“ไพบูลย์ นลินทรางกูร” แนะรัฐใช้ตลาดทุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ไพบูลย์ นลินทรางกูร
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

“ตลาดหุ้นเป็นกระจกสะท้อนทิศทางเศรษฐกิจ เชื่อว่าถ้าตลาดหุ้นดี การเติบโตของเศรษฐกิจจะดี ดังนั้น รัฐบาลต้อง unlock potential ของประเทศไทย ใช้ตลาดทุนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ “ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด

ในฐานะกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) กล่าวในการให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ล่าสุด

เศรษฐกิจปี 2566 โตต่ำ Q4 ไม่แรง

“ไพบูลย์” เริ่มต้นฉายภาพเศรษฐกิจไทยว่า มองไปข้างหน้า ในไตรมาส 4 ปี 2566 นี้ คงไม่ได้เติบโตมาก แม้ว่าภาคท่องเที่ยวจะกลับมา แต่ก็ยังไม่แรงมาก จากที่นักท่องเที่ยวจีนออกมาท่องเที่ยวช้ากว่าคาด แต่ก็ดีกว่าไม่กลับมาเลย และแม้รัฐบาลจะเริ่มออกมาตรการลดค่าครองชีพให้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน เพื่อทำให้กำลังซื้อกลับมา และธุรกิจมีกำไรดีขึ้น แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ

ซึ่งคงผ่านรัฐสภาไม่ทัน ทำให้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหลัก ๆ จะยังไม่มาจนกว่าจะถึงปี 2567 โดยเฉพาะนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ที่ต้องใช้ระยะเวลาพัฒนาระบบบล็อกเชนขึ้นมารองรับผู้ใช้งาน 50 ล้านคน ซึ่งก็ไม่ง่าย

“ดังนั้น แรงส่งเศรษฐกิจคงขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก โดยภาคส่งออกยังเป็นเครื่องยนต์สำคัญ แต่คงยังไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นมากในไตรมาสนี้ เพราะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็ดูเหมือนยังไม่วางใจว่าระดับเงินเฟ้อจะลดลงได้ ส่งสัญญาณเข้มงวดขึ้นดอกเบี้ยยังไม่จบรอบ รวมถึงช่วงนี้เจอปัญหาราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอีก”

“ปีนี้เศรษฐกิจไทยไม่ได้โตตามเป้า หลังจาก GDP ไตรมาส 2/2566 ขยายตัวแค่ 1.8% ถือว่าต่ำมาก ๆ”

กำไร บจ.ส่อติดลบ 1%

โดยผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ปีนี้ หลายสำนักวิจัยคาดว่า กำไร บจ.จะติดลบ ซึ่งน่าจะ -1% เพราะถูกกดดันจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ ทั้งเงินบาทที่อ่อนค่า และส่งออกที่ติดลบ 10 เดือนติดต่อกัน

แต่ในปี 2567 คาดว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น กำไร บจ.น่าจะเติบโตได้ 15% จากฐานต่ำและจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่างไรก็ดี จากประมาณการของนักวิเคราะห์ ยังมอง GDP ปีหน้าจะขยายตัวแค่ 3% กว่า ๆ แปลว่ายังไม่รวมนโยบายแจกเงินดิจิทัลที่ฉีดเงินเข้าระบบสูงถึง 560,000 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับ 3% ของ GDP ภายใน 6 เดือน

“ที่ยังไม่รวมในประมาณการ GDP ก็เพราะนักวิเคราะห์ยังไม่มั่นใจว่า นโยบายดังกล่าวจะทำได้จริงหรือไม่ จะทำเมื่อไหร่ เงินมาจากไหน เพราะวันนี้รัฐบาลยังมีคำตอบที่ไม่ชัดเจน”

หุ้นไทยติดกับดัก 1,500 จุด

เมื่อมองมาที่ตลาดหุ้น ดัชนีช่วงนี้ยังไม่ตอบรับอะไรเลย ต่างไปจากวันที่ นายเศรษฐา ทวีสิน ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมาก แต่มาวันนี้ SET จะหลุด 1,500 จุดอยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าแปลกใจ เพราะทุกครั้งเวลาได้รัฐบาลใหม่ และยิ่งเป็นรัฐบาลที่มาพร้อมนโยบายหลายอย่าง ปกติจะต้องสร้างความมั่นใจกับนักลงทุนได้ แต่วันนี้ก็ยังมีปัญหาอยู่

“ถ้าตลาดทุนเชื่อมั่นเมื่อไหร่ว่า นายกฯเศรษฐาสามารถทำให้เศรษฐกิจไทยกลับไปโตระดับ 4-5% ต่อปีได้ หุ้นก็พร้อมจะวิ่งทันที เพราะตลาดหุ้นเป็นการซื้ออนาคต เพียงแต่วันนี้การสร้างความมั่นใจไม่ง่าย แต่ก็ต้องเริ่มทำ ซึ่งผมคิดว่าปีหน้าหุ้นขึ้นแน่ ๆ เพราะฉีดเงินเข้าระบบสูงมาก เพียงแต่กลัวว่าขึ้นเสร็จแล้ว พอหมดสตอรี่ หุ้นจะลงมาเหมือนเดิม ตอนนี้หุ้นไทยติดกับดัก 1,500 จุด ไม่ยอมหลุดไปจากตรงนี้นานเกินไปแล้ว จะทำอย่างไรให้ SET ขึ้นไป 1,600 จุดได้ ตรงนี้รัฐบาลต้องสร้างสตอรี่ระยะยาวให้มีความยั่งยืน”

ตลาดหุ้นกระจกสะท้อนเศรษฐกิจ

“ไพบูลย์” กล่าวว่า เชื่อว่าถ้าเกิดตลาดหุ้นดี จะเป็นกระจกสะท้อนการเติบโตของเศรษฐกิจดี โดยที่ผ่านมาเห็นได้ชัดเจนว่า ช่วง 10 ปีที่หุ้นไทยไม่ไปไหนเลย ซึ่งเป็นไปตามการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่เรียกได้ว่า โตช้าเกือบจะที่สุดในอาเซียน

ขณะเดียวกันปัจจุบันสภาพคล่องในตลาดหุ้นไทยถือว่าแห้งมาก โดยนักลงทุนรายย่อยอาจจะหมดกำลัง รู้สึกท้อ หุ้นไม่ขึ้นสักที ส่วนนักลงทุนสถาบันก็ไม่มีกระสุนพอ เพราะไม่มีเม็ดเงินกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่แต่ละปีเคยเข้ามาลงทุนในหุ้นไทย 5-6 หมื่นล้านบาทต่อปี

ซึ่งกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ที่มาแทน มีเงินเข้าแต่ละปีไม่ถึง 1 หมื่นล้านบาท ส่วนนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนหุ้นไทยในตอนนี้ ก็เป็นเม็ดเงินระยะสั้น ซึ่งมีเยอะเกินไป ควรจะเป็นเม็ดเงินระยะยาวมากกว่า

“ถามว่าจะทำอย่างไร ผมคิดว่ารัฐบาลรู้ถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศดี ทั้งภาวะหนี้ครัวเรือน สังคมผู้สูงอายุ และการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน แต่จะทำหรือเปล่าเท่านั้นเอง วันนี้นักลงทุนอยากเห็นโซลูชั่นที่เป็นไปได้ นำไปปฏิบัติได้จริง ถึงจะเรียกเม็ดเงินระยะยาวและสร้างความเชื่อมั่นได้ ประเด็นที่นายกฯออกมาพูดชัดว่า 4 ปีที่บริหารจะไม่เก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้น ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับตลาดทุนมากกว่านี้”

ชงข้อเสนอรัฐ-กองทุนภาษีใหม่

ทั้งนี้ รัฐบาลต้องใช้ตลาดทุนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะรัฐบาลมีหนี้เยอะแล้ว ดังนั้น โครงการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐหลาย ๆ โครงการ ควรจะมาใช้ตลาดทุนเป็นแหล่งระดมทุน ใช้ Thailand Opportunity Fund ซึ่งคงต้องมานั่งหารือกัน ขณะเดียวกันก็ต้องสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพให้เข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น

ซึ่งจะช่วย unlock potential ของประเทศได้ เพราะนอกจากทำให้เอสเอ็มอีสตาร์ตอัพโตได้แล้ว เป็นการบริหารความเสี่ยงได้ดีด้วย เพียงแต่ต้องมี rating agency ที่เข้ามาช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยงบริษัทเหล่านี้ด้วย

ขณะที่กองทุน SSF ที่กำลังจะครบกำหนดอายุปีหน้า ถึงเวลาต้องมาคุยรูปแบบใหม่กัน ซึ่งอาจจะมีเงื่อนไข คือ ให้ลงทุนในหุ้นไทย โฟกัสหุ้นยั่งยืนกว่า 100 ตัว แล้วแยกวงเงินลดหย่อนภาษีออกมาเฉพาะ ถ้าอยากให้เงินไหลเข้าเยอะ ก็ต้องให้วงเงินลดหย่อนภาษีที่สูง นอกจากนี้ก็ต้องล็อกลงทุนยาว 10 ปี เพื่อเป้าหมายการออมระยะยาว

“ตลาดทุนต้องมีสภาพคล่อง พร้อมที่จะรองรับการระดมทุนภาครัฐ ซึ่งสภาพคล่องนั้นต้องเข้าใจ และพร้อมที่จะลงทุนในเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพต่าง ๆ ด้วย ฉะนั้นภาครัฐอย่าไปมองผู้ลงทุนเป็นผู้ร้าย เพราะนักลงทุนเป็นผู้ที่เอาสภาพคล่องมาให้ภาคธุรกิจ” ซีอีโอ บล.ทิสโก้กล่าว