ลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ 19 วัน 1.02 แสนราย มูลหนี้พุ่ง 6.2 พันล้าน

หนี้ แก้หนี้ เงินในกระเป๋า
Photo by Tumisu on Pixabay

ปลัด มท.เผยผลลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบครบ ระบบครบ 19 วัน มูลหนี้ 6,247 ล้านบาท ประชาชนลงทะเบียน 102,282 ราย เช็กจังหวัดไหนลงทะเบียนมากสุด-น้อยสุด 5 อันดับแรก

วันที่ 20 ธันวาคม 2566 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นวันที่ 19 นับตั้งแต่เปิดลงทะเบียน โดยจากข้อมูลของสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง เมื่อเวลา 15.30 น. มีมูลหนี้รวม 6,247.791 ล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 102,282 ราย

โดยเป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 90,040 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 12,242 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 72,895 ราย

จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่

  1. กรุงเทพมหานคร ยังคงมากที่สุด มีผู้ลงทะเบียน 6,454 ราย เจ้าหนี้ 5,369 ราย มูลหนี้ 528.593 ล้านบาท
  2. จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 4,380 ราย เจ้าหนี้ 3,567 ราย มูลหนี้ 266.359 ล้านบาท
  3. จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียน 4,040 ราย เจ้าหนี้ 2,864 ราย มูลหนี้ 252.325 ล้านบาท
  4. จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 3,942 ราย เจ้าหนี้ 2,470 ราย มูลหนี้ 301.837 ล้านบาท
  5. จังหวัดขอนแก่น มีผู้ลงทะเบียน 2,667 ราย เจ้าหนี้ 2,120 ราย มูลหนี้ 197.378 ล้านบาท

จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่

Advertisment
  1. จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 135 ราย เจ้าหนี้ 92 ราย มูลหนี้ 5.824 ล้านบาท
  2. จังหวัดระนอง มีผู้ลงทะเบียน 213 ราย เจ้าหนี้ 138 ราย มูลหนี้ 15.648 ล้านบาท
  3. จังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 275 ราย เจ้าหนี้ 193 ราย มูลหนี้ 8.912 ล้านบาท
  4. จังหวัดตราด มีผู้ลงทะเบียน 340 ราย เจ้าหนี้ 219 ราย มูลหนี้ 10.965 ล้านบาท และ
  5. จังหวัดสิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 369 ราย เจ้าหนี้ 242 ราย มูลหนี้ 13.902 ล้านบาท

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ติดตามความคืบหน้าของการรับลงทะเบียนและการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งกระทรวงมหาดไทยโดยหน่วยงานในระดับพื้นที่ ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับผู้บังคับการตำรวจ ผู้กำกับการสถานีตำรวจทั่วประเทศ เพื่อให้ภารกิจในการ “สะสางแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ” บรรลุผลสัมฤทธิ์สนองนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะ Law Enforcer (ผู้บังคับใช้กฎหมาย) ที่มีหน้าที่ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบด้วยการจัดระเบียบทั้ง 2 ฝ่าย คือ เจ้าหนี้และลูกหนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมาย

นอกจากนี้ ยังคงระดมสรรรพกำลังและองคาพยพอย่างเต็มที่ในการออกตรวจ ติดตาม หาข่าว เบาะแสเกี่ยวกับลูกหนี้และเจ้าหนี้ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยให้กับสังคม โดยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้าน อาสาสมัคร ทุกหมู่บ้าน ออกตรวจตราดูแล รักษาความสงบเรียบร้อยและป้องกันการกระทำผิดกฎหมายทุกประเภท

Advertisment

เพื่อสร้างความอบอุ่นแก่ประชาชน ว่ามีเจ้าหน้าที่ออกตรวจตราอย่างสม่ำเสมอ พร้อมให้ทางอำเภอร่วมกับผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร ติดตามดำเนินคดีกับผู้ใช้ความรุนแรง ข่มขู่ คุกคามโดยมิชอบด้วยกฎหมายอย่างเฉียบขาด มิให้เป็นเยี่ยงอย่าง พร้อมรายงานผลการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุในพื้นที่ทันทีและเมื่อเสร็จสิ้นการปฏิบัติ

“กระทรวงมหาดไทยยังคงเปิดรับลงทะเบียนพี่น้องประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบ ทั้งทางออนไลน์ที่ https://debt.dopa.go.th หรือวอล์กอินได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตทั่วประเทศ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร.1567 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนในพื้นที่” นายสุทธิพงษ์กล่าว