ธปท.ห้ามแบงก์โฆษณา “ก่อหนี้เกินตัว” กระทบทั้งระบบ-ลดแคมเปญ

แบงก์

ธปท.เดินหน้ามาตรการเข้มปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม คุมห้ามแบงก์-น็อนแบงก์ โฆษณา-ทำแคมเปญกระตุ้นให้คนก่อหนี้เกินตัว ดีเดย์บังคับใช้ 1 ม.ค. 2567 เผยกระทบทั้งระบบ สถาบันการเงินเร่งศึกษาข้อบังคับ-หลักเกณฑ์ยุบยับ เด้งรับเกณฑ์ ธปท. ปรับแผนลดแคมเปญส่งเสริมการขาย “ทีทีบี” ยอมรับกระทบหาลูกค้าใหม่ยากขึ้น “กสิกรไทย” สำรวจโฆษณาและวางแผนปลดลงทุกช่องทางที่เข้าข่าย

ธปท.คุมเข้มโฆษณาสินเชื่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) โดยสาระสำคัญประกอบด้วยหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการให้สินเชื่อและการให้ข้อมูลที่กระตุกพฤติกรรมลูกหนี้ รวมทั้งการดูแลลูกหนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรัง (persistent debt) ครอบคลุม 8 กระบวนการ ครอบคลุมตลอดวงจรหนี้ ซึ่งจะให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2567

ประกอบด้วย 1.การพัฒนาผลิตภัณฑ์ มีความเหมาะสมกับความต้องการและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าแต่ละกลุ่ม 2.การโฆษณา ต้องมีเนื้อหาถูกต้อง ชัดเจน ครบถ้วน เปรียบเทียบได้ และต้องไม่กระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร เช่น แจ้งอัตราดอกเบี้ยสูงสุดและต่ำสุด ระยะเวลาการผ่อนชำระ 3.การเสนอขาย ต้องไม่รบกวนความเป็นส่วนตัวของลูกค้า 4.พิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ ให้ครอบคลุมภาระหนี้ทั้งหมด และให้ลูกหนี้เหลือเงินเพียงพอในการดำรงชีพ

5.ส่งเสริมวินัยและการจัดการทางการเงินในช่วงเป็นหนี้ ด้วยการกระตุกพฤติกรรมลูกหนี้ผ่านการให้ข้อมูลและเงื่อนไข เช่น แจ้งเตือนให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตรงเวลา แสดงผลของการจ่ายขั้นต่ำต่อเนื่อง 6.การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง 7.การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ เสนอแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ และ 8.การดำเนินคดีและโอนขายหนี้ไปยังเจ้าหนี้รายอื่น ต้องแจ้งให้ลูกหนี้ทราบสิทธิและข้อมูลที่สำคัญ

กระทบแผนหาลูกค้าใหม่

จากประเด็นดังกล่าว นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าบุคคล ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือทีทีบี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ธนาคารอยู่ระหว่างประเมินผลกระทบจากร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวว่าจะมีผลต่ออะไรบ้าง ผลิตภัณฑ์ไหนบ้าง และในแง่ประเด็นเกี่ยวข้องกับการตลาดและการทำแคมเปญต่าง ๆ เพราะมีรายละเอียดปลีกย่อยค่อนข้างมาก ซึ่งส่วนไหนที่มีผลกระทบอาจจะต้องมีการพิจารณาปรับเปลี่ยนกันใหม่ เช่น แรงจูงใจ (incentive) รางวัลต่าง ๆ จะต้องกลับมาทบทวนใหม่

“เข้าใจว่า ธปท.พยายามดาวน์โทนการก่อหนี้ หรือลดการกระตุ้นพฤติกรรมในส่วนที่ไม่จำเป็นลง ซึ่งก็คล้าย ๆ ในช่วงทำเรื่อง market conduct ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเราต้องมาศึกษารายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งได้ให้ทีมงานศึกษาอยู่ แต่ยอมรับว่าเบื้องต้นกระทบการหาลูกค้ารายใหม่”

แบงก์ปรับแผนรับมือ

นายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวน่าจะเห็นกรอบกติกาชัดเจนขึ้นภายในเดือนตุลาคมนี้ แต่เชื่อว่าไม่น่าจะมีความแตกต่างกันมากนัก โดย ธปท.จะเริ่มในเรื่องลดการกระตุ้นพฤติกรรมการก่อหนี้ เช่น พวกโฆษณาต่าง ๆ ที่จะบังคับใช้ภายใน 1 มกราคม 2567 และเดือนเมษายน 2567 จะเริ่มในส่วนของหนี้เรื้อรัง

ทั้งนี้ เบื้องต้นยอมรับว่าหลักเกณฑ์เกี่ยวกับโฆษณามีผลกระทบต่อการหาลูกค้ารายใหม่ที่ยากขึ้น และส่งผลต่อรายได้ รวมถึงต้นทุนในการปรับเปลี่ยนโฆษณาที่เพิ่มขึ้น ส่วนจะกระทบมากน้อยอย่างไรจะต้องมีการประเมินและใส่ในการจัดทำแผนธุรกิจปี 2567 อย่างไรก็ดี เป็นสิ่งที่สถาบันการเงินต้องปรับตัวทั้งระบบ แต่ในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้ส่งสัญญาณเรื่องเหล่านี้ และสถาบันการเงินได้ปรับตัวไปแล้วก่อนหน้านี้

โดยระหว่างนี้ธนาคารจะสำรวจโฆษณาที่เข้าข่ายต้องห้ามของ ธปท. เช่น สมัครสินเชื่อ และภายหลังได้รับการอนุมัติจะต้องใช้สินเชื่อทันทีภายใน 30 วัน, ซื้อก่อนผ่อนทีหลัง, ของมันต้องมี หรือ กู้เงิน 1 หมื่นบาท ผ่อนเดือนละ 10 บาท เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ธนาคารจะต้องเข้าไปดูทั้งในสื่อผ่านแบนเนอร์ เครื่องเอทีเอ็ม เว็บไซต์ สาขา และโมบายแบงกิ้ง จะต้องทยอยเอาลงให้หมด และค่อยทยอยปรับสื่อโฆษณาอันใหม่ให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด

นายชัยยศกล่าวว่า แม้ว่า ธปท.อาจจะไม่ได้บังคับหรือมีบทลงโทษ แต่เชื่อว่า ธปท.อาจจะมีการสำรวจหลังจากมีผลบังคับใช้ หากพบเห็นอาจจะมีการตักเตือน และมีผลต่อคะแนนเรื่องการให้บริการอย่างเป็นธรรม (market conduct) ในอนาคต

“โดยรวมการทำการตลาดจะยากขึ้น เพราะ ธปท.ไม่ต้องการให้เกิดการกระตุ้นก่อหนี้เกินตัว เพื่อควบคุมสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งเรื่องนี้ ธปท.ส่งสัญญาณขอความร่วมมือมาเรื่อย ๆ และธนาคารทยอยทำมาต่อเนื่อง โดยเราจะต้องมีแผนชี้แจงให้ ธปท.รับทราบว่าแผนจะเป็นอย่างไร ต้องปรับเปลี่ยนหรือทำอะไรเพิ่มเติม”

กระทบทั้งระบบ-ลดแคมเปญ

นายนันทวัฒน์ โชติวิจิตร กรรมการบริหาร บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธปท.พยายามควบคุมการก่อหนี้ครัวเรือน ดูแลตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อไม่ให้ก่อหนี้โดยไม่จำเป็น และมีความเข้าใจก่อนจะก่อหนี้ ดูความสามารถในการชำระหนี้ และมีมาตรการช่วยเหลือหากลูกค้ามีปัญหา

อย่างไรก็ดี สิ่งที่อิออนและผู้ให้บริการทั้งระบบต้องดำเนินการคือ จะต้องปรับโทนส่งเสริมการขาย แคมเปญการตลาด รวมถึงกิมมิกต่าง ๆ ในตลาดจะน้อยลง กิจกรรมบางส่วนที่เคยทำได้อาจทำไม่ได้ เป็นการปรับไปสู่ช่วงยุคแรกที่สมัครบัตรเครดิต มีสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง แต่ห้ามกระตุ้น ห้ามแจกของ และต้องปรับให้พนักงานขาย เป็นเหมือนที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) เพราะต้องแจ้งรายละเอียดเงื่อนไขในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไม่ใช่แค่หาลูกค้าอย่างเดียว

“คงกระทบทั้งระบบ เพราะผู้ประกอบการต้องทำงานเพิ่มขึ้น บางแคมเปญต่อไปอาจทำไม่ได้แล้ว เพราะอาจเข้าข่ายการเร่งรัดลูกค้าก่อหนี้ แต่โดยรวมคุณภาพสินเชื่อจะปรับดีขึ้น ซึ่งต้นทุนการตลาดอาจจะลดลง แต่จะมีต้นทุนในด้านงานอื่น ๆ เพื่อปรับโฆษณา แต่ก็ยอมรับว่ากระทบการหาลูกค้าใหม่แน่นอน”

LINE BK ปรับแผน

ด้านนายธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด หรือ LINE BK กล่าวว่า ตอนนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งอาจจะต้องมาพิจารณาดูว่ามีผลอย่างไร จะต้องมีการปรับแคมเปญ เงื่อนไข และโปรโมชั่นอย่างไรบ้าง เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ รวมถึงดูหลักเกณฑ์ที่จะออกมาเป็นทางการอีกครั้ง

ขณะที่ นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารอาจได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากธนาคารไม่ได้ทำธุรกิจบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล จึงไม่ต้องปรับแผนธุรกิจ ส่วนหนึ่ง ธปท.ต้องการลดหนี้ครัวเรือน การกระตุ้นหรือเร่งรัดการใช้สินเชื่อ หรือการอนุมัติสินเชื่อง่าย โดยไม่มีการตรวจสอบความสามารถชำระหนี้ของลูกค้า ปัจจัยเหล่านี้ทิสโก้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด อย่างไรก็ดี อาจจะต้องดูในรายละเอียดของเกณฑ์ว่ามีส่วนไหนที่ธนาคารต้องปรับเพิ่มเติม

คุมถึงการใช้อินฟลูเอนเซอร์

โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้อธิบายหลักการโฆษณาว่า หมายถึงสื่อที่สถาบันการเงินจัดทำ หรือว่าจ้างหรือให้ผลตอบแทนแก่บุคคลอื่น เพื่อให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สินเชื่อของผู้ให้บริการ ในลักษณะเชิญชวนหรือจูงใจให้ใช้ผลิตภัณฑ์สินเชื่อกับผู้ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นข้อความ ภาพ เสียง เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ใด ๆ และจะกระทำผ่านสื่อ ช่องทาง เครื่องมือใด ๆ รวมถึงผู้ส่งเสริมการขายทางสื่อสังคม (influencer) ไปจนถึงป้ายโฆษณาตามสถานที่ต่าง ๆ เน้น 3 หลักการใหญ่

คือ 1.ถูกต้องและชัดเจน จะต้องแสดงเงื่อนไข คำเตือน หรือข้อแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในการโฆษณาเดียวกันเพื่อให้ลูกค้าได้รับสารที่ถูกต้องชัดเจน และส่งเสริมการมีวินัยการเงินที่ดี เช่น โฆษณา “บัตรกดเงินสดให้คุณพร้อมใช้ทุกโอกาส ชีวิตสนุกไม่มีสะดุด อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 0.5% ต่อปี* นาน 50 วัน” ต้องมีการแสดงเงื่อนไขชัดเจนว่า อัตราดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี นาน 50 วัน เฉพาะยอดใช้จ่ายแรกเท่านั้น พร้อมคำเตือนที่ต้องแสดงว่า “กู้เท่าที่จำเป็นและจ่ายไหว ถ้าจ่ายคืนไม่ได้จะเป็นผลเสีย”

2.ข้อมูลครบถ้วนและเปรียบเทียบได้ หลักเกณฑ์ คือ ต้องแสดงต่ำสุด-สูงสุด ของอัตราดอกเบี้ยแท้จริงต่อปี ขนาดตัวอักษรเท่าถ้อยคำพูดเชิญชวน หากเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ให้แสดงคำเตือนว่า “อัตราดอกเบี้ยลอยตัวสามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้” และหากแสดงค่างวดหรือระยะเวลาผ่อนเพื่อจูงใจลูกหนี้ เช่น ผ่อนเหมือน 10 บาทต่อวัน ต้องแสดงสมมติฐานการคำนวณค่างวด เงินต้น ภาระดอกเบี้ย และระยะเวลาชำระ เช่น เงินต้น 10,000 บาท ดอกเบี้ย 25% ดอกเบี้ยทั้งสัญญา 7,200 บาท ค่างวด 300 บาทต่อเดือน ผ่อนนาน 5 ปี

และ 3.ไม่กระตุ้นให้เกิดการก่อหนี้เกินควร หลักเกณฑ์ คือ ห้ามกระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร และส่งเสริมวินัยการเงิน เช่น ห้ามทำกิจกรรมส่งเสริมการขายที่ให้รางวัลหรือของขวัญ ทันทีที่สมัคร, ห้ามกำหนดเงื่อนไขเพื่อกระตุ้นหรือเร่งรัดให้ลูกค้าใช้สินเชื่อทันทีภายในงวดแรกหลังอนุมัติวงเงิน และต้องแสดงว่าพิจารณาสินเชื่อ โดยผ่านการประเมินความสามารถในการชำระหนี้

นอกจากนี้ การเสนอขายโดยให้ข้อมูลในการกู้ยืมที่ชัดเจน โดยให้แสดงเป็นตาราง รูปภาพ หรือกราฟเปรียบเทียบจำนวนเงินที่เข้าใจง่าย