เข้าสู่ยุคเงินแพง ! ต้นทุนดอกเบี้ยหุ้นกู้พุ่ง ส่อยืดเยื้อหลายไตรมาส

ไม่เพียงแต่หมดยุค cheap money หรือเงินราคาถูก แต่เราเข้าสู่ยุคของเงินแพง ที่ดูแล้วน่าจะยืดเยื้อไปอีกหลายไตรมาส อัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้ หรือเรียกว่า “ต้นทุนการออกหุ้นกู้ของบริษัทผู้ออก” ก็ปรับขึ้นสูงขึ้นตลอดทั้งปี

สวัสดีครับ Prachachat Wealth เล่าเรื่องการลงทุน สัปดาห์นี้จะไปวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ต้นทุนดอกเบี้ยที่ขยับพุ่งขึ้น และมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อไปอีกหลายไตรมาส

โดยต้องจับตากลุ่มไฮยีลด์ที่จะโรลโอเวอร์หุ้นกู้ครบกำหนดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ที่มีวงเงินกว่า 23,000 ล้านบาท ซึ่งประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาท อยู่ในเซ็กเตอร์อสังหาริมทรัพย์

วันนี้ไปร่วมพูดคุยกับ “คุณสงวน จุงสกุล” ผู้บริหารฝ่ายธุรกิจ สายงานตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย

Q : ต้นทุนดอกเบี้ยหุ้นกู้แต่ละเรตติ้งตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

“สงวน” กล่าวว่า ต้องเรียนว่าไม่เพียงแต่หมดยุค cheap money หรือเงินราคาถูกนะครับ แต่เราเข้าสู่ยุคของเงินแพง ที่ดูแล้วน่าจะยืดเยื้อไปอีกหลายไตรมาสเลย

ก่อนอื่นผมขออัพเดต ระดับอัตราผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของตลาดหุ้นกู้สกุลเงินบาทในประเทศ อ้างอิงจากข้อมูลของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

ถ้าเอาตัวเลขล่าสุดคือ 10 ตุลาคม 2566 เทียบกับกลางปี 2566 ประมาณ 3 เดือนกว่า ๆ หุ้นกู้อายุ 3 ปี เครดิตเรตติ้ง AAA ก็จะอยู่ที่ประมาณ 3.22% หรือปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงกลางปีประมาณ 0.48% ถ้าเป็นเรตติ้ง A- จะอยู่ที่ 3.73% หรือปรับเพิ่มขึ้นจากกลางปีประมาณ 0.44%

และก็ถ้าเป็นเรตติ้ง BBB+ อายุ 3 ปี ซึ่งน่าจะเป็นเรตติ้งที่อยู่ในมือของนักลงทุนบุคคลธรรมดามากที่สุด ก็จะมีอัตราผลตอบแทนประมาณ 4.50% หรือปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงกลางปีประมาณ 0.36%

ภาพรวมต้องบอกว่า อัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้ หรือเรียกว่า “ต้นทุนการออกหุ้นกู้ของบริษัทผู้ออก” ก็ปรับขึ้นสูงขึ้นตลอดทั้งปี

ปัจจัยที่น่าจะต้องพูดถึงก็คือ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ ซึ่งปัจจุบันมาอยู่ที่ 2.50% และมีความชัดเจนมากแล้วว่า วงจรการขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติของบ้านเราน่าจะสิ้นสุดลงแล้ว

ดังนั้นต้นทุนหุ้นกู้อายุสั้น ๆ ไปจนถึงไม่เกิน 3 ปี พวก 1 ปี 2 ปี 3 ปี น่าจะอยู่บริเวณนี้ นิ่ง ๆ ไม่ขึ้นและไม่ลงไปอีกหลายไตรมาสเลยทีเดียว

แต่สำหรับถ้าเป็นอายุ 5 ปี 10 ปี ต้องพิจารณาประกอบกับสภาวะตลาดพันธบัตรของทั้งในสหรัฐและของไทยประกอบไปด้วยครับ

Q : เห็นสัญญาณการยกเลิกการขายหุ้นกู้ ทั้งธุรกิจรายใหญ่-รายเล็กบ้างมั้ย

สำหรับการออกหุ้นกู้ บริษัทก็ยังมีความต้องการออกหุ้นกู้ไปตามปกตินะครับ ไม่ว่าด้วยเหตุผลเรื่องการโรลโอเวอร์มาชำระคืนหุ้นกู้รุ่นเก่าที่ครบกำหนดไถ่ถอน หรือว่าด้วยวัตถุประสงค์อื่นก็ตาม

แต่ก็ต้องยอมรับว่าการที่ต้นทุนเงินแพงขึ้นอย่างยืดเยื้อ ทำให้ไปกระทบความสามารถในการทำกำไร และกระทบกับความเชื่อมั่นในหลาย ๆ มุมด้วย

ส่วนเรื่องของการขายไม่หมด หรือขายได้น้อยกว่าที่ตั้งใจไว้ หรือแม้กระทั่งการเลื่อนการขายหุ้นกู้ หรือยกเลิกแผนการขายหุ้นกู้ ผมอยากจะเรียนว่า อยากให้นักลงทุนอย่าไปตื่นตระหนก แต่ให้มองเป็นเรื่องปกติตามสภาพตลาดทุนทั่ว ๆ ไป ซึ่งก็มีการเลื่อนตามปกติอยู่แล้ว

คือบริษัทที่มีการบริหารจัดการสภาพคล่องที่ดี ปกติแล้วเขาจะไม่ได้พึ่งพาแหล่งเงินทุนแต่เพียงตลาดหุ้นกู้อย่างเดียว เขาก็จะมีแหล่งอื่น ๆ ด้วย เช่น สถาบันการเงิน เงินกู้กรรมการอะไรต่าง ๆ เรียงลำดับจากต้นทุนที่ถูกสุดไปถึงแพงสุด

การขายหุ้นกู้ไม่ครบกำหนด หรือต้องเลื่อนไป ก็ไม่น่าจะทำให้ถึงกับทำให้บริษัทขาดสภาพคล่อง จนกระทั่งไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ แต่เขาก็อาจจะไปหาแหล่งเงินทุนอื่น ๆ ซึ่งอาจจะแพงกว่า แต่ทำให้บริษัทผู้ออกหุ้นกู้มีอำนาจต่อรองที่ลดลง ถ้าเปรียบเทียบกับช่วงเวลาอื่น ๆ ที่ผ่านมา ในสมัยที่การออกหุ้นกู้ ต้นทุนถูกกว่านี้มากครับ

Q : จะมีหุ้นกู้ครบดีลในช่วงไตรมาสสุดท้าย 1.5 แสนล้าน ประมาณ 2 หมื่นกว่าล้าน เป็นกลุ่มไฮยีลด์ มีความน่ากังวลมากน้อยแค่ไหน

หุ้นกู้เราต้องแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็น Investment Grade ซึ่งทราบกันอยู่ แม้จะมีความฝืดเคืองมากขึ้น จ่ายแพงขึ้น แต่ว่าบริษัทเหล่านี้ เรายังไม่ได้เห็นสัญญาณว่าจะมีปัญหาในเชิงระบบของตัว Credit Flow นะครับ เพราะบริษัทขนาดใหญ่ เขาก็จะมีแหล่งเงินทุนที่หลากหลาย

รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินต่าง ๆ อยู่แล้ว และมีความยืดหยุ่น คืองบดุลเขามีขนาดใหญ่กว่า รองรับแรงกระแทกจากปัจจัยลบต่าง ๆ ได้ดีกว่า

แต่กลุ่มที่สองที่เป็นไฮยีลด์ ต้องดูลงรายละเอียดนิดหนึ่ง เพราะว่างบดุล เขารองรับแรงกระแทกได้น้อยกว่า แม้ว่าจะมีบรรษัทภิบาลที่ดี มีการบริหารจัดการที่ดี มีความรอบคอบ มีความซื่อสัตย์

แต่เนื่องจากว่าความสามารถในการรองรับแรงกระแทกน้อยกว่า บริษัทผู้ออกมีความจำเป็นต้องแสดงให้ตลาดทุนเห็นถึงความระมัดระวังรอบคอบเผื่อเหลือเผื่อขาดอย่างยิ่ง รวมทั้งมีการสื่อสารกับ stakeholder กับตลาดทุน และมีความสามารถในการจัดการกับข่าวลือต่าง ๆ ที่พุ่งเข้ามาได้อย่างรวดเร็ว

ซึ่งต้องอย่าลืมเลยนะครับว่า ตลาดหุ้นกู้เป็น Public Market ไม่เหมือนแบงก์ แบงก์เป็น Private Market เวลาลูกหนี้สินเชื่อมีปัญหา เราก็ปิดห้องประชุมคุยกันให้จบในนั้น แต่ว่าถ้าเป็น Public Market ยิ่งเราอยู่ในยุคโซเชียลมีเดีย ข่าวต่าง ๆ ที่บริษัทดำเนินการและไม่ราบรื่น อาจจะขยายลุกลามและบริหารจัดการได้ยาก ดังนั้นต้องมีความระมัดระวังตรงนี้ด้วย

รวมทั้งตัวบริษัทกลุ่มอสังหาฯก็ต้องยอมรับว่า มีบางเซ็กเตอร์ อย่างเช่น อสังหาฯพวก consumer finance (สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค) หรือลีสซิ่ง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความอ่อนไหวต่อต้นทุนเงินกู้มากกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ

แล้วจากข้อมูลของทริสเรตติ้งในปีนี้ที่มีการดาวน์เกรด ที่มีการปรับลดแนวโน้มจาก Stable เป็น Negative Outlook ในกลุ่มบริษัทนั้น ก็มีบริษัทอสังหาฯอยู่ในนั้นด้วย

ซึ่งบริษัทจำเป็นจะต้องมีการพิจารณาลดการพึ่งพาหนี้หรือไม่ หรือพิจารณาลด รักษา debt to equity ratio (หนี้สินต่อทุน) ให้อยู่ในระดับต่ำ หันไปพึ่งพาเงินทุนในส่วนของผู้ถือหุ้นมากขึ้น เพราะเราไม่รู้ว่าสถานการณ์แบบนี้จะยืดเยื้อยาวนานไปอีกนานแค่ไหน

Q : ภาวะตลาดช่วงนี้กำลังปั่นป่วน ถูกซ้ำเติมภาวะสงครามอิสราเอล ประเมินว่าซัพพลายดีมานด์จะเป็นอย่างไร

ผมประเมินว่าผลกระทบจากภาวะสงครามไม่ได้มาก อย่างไรก็ตามบรรยากาศสงคราม ถ้าหากขยายตัวและมีผลทำให้ราคาน้ำมันและราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ก็อาจจะไปกดดันค่าเงินบาท ไปกดดันทำให้ยีลด์พันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวสูงขึ้น และอ้อมกลับไปส่งผลทำให้ต้นทุนการออกหุ้นกู้แพงขึ้นไปอีก