รัฐบาลสั่งแบงก์รัฐตรึงดอกเบี้ยเงินกู้อุ้มลูกค้าฐานราก “ออมสิน-ธอส.” เด้งรับ

ธนบัตรไทย

รมช.คลัง ขอให้แบงก์รัฐตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ ออมสิน เด้งรับไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท ขณะที่ ธอส. ประกาศตรึงดอกเบี้ยเงินกู้บ้านถึงสิ้นปี 2566

วันที่ 29 กันยายน 2566 นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง กล่าวว่า ได้ขอให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ตรึงดอกเบี้ยเอาไว้ก่อน เพื่อช่วยบรรเทาภาระให้กับประชาชน ขณะที่ก่อนหน้านี้ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นดอกเบี้ยคราวที่แล้ว แบงก์พาณิชย์ก็ไม่ได้ขึ้นตาม ดังนั้น คงต้องดูสถานการณ์ก่อน

“เราขอให้แบงก์รัฐตรึงไว้ก่อน ซึ่งคราวที่แล้วแบงก์พาณิชย์ก็ไม่ได้ขึ้นตาม ก็ต้องดูสถานการณ์ก่อน เพราะมีผลต่อความสามารถในการชำระของลูกค้า” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าว

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารออมสิน ได้รับนโยบายจากรัฐบาล ให้ตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ทั้ง 3 ประเภท (MLR, MOR, MRR) ไว้ในรอบนี้ แม้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ไปอยู่ที่ 2.50% ก็ตาม

ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก จะปรับไปตามภาวะการแข่งขันในตลาด

“รัฐบาลประสานมาที่ออมสิน โดยเราจะตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ ทั้ง 3 ตัว เพื่อช่วยคนฐานราก ซึ่งลูกค้าเงินกู้ของออมสิน มีอยู่ 6 ล้านราย” นานวิทัยกล่าว

ขณะที่นายกฤษณ์ เสสะเวช กรรมการธนาคาร และรักษาการกรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี หรือจาก 2.25% ต่อปี เป็น 2.50% ต่อปี ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” พร้อมตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ในระดับปัจจุบันต่อไปจนถึงสิ้นปี 2566

ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการชำระเงินงวดตามนโยบายรัฐบาลให้กับลูกค้าเงินกู้ในปัจจุบันของธนาคารที่มีอยู่จำนวน 1.79 ล้านบัญชี คิดเป็นวงเงินสินเชื่อคงค้างมากกว่า 1.66 ล้านล้านบาท และได้มีเวลาในการปรับตัวรับกับภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น