อดีตปลัดคลัง เตือนแจกเงิน 10,000 บาท รัฐบาลคิดนโยบายไม่ตกผลึก

นายสมชัย สัจจพงษ์
นายสมชัย สัจจพงษ์

สมชัย สัจจพงษ์ อดีตปลัดคลัง ออกโรงเตือนรัฐบาลเดินหน้า “แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท” ชี้ยังคิดนโยบายไม่ตกผลึก-ไม่ครบทั้งระบบ หวั่นเพิ่มความเสี่ยงด้านการคลัง-ทำผิดวินัยการเงินการคลัง แนะปรับมาตรการให้เหมาะสม-วางระบบใช้ 5.6 แสนล้านใหม่ แก้ปัญหาความยากจน

วันที่ 20 ตุลาคม 2566 นายสมชัย สัจจพงษ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตนมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่อง ดิจิตอล Wallet โดยเท่าที่ติดตามข่าว ก็ยังไม่ทราบรายละเอียดชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานและงบประมาณที่ใช้ ตนคงไม่ตอบว่าควรทำหรือไม่ควรทำ หรือว่าดีหรือไม่ดี

แต่อยากเสนอข้อคิดให้กับคณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการที่กำลังดำเนินการศึกษา และเสนอแนวทางในการดำเนินนโยบายนี้ เพื่อคิดให้ครอบคลุมทุกองคาพยพแล้วก็ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการใช้งบประมาณ และไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการคลังและเสี่ยงต่อการทำผิดวินัยการเงินการคลัง

ก่อนอื่นต้องตกผลึกให้ได้ก่อน ว่านโยบายนี้มีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายหลักคืออะไร เช่น ตามที่ตนได้ฟังมา รัฐบาลต้องการใช้นโยบายนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ดังนั้น ก็ต้องตั้งคำถามว่า ถ้าต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วและให้มีการหมุนของเงินเร็ว

กลุ่มประชาชนกลุ่มใดที่สามารถตอบสนองต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไว คำตอบก็คือกลุ่มประชาชนที่มีรายได้น้อย เพราะกลุ่มประชาชนรายนี้ กลุ่มนี้เมื่อได้เงินเป็นเงินสดหรือเงินดิจิทัลไปก็จะมีแนวโน้มในการใช้เงินทั้งหมดเลยและใช้ด้วยความรวดเร็วในการอุปโภคบริโภค ส่วนน้อยที่จะนำไปใช้ในการต่อยอดรายได้ เพื่อการลงทุนและประกอบอาชีพ”

“การแจกเงินดิจิทัลให้กับทุกคนที่มีอายุมากกว่า 16 ปี จึงไม่น่าจะเป็นการตอบโจทย์ในการที่รัฐบาลต้องการใช้โยบายนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น หากรัฐบาลต้องการดำเนินนโยบายนี้เพื่อเป้าหมายนี้ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินงบประมาณมากถึง 560,000 ล้านบาท รัฐบาลเพียงแต่แจกเงินดิจิทัลให้กับกลุ่มฐานราก หรือกลุ่มที่มีรายได้น้อยน่าจะเพียงพอแล้ว ทำให้ใช้เงินงบประมาณหรือการกู้เงินมาน้อยกว่าจำนวน 560,000 ล้านบาท”

ประเด็นต่อมาก็คือว่า เมื่อจะกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นแบบนี้ ผ่านการใช้จ่ายของกลุ่มประชาชนฐานรากแล้ว ระยะเวลา หรือ timing ขณะนี้เหมาะสมหรือไม่ในการทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งระยะสั้นแบบนี้ในขณะที่เศรษฐกิจไทยปัจจุบันไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤตเหมือนเศรษฐกิจช่วงโควิดระบาด หากเศรษฐกิจปัจจุบันในช่วงเวลานี้ไม่ใช่ช่วงเวลาที่รัฐบาลต้องมากระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น

“ดังนั้น ทางเลือกที่ดีกว่าของรัฐบาลในการใช้เงินงบประมาณส่วนนี้ในการดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเลต ก็คือการนำเงินงบประมาณส่วนนี้ไปทำโครงการอื่นที่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะกลางและระยะยาว ซึ่งส่งผลต่อการต่อยอดรายได้ ต่อยอดการลงทุน เพิ่มผลิตภาพและศักยภาพการผลิตของประเทศจะดีกว่าหรือไม่”

คำถามต่อไปก็คือ ถ้ารัฐบาลยืนยันการแจกเงินดิจิทัลให้ทุกคนอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปตามแผนที่ได้หาเสียงไว้ คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการที่กำลังศึกษาเรื่องนี้ควรจะเสนอปรับปรุงมาตรการนี้อย่างไร เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและต้องการใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลนี้

ซึ่งตนขอเสนอให้คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการพิจารณาทบทวนและขยายเป้าหมายของการทำนโยบายนี้ จากการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นอย่างเดียว มาเสริมด้วยการยกระดับ GDP ของประเทศ ยกระดับรายได้ของประชาชนในระยะกลางและระยะยาวไปพร้อมกัน โดยการต่อยอดรายได้ เน้นเรื่องการลงทุนของประชาชนกลุ่มเล็ก หรือกลุ่มขนาดกลาง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการหารายได้ การประกอบอาชีพ และการลงทุนของวิสาหกิจขนาดกลางที่ดำเนินการโดยประชาชนกลุ่มเล็ก

ดังนั้น เมื่อประชาชนได้เงินไปแล้ว ก็จะมีกลุ่มของประชาชนบางกลุ่มที่ใช้เงินเพื่อการอุปโภคบริโภค เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น กลุ่มประชาชนบางกลุ่มก็จะนำเงินไปรวมตัวกันเพื่อไปต่อยอดรายได้ลงทุนเสริมรายได้เสริมอาชีพ ดังนั้น การสร้างเงื่อนไขของการใช้เงินดิจิทัล จะต้องอนุญาตให้มีการนำเงินมารวมกันเพื่อลงทุน หรือว่าเพื่อไปต่อยอดอาชีพ ต่อยอดรายได้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะกลาง ระยะยาวได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น ขณะที่การกำหนดเงื่อนไขของการใช้เงินในระยะ 4 ก.ม. และเงื่อนไขอื่น ๆ ก็ต้องมีการปรับให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนและเพิ่มเป้าหมายตามที่ตนได้เสนอข้างต้น

เมื่อมีการเพิ่มเป้าหมาย เงื่อนไข วัตถุประสงค์เพื่อให้นำเงินดิจิทัลไปร่วมกันลงทุนต่อยอดรายได้เพิ่มขึ้นได้นั้น รัฐบาลก็ไม่ควรให้คนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป หรือกลุ่มประชาชนกลุ่มนี้คิดเอง ทำเอง โดยปราศจากการสนับสนุนจากภาครัฐ สิ่งที่รัฐบาลต้องทำและคิดต่อให้เป็นระบบก็คือ ต้องมีการเตรียมองคาพยพของหน่วยงานราชการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่า กระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม รวม

ทั้งสถาบันการเงินและภาคธุรกิจเอกชน เพื่อมาช่วยสนับสนุนเตรียมความพร้อม เตรียมข้อเสนอแนะ เตรียมอบรมฝึกอาชีพ ช่วยเสนอแนะแนวทางการลงทุน แนวทางการปรับปรุงการดำเนินธุรกิจ ให้กับกลุ่มประชาชนที่มีความต้องการใช้เงินดิจิทัลในการสร้างอาชีพต่อยอดรายได้ เพิ่มผลิตภาพการผลิต และการลงทุนด้วย

โดยสรุปแล้วตนมีความเห็นว่าปัจจุบันนี้รัฐบาลยังไม่ตกผลึกในการคิดนโยบายนี้ และยังไม่คิดครบทั้งระบบ ทั้งขาดความชัดเจนของแหล่งที่มาของงบประมาณที่นำมาใช้ในโครงการนี้อย่างรอบคอบ และยังหวังผลเลิศเกี่ยวกับเรื่องการได้รายรับจากรายได้ภาษีที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายนี้ ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเรายังมีปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบภาษี และยังขาดประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี รวมทั้งขาดความแม่นยำ

จากการประเมินผลการดำเนินมาตรการนี้ จากส่วนเพิ่มของการเก็บภาษีและการเติบโตของรายได้จากการดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเลตนี้ ทำให้การคาดการณ์ผลการประเมินของโครงการนี้ทำได้ยากและถูกต้อง เพิ่มความเสี่ยงทางการคลัง เสี่ยงต่อการผิดวินัยการเงินการคลัง

“จริง ๆ แล้วเงินจำนวนนี้ประมาณ 560,000 ล้านบาท ถ้าวางระบบดี ๆ สามารถนำไปแก้ไขปัญหาความยากจนของคนไทยทั้งระบบได้เลย เช่นเดียวกับการที่ประเทศจีนได้ทุ่มงบประมาณและบุคลากรเพื่อไปแก้ไขปัญหาความยากจน หรือนำเงินก้อนนี้ไปดำเนินโครงการลงทุนอื่นที่เสริมความแข็งแกร่งและประสิทธิภาพการผลิตของประเทศ เพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจยั่งยืน” นายสมชัยระบุ