กรุงศรี ประเมินเงินบาทสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นในกรอบ 35.85-36.60 บาท/ดอลลาร์

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

กรุงศรี คาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 35.85-36.60 บาทต่อดอลลาร์ ผันผวนตาม “ทุนเคลื่อนย้าย-ราคาทองคำ”

วันที่ 16 ตุลาคม 2566 กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า กรุงศรี มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ (16-20 ต.ค.) ว่าเงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 35.85-36.60 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 36.23 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 36.09-37.13 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทพลิกกลับมาแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 3 สัปดาห์

ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางการซื้อขายผันผวน ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) สหรัฐย่อลง หลังเกิดสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส รวมถึงการคาดการณ์ของผู้ร่วมตลาดที่ว่าวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจสิ้นสุดลงแล้ว หลังเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายรายของเฟดให้ความเห็นว่าการพุ่งขึ้นของบอนด์ยิลด์ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาทำให้ภาวะตลาดตึงตัวมากขึ้น และอาจลดความจำเป็นที่เฟดต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะต่อไป

ส่วนรายงานการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. บ่งชี้ว่าความไม่แน่นอนเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจส่งผลให้เฟดแสดงจุดยืนแบบระมัดระวัง อย่างไรก็ดี ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐที่ออกมาสูงกว่าคาดช่วยให้ดัชนีดอลลาร์ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดรอบ 2 สัปดาห์

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 2,854 ล้านบาท และ 16,287 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่านักลงทุนจะติดตามข้อมูลยอดค้าปลีกเดือน ก.ย.ของสหรัฐ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 ของจีน รวมถึงภาวะตลาดพันธบัตรโลก ราคาทองคำ และราคาน้ำมันดิบเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ ช่วงปลายสัปดาห์ตลาดจะให้ความสนใจกับความเห็นของประธานเฟดในงานที่ Economic Club of New York เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินสหรัฐต่อไป โดยในภาวะเช่นนี้ เราคาดว่าค่าเงินดอลลาร์อาจพักฐานชั่วคราวเมื่อเทียบกับสกุลเงินส่วนใหญ่

สำหรับประเด็นในประเทศ ธปท.ระบุว่าค่าเงินบาทมีความไม่แน่นอนสูง และเป็นตัวแปรสำคัญที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จับตา โดยทางการเห็นว่ามีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อในบางไตรมาสของปี’67 จะสูงกว่า 3% ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เน้นย้ำว่าดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันที่ 2.50% ถือเป็นระดับที่สมดุล ซึ่งไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ และเป็นระดับที่เหมาะสมในการรองรับทั้งปัจจัยบวกและลบในระยะข้างหน้า อีกทั้ง ธปท.คาดว่ามีโอกาสน้อยที่ดุลบัญชีเดินสะพัดจะติดลบต่อเนื่องยาวนาน

อนึ่ง กรุงศรีคาดว่ากระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายรวมถึงธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับทองคำจะเป็นปัจจัยชี้นำค่าเงินบาทในระยะนี้