เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลัง FED มีมติคงดอกเบี้ย

ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า
ภาพ : pixabay

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 30 ตุลาคม-3 พฤศจิกายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (30/10) ที่ระดับ 36.09/10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (27/10) ที่ระดับ 36.21/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PEC) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้นสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.4% ในเดือน ก.ย. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 3.4% ในเดือนก่อนหน้า ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้นสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.7% ในเดือน ก.ย.เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 3.8% ในเดือน ส.ค.

ส่วนผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่เปิดเผยในวันศุกร์เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 63.8 ในเดือน ต.ค. จากระดับ 68.1 ในเดือน ก.ย. ท่ามกลางความกังวลเรื่องเงินเฟ้อและสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม ตัวเลขความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 63.0

ทั้งนี้คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเมื่อวันพุธ (1/11) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี การประกาศคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และเป็นการตรึงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 11 ครั้ง นับตั้งแต่ที่เริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม 2565 ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 5.25%

อีกทั้งแถลงการณ์ของคณะกรรมการเฟดมีการส่งสัญญาณว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในอนาคต เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐมีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในไตรมาส 3

Advertisment

อย่างไรก็ดี เฟดยอมรับว่าภาวะการเงินที่มีความตึงตัวมากขึ้นนั้นได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ทางด้านนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดได้กล่าวในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า กรรมการเฟดจะใช้ความระมัดระวังในการดำเนินนโยบายการเงิน แม้ว่าจะยังไม่มั่นใจในภาวะการเงินในขณะนี้ ว่ามีความเข้มงวดเพียงพอที่จะทำให้เงินเฟ้อลดลงสู่ระดับต่ำตามที่เฟดต้องการหรือไม่

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน “ธปท.พบสื่อมวลชน” Press Trip 2023 ว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังคงมีความแข็งแกร่ง แต่ยังมีโอกาสที่จะถูกปรับลดมุมมองจากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หากนโยบายภาคการคลังมีความเสี่ยง ด้วยปัจจัยเสี่ยงเรื่องหนี้สาธารณะและฝั่งการคลัง

โดยปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ 61.7% ต่อจีดีพี สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็วจากช่วงก่อนโควิดที่ระดับ 40% และมีบางบริษัทให้ความกังวลภาระหนี้ต่องบประมาณว่าไม่ควรเกิน 12% ซึ่งปัจจุบันไทยอยู่ในระดับ 10% กว่า ดังนั้นควรมุ่งลดรายจ่าย ทยอยปรับลดการขาดดุล ปรับลดหนี้สาธารณะ มีมาตรการเพิ่มรายได้

ทั้งนี้ สิ่งที่ ธปท.จะต้องทำในระยะต่อไปคือ ต้องมองภาพในระยะปานกลางผ่านการทำนโยบายที่พร้อมรองรับสถานการณ์ที่มีความเปลี่ยนแปลง ดูแลระดับเงินเฟ้อไม่ให้สูงและเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจที่เติบโต มีภูมิคุ้มกันหรือมีกันชนที่สามารถทนทานกับ Shock ในด้านต่าง ๆ มี Policy space ที่เพียงพอในการทำนโยบายการเงิน และสุดท้ายจะต้องมีทางเลือกไว้สำรองคู่ขนาน เพื่อสร้างโอกาสที่เติบโตจากสิ่งใหม่ ๆ

Advertisment

อย่างไรก็ดี ธปท.ได้แสดงความเห็นต่อความผันผวนของค่าเงินบาทว่า ธปท.ยังดูแลใกล้ชิดให้เป็นไปตามกลไกตลาด แต่ก็ต้องไม่ผันผวนเกินไปจากปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งขณะนี้ยังไม่เห็นความผิดปกติที่เกิดจากความผันผวนของค่าเงินในระดับดังกล่าว ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.73-36.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (3/11) ที่ระดับ 35.70/72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (30/10) ที่ระดับ 1.0561/63 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (27/10) ที่ระดับ 1.0563/65 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเยอรมนีประจำไตรมาสที่ 3 ของปีหดตัว 0.1% หดตัวน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -0.2% เนื่องจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ลดลง รายงานระบุว่า ตัวเลข GDP ที่ปรับตัวลดลงใน Q3/66 เพิ่มความเสี่ยงที่เยอรมนีจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ข้อมูลดังกล่าวตอกย้ำถึงความลำบากของเยอรมนีในการฟื้นตัวจากระยะตกต่ำอันเนื่องมาจากวิกฤตพลังงานในฤดูหนาวที่แล้ว ตามมาด้วยความซบเซาหรือการขยายตัวเพียงเล็กน้อยในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา รายงานระบุว่า ในบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลักของยุโรป เยอรมนีเป็นประเทศเดียวที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มองว่าเศรษฐกิจจะหดตัวในปีนี้ และแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวก็เป็นที่น่ากังขา

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทั้งในประเทศและทั่วโลกกำลังส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุปสงค์สินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญของเยอรมนีในการขับเคลื่อนการเติบโต นอกจากนี้ในวันอังคาร (31/10) ได้มีการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อยูโรโซนประจำเดือนตุลาคม

โดยเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ระดับ 4.2% เมื่อเทียบรายปี ขยายตัวลดลงจากในเดือนกันยายนที่อยู่ที่ 4.5% ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ 2.9% ลดลงจากเดือนกันยายนที่อยู่ที่ 4.3% ซึ่งตัวเลขเงินเฟ้อที่ลดลงส่งผลให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า ทางธนาคารกลางยุโรปอาจหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0515-1.0674 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (3/11) ที่ระดับ 1.0633/37 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ที่ (30/10) ที่ระดับ 149.79/81 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (27/10) ที่ระดับ 150.00/03 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ได้แก่ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (MET) ของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือน ก.ย.เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.

โดยได้แรงหนุนจากผลผลิตภาคยานยนต์ แต่ยังคงต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ได้คาดการณ์ไว้ว่า อาจเพิ่มขึ้น 2.5% ขณะที่เมื่อเทียบรายปี ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง 4.6% ทั้งนี้ ข้อมูลที่เปิดเผยในวันนี้บ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของญี่ปุ่นยังคงสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

โดยได้แรงหนุนส่วนหนึ่งมาจากอุปสงค์ของสหรัฐและยุโรป ซึ่งช่วยให้มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 4.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี และสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นที่ระดับ -0.1% แม้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของญี่ปุ่นสูงกว่าเป้าหมายที่ระดับ 2% เป็นเดือนที่ 18 ติดต่อกันแล้วก็ตาม

อีกทั้งยังประกาศปรับนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (YCC) โดยกำหนดเพดานกรอบบนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ระดับ 1.0% พร้อมปรับเพิ่มคาดการณ์แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในปีงบประมาณ 2566 ขึ้นสู่ระดับ 2.8% จากเดิมที่ระดับ 2.8% โดยค่าเงินเยนปรับตัวร่วงลงสู่ระดับ 150 เยนต่อดอลลาร์ หลังจาก BOJ ประกาศเพดานอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 148.79-151.74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (3/11) ที่ระดับ 150.40/45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ