ประกันรถ 9 เดือน เบี้ยแตะ 1.03 แสนล้าน เพิ่มขึ้น 6.10% ธุรกิจแย่ง EV

ประกันรถยนต์ 9 เดือนแรกปีนี้ เบี้ยแตะ 1.03 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.10% ธุรกิจแย่งพอร์ตรถ EV

วันที่ 2 ธันวาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) รายงานตัวเลข 9 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) สำหรับธุรกิจประกันภัยวินาศภัย โดยพบว่าทั้งระบบมีเบี้ยรับรวม 210,141 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.16% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY)

  • เบี้ยประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ 103,351 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.10%
  • เบี้ยประกันภัยทรัพย์สิน 25,884 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.14%
  • เบี้ยประกันอุบัติเหตุ 23,925 ล้านบาท ลดลง 1%
  • เบี้ยประกันรถ พ.ร.บ. 15,068 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.20%
  • เบี้ยประกันสุขภาพ 12,297 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.12%
  • เบี้ยประกันอัคคีภัย 7,762 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.06%
  • เบี้ยประกันภัยทางทะเลและขนส่ง 4,866 ล้านบาท ลดลง 2.27%
  • เบี้ยประกันภัยการเดินทาง 1,744 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.29%
  • เบี้ยประกันภัยอื่น 11,717 ล้านบาท ลดลง 4.52%

โดยทั้งระบบมีจำนวนกรมธรรม์ 51.13 ล้านฉบับ เพิ่มขึ้น 4.65% เฉพาะจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ 34.96 ล้านกรมธรรม์ เพิ่มขึ้น 2.38%

รายได้ธุรกิจประกัน 1.7 แสนล้าน

สำหรับรายได้รวม 9 เดือนแรกปีนี้พบว่า มีรายได้ 172,434 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.26%

มีการตั้งสำรองและอัตราส่วนระหว่างความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว (reserve and incurred losses) 84,193 ล้านบาท ลดลง 42.50% มีค่าใช้จ่าย (xpenses) จำนวน 74,956 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.92%

และมีกำไรจากการรับประกันภัย จำนวน 13,284 ล้านบาท ลดลง 125.20%

และในปีนี้ นับว่าเป็นปีของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ทำยอดขายในประเทศทำลายทุกความคาดหมาย จนไทยขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำด้านรถยนต์ EV ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

และในปัจจุบันรถยนต์ EV ไม่ได้เป็นเพียงแค่กระแส แต่เป็นทางเลือกหลักที่คาดว่าจะครองตลาดใหม่เกือบ 10% ของยอดขายรถยนต์ใหม่ในปีนี้

และยิ่งในช่วงปลายปี ได้แรงกระตุ้นจากงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 40 (Motor Expo 2023) ที่จัดขึ้น ณ อาคารชาเลนเจอร์ IMPACT เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน-11 ธันวาคม 2566

ขณะที่ภาคธุรกิจประกันภัย ก็เริ่มลงมาเล่นในตลาดรถอีวีกันมากขึ้น

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2566 เบี้ยรับรวมจะอยู่ที่ 285,000-288,000 ล้านบาท เติบโต 4-5% จากปีก่อน โดยพอร์ตหลักที่หนุนการเติบโตมาจากการรับประกันภัยรถยนต์ คาดว่าปีนี้จะมีเบี้ยแตะ 165,500-166,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.8-7.5% ตามผลบวกด้านยอดขายรถใหม่ การท่องเที่ยว และการขนส่งที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีผลของอัตราเบี้ยประกันที่เพิ่มขึ้นตามการแข่งขันที่ลดลง

วิริยะฯ ตั้งเป้าพอร์ตอีวีหมื่นคัน

นายอมร ทองธิว กรรมการผู้จัดการ บมจ.วิริยะประกันภัย กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าเบี้ยรับรวม 43,000 ล้านบาท เติบโต 6% มาจากเบี้ยประกันรถยนต์ 37,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% และเบี้ยประกันที่ไม่ใช่รถอีก 5,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% โดยยังคงครองแชมป์ตลาดประกันรถอีวี

สำหรับการประกันรถอีวี ปีนี้คาดว่าจะเติบโต 100% จากปีก่อน หรือมีจำนวนรถอีวีเพิ่มขึ้นอีก 1 หมื่นคัน ในส่วนอัตราความเสียหาย (loss ratio) ยังมีไม่มาก บางกรณีที่เกิดเหตุกระทบตัวแบตเตอรี่ส่วนใหญ่แล้วจะคืนทุนประกัน เพราะค่าแบตเตอรี่คิดเป็น 70-80% ของราคารถ ทำให้ปัจจุบันจำเป็นต้องทำให้เบี้ยแพงกว่ารถสันดาปประมาณ 10% แต่หากความเสียหายไม่กระทบตัวแบตเตอรี่เปลี่ยนเฉพาะบางชิ้นส่วนได้

กรุงเทพประกันภัย ชิงส่วนแบ่ง 2,000 คัน

นายอภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.กรุงเทพประกันภัย กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าเบี้ยรับรวม 3 หมื่นล้านบาท เติบโต 12.5% มาจากเบี้ยประกันรถยนต์ 13,096 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 43% และมาจากเบี้ยประกันที่ไม่ใช่รถอีก 16,904 ล้านบาท

โดยปีนี้คาดว่าจะมีรถอีวีจดทะเบียนใหม่ในตลาด 40,000 คัน และบริษัทจะมีสัดส่วนรับประกันรถอีวีประมาณ 2,000 คัน หรือมาร์เก็ตแชร์ราว 6% ของรถอีวีจดทะเบียนใหม่

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีเบี้ยประกันรถอีวีเข้ามา 120-140 ล้านบาท โดยบริษัทมีแผนจะพัฒนาความคุ้มครองใหม่ ๆ พร้อมเพิ่มจำนวนรุ่นรถอีวีที่รับประกันจากปัจจุบันที่ครอบคลุมถึง 33 รุ่น จาก 20 แบรนด์ชั้นนำ

“รถอีวีทั้งหมดจะเป็นการซ่อมศูนย์ เพราะยังไม่มีใครรับซ่อม ความเชี่ยวชาญคือศูนย์ ซึ่งศูนย์ค่าแรงค่อนข้างแพง ส่วนใหญ่ใช้วิธีการเปลี่ยนอะไหล่ ขณะนี้เราจึงได้ส่งทีมเข้าไปพัฒนาอู่ในกลุ่มของบริษัท เพื่อให้มีความเชี่ยวชาญในการซ่อมรถอีวี มีความรู้เกี่ยวกับแบตเตอรี่และชิ้นส่วนอะไหล่ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถขยับขยายการเติบโตรถอีวีได้มากขึ้นในอนาคต”

ธนชาต ตั้งเป้าอีวี ปี’67 โต 19%

นายพีระพัฒน์ เมฆสิงห์วี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ธนชาตประกันภัย กล่าวว่า ในปีนี้ตั้งเป้าเบี้ยรับรวม 12,000 ล้านบาท เติบโต 16% มาจากการโตของเบี้ยประกันรถยนต์ 17% และเบี้ยประกันภัยที่ไม่ใช่รถโต 34%

โดยบริษัทประเมินว่า ปีนี้จะมีรถอีวีจดทะเบียนใหม่ 50,000 คัน จึงตั้งเป้าจะเป็นผู้นำรับประกันรถอีวี เพิ่มมาร์เก็ตแชร์เป็น 20% จากปีที่แล้วมีเบี้ยรถอีวีที่อยู่ในความคุ้มครองกว่า 2,000 คัน คิดเป็นเบี้ยรับกว่า 200 ล้านบาท เติบโตกว่า 1,363% จากปีก่อนหน้า

“ตอนนี้งานในมือของเราส่วนใหญ่กว่า 80% เป็นรถอีวียุโรป ซึ่งปีนี้อยู่ระหว่างเจรจาผู้ผลิตรถยุโรปเพื่อเป็นพันธมิตรรับประกันเพียงรายเดียว (exclusive partner) อีกด้วย โดยเรามีจุดเด่นจากค่าเบี้ยใกล้เคียงกับรถยนต์สันดาป มีบริการรถยกไปยังจุดชาร์จที่ใกล้ที่สุดในรัศมี 20 กิโลเมตร และมีแผนขยายตลาดผ่านผู้ให้บริการสินเชื่อ, ผู้ผลิตรถยนต์, โบรกเกอร์ประกันภัย และออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง”

นายคงศักดิ์ หาญแสวงสิน ประธานเจ้าหน้าที่สายงานผลิตภัณฑ์ประกันภัย บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วง 10 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.- ต.ค.66) บริษัทสร้างเบี้ยประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า เติบโตเพิ่มขึ้น 67% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) และเชื่อมั่นว่าผลประกอบการทั้งปีจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

ส่วนในปี 2567 บริษัทตั้งเป้าหมายเบี้ยประกันภัยจากประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า จะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 19% พร้อมสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่สนับสนุน Ecosystem สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งมอบประสบการณ์งานบริการต่าง ๆ ที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า

โดยในหมวดความคุ้มครองจากประกันภัยรถอีวี จะให้ความคุ้มครองทุกกรณี ครอบคลุมทุกภัย ทั้งตัวรถและผู้ขับขี่ เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกอุ่นใจยิ่งขึ้น ส่วนงานบริการสามารถเชื่อมั่นได้ว่าบริษัทมีศักยภาพความพร้อมในการดูแลลูกค้าทุกคนอย่างดีที่สุด

ในส่วนลูกค้าประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า นอกเหนือจากการดูแลที่ดีตามมาตรฐานการให้บริการ ทั้งการแจ้งอุบัติเหตุ ผ่าน Line Official Account “ธนชาตประกันภัย” บริการช่วยเหลือฉุกเฉินบนท้องถนนตลอด 24 ชั่วโมง ยังเพิ่ม “บริการและสิทธิประโยชน์พิเศษ” ให้กับลูกค้าประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นบริการประสานงานหาจุดชาร์จรถไฟฟ้า บริการรถยกรถยนต์ไฟฟ้าไปยังจุดชาร์จรถไฟฟ้าที่ใกล้ที่สุด บริการติดตั้ง Wall charger ในราคาพิเศษ และการให้คำปรึกษา แนะนำการติดตั้ง Wall charger เป็นต้น

เมืองไทยตั้งเป้าพันคัน

นายวาสิต ล่ำซำ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.เมืองไทยประกันภัย กล่าวว่า แผนการรับประกันรถอีวีปีนี้ตั้งเป้าไว้ประมาณ 1,000 คัน จากเดิมที่มีรถอีวีในความคุ้มครองอยู่ประมาณ 200 คัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถอีวีจีน แต่บริษัทสามารถรับงานได้ทุกรุ่นและทุกแบรนด์ แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขและราคาของบริษัท โดยตอนนี้เบี้ยประกันรถอีวียุโรปจะแพงกว่ารถสันดาปราว 20-30% ส่วนรถจีนเบี้ยแพงกว่าประมาณ 10-15%