เปิด 6 ปมร้อน สั่นสะเทือน “ตลาดหุ้นไทยปี 2566”

6 ปมร้อน

ปี 2566 นับเป็นปีที่น่าผิดหวัง สำหรับผลงานตลาดหุ้นไทย โดย SET Index ให้ผลตอบแทนติดลบ 15.99% (ณ สิ้นวัน 27 ธ.ค. 2566) ต่ำเกือบที่สุดในโลก แม้ว่าตอนต้นปีจะเริ่มต้นด้วยความคาดหวังสูง ดัชนี SET ในเดือน ม.ค. 2566 วิ่งขึ้นไปเกือบแตะ 1,700 จุด โดยทำจุดสูงสุดของปีที่ระดับ 1,691.41 จุด และจบเดือนแรกของปีด้วยการที่นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 18,997 ล้านบาท

ทว่าหลังจากนั้น ดัชนี SET ก็ค่อย ๆ ไหลลงมาต่อเนื่อง จากหลากหลายปัจจัยลบที่เข้ามากดดัน โดยนักลงทุนต่างชาติพลิกเป็นขายสุทธิทุกเดือน นับตั้งแต่เดือน ก.พ. กระทั่งสิ้นปีต่างชาติขายหุ้นไทยไปเกือบ 2 แสนล้านบาท สูงเป็นประวัติการณ์ (ดูตาราง) ขณะที่ระหว่างปีดัชนี SET ทำจุดต่ำสุดที่ 1,357.97 จุด เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.

1.ดอกเบี้ยสูง-จีดีพีโตต่ำ

สำหรับสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มขายสุทธิหุ้นไทยในเดือน ก.พ.นั้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รายงานไว้ว่า สาเหตุสำคัญมาจากค่าเงินดอลลาร์ที่ปรับตัวแข็งค่า ตามการคาดการณ์ดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ยังคงเพิ่มขึ้น

อีกทั้งตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2565 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ค่อนข้างมาก จากภาคการส่งออกและการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาครัฐที่ลดลง

2.วิกฤตแบงก์ “สหรัฐ-ยุโรป” ล้ม

ขณะที่ต่อมาในเดือน มี.ค. ผลจากการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของธนาคารกลาง เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่งผลให้เกิดวิกฤตแบงก์ล้มในสหรัฐและยุโรป จากการที่ผู้ลงทุนและผู้ฝากเงินขาดความเชื่อมั่นในความแข็งแกร่ง

ซึ่งผลกระทบตรงนี้แม้ว่าจะกดดันตลาดหุ้นไทยแค่ระยะสั้น เพราะหน่วยงานภาครัฐได้เข้ามาให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้ลุกลามในวงกว้าง แต่ช่วงหุ้นตกหนักสุด (14 มี.ค.) ตอนนั้นหุ้นไทยก็ดิ่งไปเกือบ 100 จุด เมื่อนับจากต้นเดือน มี.ค.

3.โกง STARK เขย่าเชื่อมั่น

ถัดมาความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยถูกสั่นคลอนอย่างหนักมากขึ้น จากกรณีบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งเริ่มผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ และถี่ขึ้น

โดยเฉพาะการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ที่ไม่ได้จบลงแค่ปัญหาการขาดสภาพคล่องของธุรกิจ แต่เกิดจากการ “ตั้งใจโกง” มีการ “ตกแต่งบัญชี” สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั้งวงการตลาดทุน หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถูกตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่ดูแลรายย่อยที่ไม่ค่อยทันการณ์

เงินนักลงทุนต่างชาติ

4.ตั้งรัฐบาลล่าช้า-บอนด์ยีลด์พุ่ง

ขณะเดียวกันความไม่แน่นอนของการเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าและการโหวตนายกรัฐมนตรีที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นไทยในช่วงกลางปีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจัยต่างประเทศที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าไม่หยุด ทำให้กระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ไหลออกจากตลาดหุ้นไทย ครึ่งปีแรกต่างชาติขายสุทธิ 107,139 ล้านบาท

5.ตื่น JKN ผิดนัดหนี้หุ้นกู้

นอกจากนี้ เมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) สหรัฐ มีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็เริ่มส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจที่ขยับสูงขึ้น จนมีผลต่อการออกหุ้นกู้ของหลาย ๆ บริษัท โดยเฉพาะ “ไฮยีลด์บอนด์” ที่เสนอขายได้ยากขึ้น กระทั่งหลายบริษัทต้องยกเลิกการขายหุ้นกู้ออกไป เพราะดีมานด์ที่ลดน้อยลง และต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงเกินไป

และต่อมายิ่งเกิดแรงกระเพื่อมหนักขึ้น เมื่อบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN เกิดการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ เนื่องจากเจรจากับผู้ร่วมทุนไม่สำเร็จและเผชิญปัญหาด้านสภาพคล่อง จนกระทบกับการชำระหนี้หุ้นกู้รวม 7 รุ่น มูลค่า 3.2 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทหาทางออกโดยการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง

ซึ่งศาลรับคำร้อง ทำให้ JKN อยู่ใน “สภาวะพักชำระหนี้ (Automatic Stay)”

6.ปมร้อนชอร์ตเซล-โรบอตเทรด

ขณะที่ช่วงปลายปี ก็เกิด “Hot Issue” ซ้ำเติมตลาดหุ้นไทยให้ยิ่งแย่หนักเข้าไปอีก ก็คือ กระแสการ “แบน” การทำธุรกรรมที่เรียกว่า “ชอร์ตเซล (Short Selling)” ซึ่งลุกลามไปจนกระทั่งมีข่าวสะพัดว่า พบการทำ Naked Short (ขายหุ้นโดยไม่ได้ถือหุ้นอยู่จริง)

ซึ่งผิดกฎหมาย โดยมีการออกมาเรียกร้องให้ทบทวนการใช้ “โปรแกรมเทรดดิ้ง (Program Trading)” หรือ “โรบอตเทรด” ของนักลงทุนต่างชาติ เพราะมองว่าเอาเปรียบนักลงทุนกลุ่มอื่น ๆ โดยเฉพาะรายย่อย

จนเกิดการรวมตัวของนักลงทุนรายย่อยสร้างปรากฏการณ์ประกาศหยุดเทรด 1 วัน (20 พ.ย.) ส่งผลให้วอลุ่มตลาดเบาบางลงไป

ทั้งนี้ แม้ว่าหน่วยงานกำกับตลาดทุน ทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะผนึกกำลัง ออกมาชี้แจง และมีมาตรการดูแลที่เข้มข้นขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่า ความเชื่อมั่นของนักลงทุนยังคงไม่ฟื้นกลับมา

ดังนั้น มองไปข้างหน้าในปี 2567 คงจะต้องเป็น “ปีแห่งการฟื้นฟูความเชื่อมั่น” ซึ่งหลาย ๆ ฝ่ายคงต้องร่วมมือกัน เพื่อไม่ให้ตลาดทุนไทยดำดิ่งไปยิ่งกว่านี้