พายุชอร์ตเซลจะสงบลงบ้างมั้ย ภายใต้ทางการจับตาใกล้ชิด

ตลาดหุ้นร่วง

พายุชอร์ตเซลจะสงบลงบ้างมั้ย ภายใต้ทางการจับตาอย่างใกล้ชิด ด้าน “เอเซีย พลัส” เผยเดือน พ.ย.66 หุ้นส่วนใหญ่ถูกขายชอร์ตเกิดขึ้นจากหุ้นที่ถือผ่าน NVDR ถึง 3.27 หมื่นล้าน กว่า 44% ของมูลค่าซื้อขาย ถือว่าผิดปกติ

วันที่ 2 ธันวาคม 2566 หนึ่งในอุปสรรคของการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นไทย คือ มูลค่าซื้อขายตลาดที่เบาบาง บวกกับเดือน พ.ย. 2566 ยังมีสัดส่วนในการชอร์ตเซล (SHORT SELL) อยู่ในระดับสูงถึง 10% (MTD) ของมูลค่าซื้อขายทั้งหมด

ที่สำคัญฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด สังเกตเห็นว่า ในเดือน พ.ย. หุ้นส่วนใหญ่ที่ถูกนำมาทำ SHORT SELL เกิดขึ้นจากหุ้นที่ถือผ่าน NVDR ถึง 3.27 หมื่นล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 44% ของมูลค่าซื้อขายรวม) และเป็นการ SHORT SELL ผ่านหุ้นปกติ 4.17 หมื่นล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 56% ของมูลค่าซื้อขายรวม)

โดยมูลค่าการ SHORT SELL NVDR กว่า 44% ของมูลค่าซื้อขายถือว่าผิดปกติ เมื่อเทียบกับสัดส่วนการถือครองหุ้นทั้งหมดผ่าน NVDR เพียง 5.6% เท่านั้น ส่วนต่างชาติถือครองทางตรงราว 23.1%

ดังนั้นภายใต้มูลค่าซื้อขายที่เบาบาง และหากหุ้นที่ถูกถือครองผ่าน NVDR สูง ๆ มีปัจจัยลบมากระทบ มีโอกาสถูกยืมมา SHORT SELL สูง ส่งผลให้หุ้นนั้น ๆ ผันผวนมากกว่าปกติได้ ซึ่งฝ่ายวิจัยเอเซียพลัสทำการคัดกรองหาหุ้นที่มีมูลค่าถือครองผ่าน NVDR มากสุด ณ 31 ต.ค. 66 ได้ผลลัพธ์ดังตารางด้านล่าง

สรุป ยามมูลค่าซื้อขายเบาบาง หากหุ้นที่ NVDR ถือครองสูง ๆ มีปัจจัยลบเฉพาะตัวมากระทบ ก็มีโอกาสถูกยืมมา SHORT SELL ให้ผันผวนมากกว่าปกติในช่วงเวลาหนึ่งได้

โดยสำหรับมุมมองฟันด์โฟลว์ต่างชาติ ประเมินมีโอกาสทยอยไหลกลับเข้ามาจากหลายปัจจัยสนับสนุนคือ 1.ต่างชาติขายหุ้นไทยมากเกินกว่าปกติในปีนี้ 1.86 แสนล้านบาท (YTD) ซึ่งเป็นปีที่มีการขายสุทธิที่มากสุดเป็นอันดับที่ 4 จากข้อมูลที่ตลาดฯ เปิดเผยทั้งหมด 32 ปีที่ผ่านมา

ซึ่งแรงกดดันมาจากความเชื่อมั่นที่ลดลงจากกรณีหุ้น MORE และ STARK ความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วงกลางปี และการเร่งขึ้นดอกเบี้ยมาเร็วจาก 1.25% เป็น 2.5% ล้วนกดดันให้ฟันด์โฟลว์ไหลออก แต่ระยะถัดไปเชื่อปัจจัยต่าง ๆ ค่อย ๆ ดีขึ้น

ตลาดคาดดอกเบี้ยสหรัฐมีโอกาสปรับตัวลงในปีถัดไปจาก 5.5% เหลือ 4.5% ประเด็นดังกล่าวกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า และค่าเงินบาทมีโอกาสพลิกกลับมาแข็งค่า หนุนฟันด์โฟลว์บางส่วนไหลเข้าตลาดหุ้นไทย เพราะต่างชาติจะได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นด้วย

ดอกเบี้ยไทยมีโอกาสลดลงในระยะถัดไป เพราะเงินเฟ้อไทยอยู่ในระดับต่ำ GDP ยังเติบโตได้ไม่เต็มที่ ภาวะดังกล่าวประเมินดอกเบี้ยที่ลดลงทุก ๆ 0.25% หนุนสภาพคล่องตลาดหุ้นไทยทีเบาบางสามารถเพิ่มขึ้นได้ราว 4.8 พันล้านบาท/วัน

ทั้ง 3 ปัจจัยสนับสนุนว่าฟันด์โฟลว์มีโอกาสไหลเข้า และสภาพคล่องมีโอกาสเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป ดังนั้นดัชนี SET Index ณ ปัจจุบันที่ 1,387 จุด มี PE67 ถูกเพียง 13.9 เท่า น่าจะเป็นจังหวะในการหาหุ้นสะสมเพื่อหวังผลในระยะกลางถึงยาว

ประกอบกับกองทุน TESG จะเริ่มขายวันที่ 1 ธ.ค. 2566 ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทเป็นกองทุนลดหย่อนภาษีในปี 2566-2575 และในระยะยาวเข้ามาทดแทนกองทุน SSF ที่จะหมดอายุสิ้นปี 2567 ดังนั้นการลงทุนของกองทุนน่าจะเอนเอียงไปในหุ้น หรือตราสารหนี้ที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG มากขึ้น

กลับมาที่ตลาดหุ้นช่วงที่ตลาดหุ้นมีมูลค่าซื้อขายเบาบาง ฝ่ายวิจัยฯทำการค้นหาหุ้นที่จะได้สภาพคล่องเพิ่มเติมจากกองทุนในช่วงที่เหลือของปีไปจนถึงช่วงต้นปีหน้า หรือ “หาหุ้นที่กองทุนซื้อแล้ว ซื้ออยู่ ซื้อต่อ” มีรายละเอียดดังนี้

  • ซื้อแล้ว (เดือน พ.ย.66) กองทุนซื้อสุทธิหุ้นไทยในเดือน พ.ย. มูลค่ารวม 7.5 พันล้านบาท และมีโอกาสซื้อต่อจากกองทุน ACTIVE FUND ที่สัดส่วนเงินสดของกองทุนราว 4%
  • ซื้ออยู่ (เดือน ธ.ค.66) คาดหวังเม็ดเงินใหม่จากกองทุน TESG เข้ามาหนุนในช่วงที่เหลือของปีราว 1-2 หมื่นล้านบาท โดยหุ้นที่ได้ประโยชน์จากประเด็นนี้ ฝ่ายวิจัยฯ คาดว่าจะเป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่มี ESG SCORE สูง ๆ อาทิ GULF, CPALL, SCC, CPN, CRC, EA, PTTGC, SCGP
  • ซื้อต่อ (เดือน ม.ค.67) ในต้นปีหน้าตลาดหลักทรัพย์จะมีการจัดทำดัชนี SET50FF และ SET100FF ทำให้หุ้นสถาบันฯ ต้องมีการออกกองทุนใหม่อิงกับดัชนีนี้ ซึ่งหุ้นใน SET100 ที่มี FREE FLOAT สูงจะได้รับการเพิ่มน้ำหนักมากกว่าปกติ

ซึ่งจากการทำการศึกษามาพบว่า มีหุ้นอยู่ 8 เซ็กเตอร์ที่จะถูกปรับเพิ่มน้ำหนัก และหุ้นที่มี FREE FLOAT เยอะสุดในกลุ่มนั้น ๆ คือ BANK เพิ่มน้ำหนัก (BBL), CONS (STEC), TOURISM (CENTEL), CONMAT (SCC), HELTH (BDMS), PROP (AMATA), AGRI (STA), COMM (CPALL) เป็นต้น

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่ามีหุ้นหลายบริษัทได้ประโยชน์จากประเด็นดังกล่าว ฝ่ายวิจัยจึงทำการคัดกรองหาหุ้นที่มีทั้ง ESG SCORE สูง พร้อมกับ FREE FLOAT สูง น่าจะเป็นหุ้นที่ “กองทุนซื้อแล้ว ซื้ออยู่ ซื้อต่อ” ต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีจนถึงช่วงต้นปีหน้า

ได้ผลลัพธ์ คือ BANPU, SPALI, MINT, SCC, HANA, KBANK, SCB, BDMS, CPN, SIRI, AP, TISCO, BBL, AMATA, WHA

โดยภาพการเติบโตเศรษฐกิจในปี 2567 ดูเด่นชัดขึ้นจาก 3 ด้านคือ 1.การกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ชัดเจนมากขึ้น อาทิ E-Refund และกระเป๋าตังค์ดิจิทัล 2.คาดการการเติบโต GDP ของนักเศรษฐศาสตร์ต่าง ๆ มองตรงกันว่า GDP ปีหน้ามีโอกาสเติบโตกว่าปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 3.4%

3.หนุนกำไรบริษัทจดทะเบียนกลับมาฟื้นตัวเหนือช่วงโควิด โดยฝ่ายวิจัยประเมิน EPS ปีหน้า ที่ 99.8 บาท/หุ้น และมี EPS Growth เติบโต 12.6% ดัชนี SET Index ย่อตัวลงมาลึกในปีนี้ อีกนิดก็ -300 จุด จนมี P/E ลดลงจาก 18.6 เท่า ในช่วงปลายปีที่แล้ว ปัจจุบัน มี P/E67 เหลือเพียง 14 เท่า พร้อมกับ PBV ที่ 1.37 เท่า

ภายใต้ฟันด์โฟลว์จากกองทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ มีโอกาสสะสมหุ้นไทยเพิ่ม ก็ยังคาดหวังให้ดัชนี SET ปรับตัวเพิ่มขึ้นลุ้นแตะ 1,500 จุดในปีนี้ (EPS ปีนี้ 88.6 บาท/หุ้น) และมองไปไกลปี 2567 ตั้งดัชนีเป้าหมายไว้ที่ 1,717 จุด (EPS ปีหน้าที่ 99.8 บาท/หุ้น)

กลยุทธ์การลงทุน แนะนำสะสมหุ้นเด่นช่วงท้ายปี และหวังงอกเงยในปีหน้า ดังนี้

  • หุ้นได้กระแสดอกเบี้ยหยุดขึ้น TISCO
  • หุ้นได้ประโยชน์จากภาครัฐเน้นการลงทุนธุรกิจในอนาคต WHA, ADVANC, GULF
  • หุ้นได้ประโยชน์การกระตุ้นภาคบริโภคและการท่องเที่ยว CPALL, PLANB, BH
  • หุ้นคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและจีน
    PTTGC