เมืองไทยประกันภัย ธุรกิจตระกูลล่ำซำ บริหารโดย “มาดามแป้ง” รวยแค่ไหน

เมืองไทยประกันภัย ธุรกิจตระกูลล่ำซำ บริหารโดย “มาดามแป้ง” รวยแค่ไหน

วันที่ 8 ธันวาคม 2566 เมืองไทยประกันภัย บริษัทประกันวินาศภัยไทยที่มีอายุยาวนานที่สุดในประเทศก่อตั้งขึ้นในปี 2475 โดยใช้ชื่อว่า “กวางอันหลงประกันภัย” ทำหน้าที่รับประกันวินาศภัย การขนส่งสินค้า ซึ่งธุรกิจได้ขยายตัวและเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท ล่ำซำประกันภัยและคลังสินค้า จำกัด”

โดยภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท ภัทรประกันภัย จำกัด (มหาชน)” ตามลำดับเพื่อเป็นการสร้างความแข็งแกร่งและศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจและบริการ

จึงเกิดการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ภัทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) เข้ากับ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด ในชื่อ “บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)” เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2551 ภายใต้สโลแกน “เมืองไทยประกันภัย ยิ้มได้เมื่อภัยมา” และเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2551

ปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัท เมืองไทย กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด จำนวน 11.79 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 20% (ข้อมูล ณ วันที่ 13 มี.ค. 66) โดยนายโพธิพงษ์ ล่ำซำ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ และมาดามแป้ง-นวลพรรณ ล่ำซำ ดำรงตำแหน่ง กรรมการ, กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันภัย (MTI)

วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” จะพาไปสำรวจรายได้และกำไรธุรกิจภายใต้การบริหาร “มาดามแป้ง” ว่ามีความมั่งคั่งแค่ไหน

เปิดรายได้ 3 ปี

  • รายได้รวมปี 2563 อยู่ที่ 9,895 ล้านบาท
  • รายได้รวมปี 2564 อยู่ที่ 10,278 ล้านบาท
  • รายได้รวมปี 2565 อยู่ที่ 11,342 ล้านบาท
  • รายได้รวม 9 เดือนแรก ปี 2566 อยู่ที่ 9,233 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.5% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน

เบี้ยประกันโตต่อเนื่อง

  • เบี้ยประกันภัยรับสุทธิปี 2563 อยู่ที่ 7,756 ล้านบาท
  • เบี้ยประกันภัยรับสุทธิปี 2564 อยู่ที่ 7,924 ล้านบาท
  • เบี้ยประกันภัยรับสุทธิปี 2565 อยู่ที่ 9,023 ล้านบาท
  • เบี้ยประกันภัยรับสุทธิ 9 เดือนแรก ปี 2566 อยู่ที่ 7,902 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.9%

กำไรสุทธิบางปีเกือบพันล้าน

  • กำไรสุทธิปี 2563 อยู่ที่ 590 ล้านบาท
  • กำไรสุทธิปี 2564 อยู่ที่ 767 ล้านบาท
  • กำไรสุทธิปี 2565 อยู่ที่ 810 ล้านบาท
  • กำไรสุทธิ 9 เดือนแรก ปี 2566 อยู่ที่ 544 ล้านบาท ลดลง 22%

กำไรสะสม 5 พันล้าน

  • กำไรสะสมปี 2563 อยู่ที่ 4,058 ล้านบาท
  • กำไรสะสมปี 2564 อยู่ที่ 4,592 ล้านบาท
  • กำไรสะสมปี 2565 อยู่ที่ 5,117 ล้านบาท
  • กำไรสะสม 9 เดือนแรก ปี 2566 อยู่ที่ 5,297 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.2%

มาดามแป้ง-นวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันภัย (MTI) กล่าวว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีผลกำไรสุทธิจำนวน 544.55 ล้านบาท ลดลง 22.% เป็นผลที่เกิดมาจากปัจจัยหลายประการคือ

1.เบี้ยประกันภัยรับโดยรวมของบริษัทเติบโตขึ้นทั้งประกันภัยรถยนต์และประกันภัยทั่วไป เป็นผลมาจากการเติบโตของธุรกิจทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการ สอดคล้องกับการเติบโตของตลาด

2.รายได้ค่าจ้างและค่าบำเหน็จจากการเอาประกันภัยต่อ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2565 จำนวน 180.69 ล้านบาท หรืออัตรา 11.61% เนื่องจากในปี 2566 บริษัทมีการปรับเพิ่มสัดส่วนการรับความเสี่ยงภัยของงานรับประกันภัยรถยนต์ไว้เองมากขึ้น เป็นผลจากการที่บริษัทสามารถปรับปรุงผลการรับประกันภัยได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

3.ค่าใช้จ่ายสินไหมเพิ่มขึ้นในส่วนของงานประกันภัยรถยนต์ โดยอัตราส่วนสินไหมงานประกันภัยรถยนต์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2566 แต่ยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม เป็นผลมาจากการขยายตัวของงานรับประกันภัยรถยนต์ของบริษัท และการใช้งานรถยนต์ที่กลับมาสู่สภาวะปกติ

ค่าสินไหม เพิ่มขึ้น 22% เคลมรถยนต์

โดยมีค่าใช้จ่ายสินไหมทดแทนสุทธิ จำนวน 4,113 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.53% เทียบจากปีก่อน การเพิ่มขึ้นของอัตราสินไหมทดแทนในส่วนของสินไหมประกันภัยรถยนต์มาจากการขยายตัวของรับประกันภัยรถยนต์ของบริษัทที่เพิ่มขึ้น และการกลับมาใช้รถยนต์ตามปกติเมื่อเทียบกับปีก่อน

สำหรับสินไหมประกันภัยทั่วไปที่ลดลง เนื่องจากค่าสินไหมจากการรับประกันภัยกรมธรรม์ประกันภัยโควิดที่ลดลงจากปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์โควิดในปีนี้คลี่คลายลงแล้วและกรมธรรม์สิ้นสุดความคุ้มครอง

โดยเบี้ยประกันภัยรับรวม 9 เดือนแรกปีนี้ มีจำนวน 12,817 ล้านบาท และเบี้ยประกันภัยจากการรับประกันภัยต่อจำนวน 31.87 ล้านบาท เบี้ยประกันภัยรับรวมเพิ่มขึ้น 3.85% โดยเบี้ยประกันภัยรับสุทธิเพิ่มขึ้น 21.99% จากทั้งงานประกันภัยรถยนต์และประกันภัยทั่วไป

ในส่วนของเบี้ยประกันภัยที่ถือเป็นรายได้ 7,356 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.42% และรายได้ค่าบำเหน็จและนายหน้าลดลงจำนวน 180.69 ล้านบาท หรือลดลง 11.61% จากการประกันภัยต่อของงานประกันภัยรถยนต์ที่ลดลงจากการรับความเสี่ยงภัยไว้เองมากขึ้นในปีนี้

ส่วนรายได้และกำไรจากการลงทุนในหลักทรัพย์และรายได้อื่นสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 24.80 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อน คิดเป็นอัตรา 5.22% เนื่องจากมีโอกาสในการขายเงินลงทุนในหลักทรัพย์เพื่อทำกำไรมากขึ้น