ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ดัชนีดอลลาร์สหรัฐปรับขึ้นแตะจุดสูงสุดรอบ 10 เดือน

ดอลาร์แข็งค่า

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ดัชนีดอลลาร์สหรัฐปรับขึ้นแตะจุดสูงสุดรอบ 10 เดือน

วันที่ 27 กันยายน 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหว ตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 27 กันยายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/9) ที่ระดับ 36.47/48 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (26/9) ที่ระดับ 36.35/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุนต่อเนื่องจากการที่ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานเพื่อสกัดเงินเฟ้อ เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจในสหรัฐยังคงแข็งแกร่งในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนั้นยังได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะ 4.566% ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดรอบ 16 ปี โดยดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินพุ่งขึ้นแตะ 106.26 ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดในรอบเกือบ 10 เดือน

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจสหรัฐ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานในวันอังคาร (26/9) ว่ายอดขายบ้านใหม่ในสหรัฐดิ่งลง 8.7% สู่ 675,000 ยูนิตต่อปีในเดือน ส.ค. หลังจากพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดรอบ 17 เดือนที่ 739,000 ยูนิตต่อปีในเดือน ก.ค. โดยยอดขายบ้านใหม่ของเดือน ส.ค.อยู่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ 700,000 ยูนิตต่อปี

ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยจำนองที่ระยะ 30 ปีในสหรัฐพุ่งขึ้นเหนือ 7% และส่งผลให้ผู้ต้องการซื้อบ้านบางรายยังไม่ตัดสินใจซื้อบ้าน อย่างไรก็ดี สำนักงานไฟแนนซ์การเคหะของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FHFA) รายงานว่า ราคาบ้านในสหรัฐปรับขึ้นในเดือน ก.ค. ในอัตราที่เร็วขึ้นกว่าเดิมเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยราคาบ้านพุ่งขึ้น 4.6% ในเดือน ก.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากทะยานขึ้น 3.2% ในเดือน มิ.ย. ซึ่งอาจส่งผลให้ตัวเลขเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงต่อไป

นอกจากนั้น สำนักงาน The Conference Board รายงานว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงจาก 108.7 ในเดือน ส.ค. สู่ 103.0 ในเดือน ก.ย. ซึ่งอยู่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 105.5

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ผลการประชุมของธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 2.25 เป็นร้อยละ 2.50 ต่อปี ผิดจากที่ตลาดคาดการณ์ว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมในการประชุมครั้งนี้ ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงหลังการประชุม ก่อนจะกลับมาอ่อนค่าต่อ

นอกจากนี้ กนง.มองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมาย และคาดว่าจะอยู่ที่ 1.6% และ 2.6% ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ โดยมีแนวดน้มอยู่ในระดับต่ำในปี 2566 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.40-36.59 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.55/56 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/9) ที่ระดับ 1.0558/62 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (26/9) ที่ระดับ 1.0600/01 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0553-1.0574 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0556/59 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/9) ที่ระดับ 149.02/05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (26/9) ที่ 148.90/92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนจับตามองว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะเข้ามาแทรกแซงตลาดที่ระดับ 150 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หรือไม่เพื่อจะได้หนุนค่าเงินเยนให้แข็งค่าขึ้น

สำหรับรายงานการประชุมในเดือน ก.ค. ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) พบว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินเห็นตรงกันถึงความจำเป็นที่ต้องคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษต่อไป แต่มีความเห็นต่างกันว่าบีโอเจจะสามารถยุติอัตราดอกเบี้ยติดลบเมื่อไหร่ โดยในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 148.85-149.05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 149.10/12 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ สต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์ (27/9), รายงานยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐ เดือน ส.ค. (27/9), GDP ไตรมาส 2 สหรัฐ (28/9), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐ (28/9), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ยูโรโซน (29/9) และรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (29/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.25/-10.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7.3/-6.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ