นชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมทั้งหมดถึง 180 วัน

กับ 2) ผู้มีเงินได้นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีนั้นด้วย แต่ก็มีข้อยกเว้นกรณีเกี่ยวข้องกับบุคคลของบางประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อน หรือความตกลงเพื่อป้องกันการเก็บภาษีซ้ำซ้อนกับประเทศไทย จำเป็นต้องพิจารณาถึงความตกลงหรืออนุสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างประเทศที่ไทยได้ทำความตกลงไว้ด้วย

หมายความว่า กรมสรรพากรจะคำนวณภาษีผู้มีเงินได้ที่เกิดจากแหล่งนอกประเทศได้ ก็ต่อเมื่อมีการนำเงินได้นั้นเข้ามาในปีภาษีนั้น ๆ (180 วัน) เท่านั้น ดังนั้นการหลีกเลี่ยงภาษีที่เกิดจากแหล่งเงินได้นอกประเทศที่นำเข้ามาในประเทศก็จะเกิดขึ้นได้ทันที โดยผู้นำเงินได้เข้ามาก็จะทยอยวางแผนการนำเงินเข้าประเทศในปีภาษีถัดไปเพื่อไม่ให้เสียภาษีนั่นเอง แต่เมื่อกรมสรรพากรออกประกาศที่ ป.161/2566 มีผลบังคับใช้แล้ว ผู้นำเงินได้เข้ามาไม่ว่าจะในปีไหนก็จะต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีในปีนั้นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ผลจากคำสั่งนี้จะกระทบถึงใครบ้างนั้น มีรายงานข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์หลายรายเข้ามาว่า จะกระทบต่อนักลงทุนนอกโดยเฉพาะลูกค้ากลุ่ม high net worth ที่นำผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้นนอกประเทศ, ตราสารหนี้นอกประเทศ, กองทุนที่นำเงินไปลงทุนนอกประเทศ, private fund private banking ที่จะโอนกลับเข้ามาในประเทศก็จะต้องเสียภาษีทันที โดยลูกค้ากลุ่มนี้จะต้องวางแผนการเสียภาษีเงินได้กันใหม่ จากเดิมที่เคยใช้วิธีทยอยนำเงินได้เข้ามาในประเทศในปีภาษีถัดไป ก็จะใช้วิธีนั้นไม่ได้อีกแล้ว

ด้าน นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า แนวปฏิบัติสำหรับเจ้าพนักงานสรรพากร ตามคำสั่ง ป.161/2566 ดังกล่าว เพื่อการเก็บภาษีที่ถูกต้องและเป็นธรรมสำหรับคนไทย ทั้งการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ “ไม่ว่าคุณจะไปลงทุนที่ไหนก็ควรต้องเสียภาษีอย่างถูกต้อง”

พร้อมกับยอมรับว่า ที่ผ่านมา กรมสรรพากรไม่มีข้อมูลของคนไทยที่มีรายได้เกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่หลังจากนี้ไป กรมสรรพากรก็จะได้มาซึ่งข้อมูลรายได้นี้โดยอัตโนมัติ หรือได้มาจากกรณีร้องขอด้วย โดยขอให้รอกฎหมายที่จะตามมาเพื่อให้เกิดความชัดเจนในวิธีปฏิบัติยิ่งขึ้น