ดอลลาร์แข็งค่าขานรับถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ

ดอลาร์แข็งค่า

ดอลลาร์แข็งค่าขานรับถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ

วันที่ 4 มกราคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 4 มกราคม 2567

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/1) ที่ระดับ 34.47/49 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (3/1) ที่ระดับ 34.32/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.23% แตะที่ระดับ 102.43 หลังแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ในช่วงเช้าที่ระดับ 102.61 ขานรับถ้อยแถลงของนายโทมัส บาร์กิน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาริชมอนด์ ซึ่งส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้เงินเฟ้อชะลอตัวลง

โดยนายบาร์กินแสดงความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะไม่เผชิญภาวะถดถอย แต่จะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือซอฟต์แลนดิ้ง และนายบาร์กินกล่าวว่า เฟดยังคงมีทางเลือกในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้มีความคืบหน้าในการชะลอเงินเฟ้อและยังคงมีความเสี่ยงที่ว่าภารกิจของเฟดในการสกัดเงินเฟ้ออาจจะยังไม่สิ้นสุดลง

ขณะที่คณะกรรมการเฟดเปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 12-13 ธ.ค. 2566 โดยระบุว่า กรรมการเฟดมีความมั่นใจมากขึ้นว่าเงินเฟ้อของสหรัฐอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้และความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะกลับมาอยู่ในช่วงขาขึ้นอีกนั้นเริ่มมีน้อยลง อย่างไรก็ตาม กรรมการเฟดมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นจากการที่เฟดดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินมากเกินไป

รายงานการประชุมยังระบุด้วยว่า อาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2567 แต่ไม่ได้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าการปรับลดดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นเมื่อใด นอกจากนี้ สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน ลดลง 62,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 8,790 ล้านตำแหน่งในเดือน พ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2564

และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 8.850 ล้านตำแหน่ง และกระทรวงแรงงานปรับเพิ่มตัวเลขการเปิดรับสมัครงานในเดือน ต.ค.สู่ระดับ 8.852 ล้านตำแหน่ง จากเดิมรายงานที่ระดับ 8.733 ล้านตำแหน่ง สอดคล้องกับตัวเลขการจ้างงานลดลงสู่ระดับ 5.5 ล้านตำแหน่ง จากระดับ 5.9 ล้านตำแหน่งในเดือน ต.ค. ส่วนอัตราการจ้างงานลดลงสู่ระดับ 3.5% จากระดับ 3.7% ในเดือน ต.ค. ขณะเดียวกัน ดัชนีภาคการผลิตเดือน ธ.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 47.4 สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 47.2 และสูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ 46.7

สำหรับปัจจัยในภูมิภาค ยังคงต้องติดตามการระดมทุนเพื่อชำระหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันจำเป็นต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อคืนพันธบัตรจาก LFVs (Local Goverenment Financing Vehicles) หรือเครื่องมือทางการเงินของรัฐบาลท้องถิ่นที่ใช้เพื่อระดมทุนพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ ซึ่งถือเป็นการทดสอบขีดจำกัดของรัฐบาลกลางว่าจะสามารถช่วยรัฐบาลท้องถิ่นรีไฟแนนซ์

และหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ได้หรือไม่ ซึ่งขณะนี้ประเทศจีนมีพันธบัตร LGFVs มูลค่า 4.65 ล้านล้านหยวน หรือ 6.51 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 24.087 ล้านล้านบาท) ที่จะครบกำหนดในอีก 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นปริมาณมากที่สุดเป็นประวัติการณ์และมากกว่าปีที่แล้วประมาณ 13%

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/1) ที่ระดับ 1.0921/25 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (3/1) ที่ระดับ 1.0931/35 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดย S&P Global เผยตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตของเยอรมนี ในเดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 49.3 สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 48.4 และสูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ 48.4

นอกจากนี้ ตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซน เดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 48.8 สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 48.1 และสูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ 48.1 โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0914-1.0963 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0960/63 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/1) ที่ระดับ 143.20/21 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (3/1) ที่ระดับ 142.74/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ และจากนักลงทุนเทขายสกุลเงินเยน หลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในภาคกลางของญี่ปุ่นเมื่อวันจันทร์ (1/1) ได้ลดโอกาสที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินที่่ผ่อนคลายเป็นพิเศษในการประชุมวันที่ 22-23 ม.ค.นี้ ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 143.21-143.80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 145.80/81 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ได้แก่ การจ้างงานนอกภาคเอกชนของ ADP (4/1), ดัชนี PMI ด้านการผลิตและการบริการของ EuroZone (4/1), การจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือน ธ.ค. 66 (5/1), อัตราการว่างงานเดือน ธ.ค. 66 (5/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.8/-8.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.9/-8.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ