บทบาทดิจิทัล ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

บทบาทดิจิทัล
คอลัมน์ : ร่วมด้วยชวยคิด
ผู้เขียน : ดร.นครินทร์ อมเรศ ธนาคารไทยพาณิชย์

เทคโนโลยีดิจิทัลมีความสำคัญในการยกระดับประสิทธิภาพในการทำงานของภาคธุรกิจและการดำรงชีวิตของประชาชน บทความนี้อาศัยผลการศึกษาส่วนหนึ่งจากประเด็น นัยของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในภาคการเงินที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ของโครงการศึกษาวิจัย เรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลของภาคการเงิน

ภายใต้แผนงานอาเซียนในกระแสแห่งความพลิกผัน ระยะที่ 2 ด้วยทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เพื่อเชิญทุกท่านร่วมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับผลของบทบาทดิจิทัลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ทั้งในมุมของแรงงานและธุรกิจ

การศึกษาผลของดิจิทัลผ่านรายได้ของแรงงาน

การศึกษาอาศัยข้อมูล สสช. จากแบบสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากร และแบบสำรวจการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของผู้ประกอบการ จากแบบสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในสถานประกอบการปี 2564 ครอบคลุม 46,071 ราย

คิดเป็นประชากร 17,535,800 คน คือ ที่อยู่ เพศ สถานะสมรส การศึกษา รายได้ ตำแหน่งงานที่ทำ สาขากิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประเภทของสถานที่ทำงาน จำนวนชั่วโมงการทำงาน รายได้ สถานะประกันสังคม การจดทะเบียน และการจัดทำบัญชีอย่างเป็นระบบของธุรกิจ

โดยพบความสัมพันธ์เชิงบวกอย่างชัดเจน ระหว่างรายได้เฉลี่ยและสัดส่วนแรงงานที่มีคอมพิวเตอร์ในครัวเรือน ซึ่งความหลากหลายของการมีคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในครัวเรือนของแรงงานที่อยู่ในกิจกรรมในแต่ละสาขาเศรษฐกิจ สะท้อนโอกาสที่สามารถส่งเสริมให้บางสาขากิจกรรมสามารถยกระดับการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อยกระดับรายได้เพิ่มขึ้นได้ด้วย

สำหรับความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างรายได้เฉลี่ยและสัดส่วนแรงงานที่มีสมาร์ทโฟนมีไม่ชัดเจนนัก เพราะการที่แรงงานเกือบทั้งหมดมีสมาร์ทโฟนใช้ แม้กระทั่งในสาขากิจกรรมที่มีการใช้งานน้อยที่สุด คือภาคเกษตรกรรมยังมีการใช้งานสูงกว่า 80% จึงอาจไม่สามารถแสดงถึงโอกาสจากการส่งเสริมการเข้าถึงสมาร์ทโฟนเพิ่มเติมอีกนัก

ขณะที่ความสัมพันธ์ค่อนข้างบวกระหว่างค่าจ้างเฉลี่ยของแรงงานภาคเอกชนที่ธุรกิจอยู่ในระบบประกันสังคม มีการจดทะเบียนและมีการจัดทำระบบบัญชีตามลำดับ แสดงว่าสถานประกอบการในภาคบริการที่มีรายได้ไม่สูงนัก

อาทิ ภาคการค้า การโรงแรมและภัตตาคาร และการบริการอื่น ๆ อาจมีความประสงค์ในการไม่เข้าสู่ระบบ ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการทางการเงิน และย้อนกลับส่งผลต่อทั้งผลิตภาพของสถานประกอบการเอง และรายได้ของแรงงานในที่สุด

เมื่อกำหนดสมมติฐานให้มีสัดส่วนชั่วโมงของแรงงานที่มีคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 2% ในสาขากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีสัดส่วนดังกล่าวน้อยกว่า 50% และเพิ่มขึ้น 1% ในกลุ่มที่มีสัดส่วนดังกล่าวอย่างน้อย 50%

โดยพบว่าจะทำให้ nominal GDP เพิ่มสูงขึ้น 0.64% โดยผลบวกมีมากที่สุดในสาขาการผลิต การเงิน บริการที่ส่วนใหญ่อยู่ในภาครัฐ คือ สาธารณสุข การศึกษา และการบริหารราชการ และภาคการค้า

การศึกษาผลของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในภาคการเงินที่มีต่อผลิตภาพรวมของผู้ประกอบการ

การศึกษาอาศัยข้อมูล สสช. จากการสำรวจธุรกิจทางการค้าและบริการปี 2563 และแบบสำรวจการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของผู้ประกอบการ จากแบบสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในสถานประกอบการ

ครอบคลุม 18,149 แห่ง คิดเป็นประชากร 1,524,762 แห่ง คือจำนวนคนงาน ค่าตอบแทนแรงงาน ค่าใช้จ่าย สินค้าคงเหลือ รายรับ สินทรัพย์ถาวร การใช้งานระบบเครือข่ายการติดต่อสื่อสารแบบ intranet/extranet/LAN การใช้งาน internet/internet banking การสั่งซื้อสินค้าหรือบริการทาง internet/การชำระค่าสินค้าหรือบริการผ่าน internet/การขายสินค้าหรือบริการทาง internet/การรับชำระค่าสินค้าหรือบริการผ่าน internet และการจ้างบุคลากรสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ICT

โดยพบว่าผู้ประกอบการของธุรกิจขนาดใหญ่มีโอกาสที่จะเข้าถึงบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินมากกว่า จึงได้รับประโยชน์จากการเงินดิจิทัลมากกว่าอยู่แล้ว ดังนั้น การจะยกระดับผลบวกทางเศรษฐกิจจะมุ่งประเมินผลในกลุ่ม micro SMEs ที่ใช้บริการทางการเงินน้อยกว่า แต่มีสัดส่วนผู้ประกอบการมาก

โดยเฉพาะในภาคบริการ ซึ่งมีบทบาทของธุรกิจ micro SMEs ที่ยังใช้บริการการเงินดิจิทัลไม่มากในเกือบทุกสาขากิจกรรม โดยเฉพาะยังขาดบุคลากรด้าน ICT ซึ่งมีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่อหัวสูง ในสถานประกอบการที่มีการจ้างงานเฉลี่ยเพียง 2-4 คน

เมื่อกำหนดสมุมติฐานว่าสัดส่วนของ micro SMEs ที่ใช้บริการด้านการเงินดิจิทัล การซื้อขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ ตลอดจนมีการจ้างบุคลากรด้าน ICT เพิ่มขึ้น และมีผลการประมาณการทางเศรษฐมิติที่มีนัยสำคัญทางสถิติ

โดยให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 1% ถ้ามีสัดส่วนดังกล่าวมากกว่า 1% และให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 0.5% ถ้ามีสัดส่วนดังกล่าวน้อยกว่า 1% จะทำให้ nominal GDP เพิ่มสูงขึ้น 0.18% โดยผลมากที่สุดในสาขาการค้า ผ่านช่องทางการขายสินค้าและบริการออนไลน์และการรับชำระเงินออนไลน์ สะท้อนผลบวกของการใช้เครื่องมือด้านดิจิทัลในภาคการเงินที่มีต่อบางสาขาในภาคบริการ แต่ยังอยู่บนการใช้บริการที่มีอยู่ในปัจจุบัน

แต่ยังไม่รวมถึงผลบวกในการเปลี่ยนผ่านของภาคการเงิน ซึ่งอาจสามารถยกระดับผลิตภาพของธุรกิจและแรงงานได้อีกมาก โดยเฉพาะในกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึง หรือยังได้รับบริการทางการเงินไม่เพียงพอ

โดยสรุปแล้ว บทบาทของดิจิทัลมีส่วนสนับสนุนรายได้ประชาชาติของประเทศ ผ่านทั้งการยกระดับรายได้ของแรงงาน โดยเฉพาะผ่านการใช้งานคอมพิวเตอร์ในครัวเรือน ซึ่งสะท้อนการใช้งานเทคโนโลยีเพื่อการทำงาน และการยกระดับผลิตภาพรวมของธุรกิจ

โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กในภาคบริการ ที่ยังมีการใช้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างจำกัด และมีข้อสังเกตว่า ธุรกิจบางส่วนที่ยังอยู่นอกระบบประกันสังคม การจดทะเบียนธุรกิจ และการทำบัญชีอย่างเป็นระบบ อาจเป็นข้อจำกัดให้ไม่สามารถใช้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลด้วยเช่นกัน