หุ้นไทยวิ่งแนวต้าน 1,430 จุด January effect โอกาสเกิดสูง

หุ้นไทย

บล.กรุงศรีพัฒนสินฯ ประเมินตลาดหุ้นไทยวันนี้ปรับตัวขึ้นแนวต้าน 1,420/1,430 จุด ก่อนสลับอ่อนตัว คาดหวัง FED-ECB จะทยอยลดดอกเบี้ยลงหลังแรงกดดันจากเงินเฟ้อชะลอตัวลงต่อเนื่อง มีแรงซื้อหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว โอกาสลงทุนในเดือน ม.ค. ของทุกปี สถิติพบจะให้ผลตอบแทนเป็นบวกถึง 70% ปีนี้คาดหวังประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

วันที่ 2 มกราคม 2567 บริษัทหลักทรัพย์กรุงศรีพัฒนสินฯ รายงานว่า แนวโน้มตลาดหุ้นวันนี้ประเมินดัชนี SET Index ปรับตัวขึ้นแนวต้าน 1,420/1,430 จุด ก่อนสลับอ่อนตัว ตามความคาดหวังธนาคารกลางสหรัฐ (FED) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้

หลังแรงกดดันจากเงินเฟ้อชะลอตัวลงต่อเนื่อง รวมถึงแรงซื้อหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัวช่วยหนุนภาวการณ์ลงทุน อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบที่อ่อนตัวลงจะกดดันต่อกลุ่มพลังงาน จึงยังคงแนะนำเลือกซื้อ

อาทิ GULF GPSC BGRIM TASCO EPG อานิสงส์ต้นทุนพลังงานอ่อนตัวลง CRC CPN HMPRO GLOBAL DOHOME COM7 อานิสงส์มาตรการ Easy E-Receipt และ WHA AMATA CBG TU ITC AUCT PLANB SABINA แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 4/2566 เติบโต

ทั้งนี้ประเด็นที่จะช่วยสนับสนุนช่วงนี้คือ สถิติบ่งชี้ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสเกิด January effect สูงถึง 70% อิงสถิติย้อนหลัง 10 ปี (2014-2023) พบว่าตลาดหุ้นไทยในเดือน ม.ค. ให้ผลตอบแทนเป็นบวกจำนวน 7 ปี และมีเพียง 3 ปีเท่านั้น ที่ให้ผลตอบแทนติดลบ หรือคิดเป็น โอกาสที่การลงทุนในเดือน ม.ค. ของทุกปีจะให้ผลตอบแทนเป็นบวกที่ 70% ปีนี้คาดหวังประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

แต่ก็ต้องระวังปัจจัยกดดันภาวะลงทุนคือ จีน (NBS) รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือน ธ.ค. ลดลงสู่ระดับ 49 จาก 49.4 ในเดือน พ.ย. และต่ำกว่าที่ Consensus คาดว่าจะปรับขึ้นสู่ระดับ 49.5 นับเป็นการลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันและต่ำสุดในรอบ 6 เดือน สะท้อนภาคการผลิตจีนยังชะลอตัว

ทั้งนี้ติดตามตัวเลข Nonfarm Payrolls หรือ การจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวเลขที่เฟดให้ความสำคัญ หากตัวเลขการจ้างงานดังกล่าวเพิ่มขึ้นหรือเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาดจะเพิ่มโอกาสให้เฟดตัดสินใจคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานเป็น Sentiment ลบกดดันตลาด เบื้องต้น Consensus คาดจำนวนการจ้างงานที่ 1.63 แสนคน และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 3.8% จาก 3.7% ในเดือน พ.ย.

อนึ่ง January Effect เป็นข้อสังเกตหรือความเชื่อของนักลงทุน ว่า ตลาดหุ้นมักปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนแรกของปี ซึ่งเป็นไปได้ว่า อาจเกิดจากแรงขายทำกำไรช่วงสิ้นปีก่อนหยุดยาว ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลงมา จูงใจให้นักลงทุนกลับเข้ามาซื้ออีกครั้งในเดือน ม.ค.