วิวาทะ “ลดดอกเบี้ย” จะคลี่คลายไปในทางใด ?

วิวาทะ ‘ลดดอกเบี้ย’

ปีมังกร กลายเป็น “มังกรสะดุ้งไฟ” ตั้งแต่ต้นปี โดยปมร้อนเป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจ จากการที่มีความคิดเห็นของฝ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะเสียงจากในฟากรัฐบาล เรียกร้องอยากให้มีการ “ลดดอกเบี้ย” ลง หลังจากที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องรวมทั้งสิ้น 8 ครั้ง เพื่อสกัดเงินเฟ้อ กระทั่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมาอยู่ที่ 2.50% ต่อปี จากที่เคยอยู่ระดับ 0.50% หรือปรับขึ้นทั้งหมด 2%

มีการตั้งคำถามถึงประเด็น “กำไรแบงก์” ที่โบรกเกอร์ประเมินว่า จะทำสถิติสูงสุดในประวัติการณ์ สำหรับงวดปี 2566 ที่ผ่านมา

สำหรับเหตุผลที่รัฐบาลอยากให้ลดดอกเบี้ย เนื่องจากมองว่าขณะนี้ “อัตราเงินเฟ้อต่ำมาก” จึงไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องขึ้น หรือคงดอกเบี้ยเอาไว้อีกต่อไป รวมถึงเทรนด์ระยะข้างหน้า ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ก็มีแนวโน้มที่จะลดดอกเบี้ยลงเช่นกัน ซึ่งภาครัฐก็แสดงให้เห็นด้วยการให้ “ธนาคารออมสิน” นำร่องลดดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยไปแล้ว

เปิดเวที-เปิดข้อมูล-เปิดมุมมอง

ทั้งหลายทั้งปวงนำไปสู่การที่ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เชิญ “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการ ธปท. เข้าหารือที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา แม้ว่าหลังหารือ นายกฯจะระบุว่า เป็นการหารือกันในเรื่องเศรษฐกิจโดยรวม เศรษฐกิจต่างประเทศ และอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน พร้อมยืนยันว่า “ไม่ได้ก้าวก่าย” การทำงานของแบงก์ชาติ

แต่ในเชิงสัญลักษณ์ภาพการหารือร่วมกัน ก็คงอธิบายได้ระดับหนึ่งแล้ว

ขณะที่ในวันที่ 15 ม.ค.นี้ จะจัดเวที “BOT Policy Briefing : เปิดแนวคิดนโยบายแบงก์ชาติ” โดยเป็นงานที่จัดขึ้นเพื่ออธิบายแนวคิดของ ธปท. ในการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งจะมีผู้บริหาร 3 ราย ที่จะให้ข้อมูล ได้แก่ นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ที่มีตำแหน่งเป็นเลขาฯ กนง. ด้วย พร้อมกับ นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน และ นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน

ซึ่งแนวคิดการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. นั้น ที่ผ่านมา ก็มีหลาย ๆ คนพยายามอธิบาย

“กอบศักดิ์” ชี้ต้องวัดใจ กนง.

อย่างเช่น “ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า อยากให้ กนง.ลองพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ย ซึ่งการพิจารณาจะดู 2-3 เรื่อง เรื่องแรกก็คือ ดูว่าเงินเฟ้อเป็นอย่างไร ซึ่ง กนง.จะดูเงินเฟ้อที่แท้จริง

โดยล่าสุด เงินเฟ้อทั่วไปของไทยติดลบ มาจากประเด็นเรื่องสินค้าจีนที่เข้ามาทำให้ราคาสินค้าต่ำ และราคาน้ำมันที่ลดลง อย่างไรก็ดี กนง.ก็จะดูเงินเฟ้อพื้นฐานด้วย ปัจจุบันอยู่ที่ 0.5-0.6% ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ

“เงินเฟ้อตอนนี้ไม่ใช่ปัญหา แต่กรรมการ กนง.ก็จะดูต่อไปอีกว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ไปได้หรือเปล่า ต้องการแรงกระตุ้นหรือเปล่า โดย ธปท.ประมาณการว่า ปีนี้เศรษฐกิจจะโตประมาณ 3.8% ก็ถือว่าระดับกลาง ๆ ดังนั้น เขาก็ต้องรอดูว่าแรงกระตุ้นจากภาครัฐจะออกมาประมาณไหน ท่องเที่ยวจะกลับมาดีแค่ไหน เงินทุนจะไหลเข้ามากน้อยแค่ไหน แล้วทั้งหมดจะรวมกันเป็นภาพเศรษฐกิจที่พอไปได้หรือเปล่า ถ้าถามผม มองว่าเศรษฐกิจปีนี้พอไปได้ โต 3-4%”

ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า กนง.จะพิจารณาปัจจัยทั้งหมดประกอบกัน ว่ามีความจำเป็นในการลดดอกเบี้ยหรือไม่ ซึ่งก็ต้องถามต่อไปว่า หากปี 2568 เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว นำมาสู่การส่งออกที่จะปรับตัวดีขึ้น แล้วถ้ารัฐบาลขับเคลื่อนกระตุ้นเศรษฐกิจไปได้ดี มีการขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยวให้ไปได้ดี มีการแก้เกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคในการดึงต่างชาติมาลงทุน เศรษฐกิจไทยก็จะไปได้ดีพอสมควร

ส่วนเรื่องปัจจัยการเมืองต่อการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น “ดร.กอบศักดิ์” กล่าวว่า มุมมองทางการเมืองกับเรื่องการขึ้นลงของดอกเบี้ย คงต้องไปถาม ธปท. เพราะ ธปท.ก็ผ่านเรื่องนี้มามาก เป็นเรื่องปกติ ดังนั้น ก็ต้องดูใจ ดูว่ากรรมการ กนง.จะทำหน้าที่ของตนเองอย่างไร

ธปท.อาจลดดอกเบี้ยครึ่งปีหลัง

ฟาก “ดร.อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ที่อธิบายว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยของ ธปท.จะมีด้วยกัน 3 ปัจจัยหลัก ๆ คือ

1.อัตราเงินเฟ้อ โดยกรอบเป้าหมายเงินเฟ้ออยู่ที่ 1-3% ซึ่งที่ผ่านมา เงินเฟ้อมีหลุดกรอบไปบ้าง คือ มีการติดลบ แต่ของไทยต้องรอดูว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดดอกเบี้ยช่วงใดด้วย

“คาดว่าเฟดใกล้ถึงช่วงลดดอกเบี้ยแล้ว แต่จะให้ ธปท.ลดดอกเบี้ยก่อน คงทำไม่ได้ เพราะอาจจะเกิดความผันผวนในตลาดการเงิน และส่งผลให้เงินไหลออก ดังนั้น ธปท.ต้องคุมเชิงไว้ก่อน โดยคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.50% ต่อปี ทั้งนี้ คาดว่า หากเฟดเริ่มลดดอกเบี้ย ก็อาจจะทำให้ดอกเบี้ยของไทยลดลงได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้”

2.เศรษฐกิจที่เติบโตช้าและคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.1% ในปีนี้ ถือว่าขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ และ 3.ปัจจัยด้านตลาดเงินตลาดทุน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องระมัดระวัง

“ดอกเบี้ยไทย อาจจะลดลงได้ช่วงครึ่งปีหลัง อาจจะไตรมาส 3 หรือ 4 โดยถ้าไม่มีดิจิทัลวอลเลต อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็น่าจะอยู่ที่ 2% แต่ถ้ามีมาตรการดิจิทัลวอลเลต ดอกเบี้ยก็น่าจะต้องคงไว้ที่ 2.50% เพื่อคุมความเสี่ยง” ดร.อมรเทพกล่าว

สุดท้ายแล้ว “ปมร้อน” เรื่อง “ลดดอกเบี้ย” นี้ จะคลี่คลายลงแบบใด และการประชุม กนง.นัดแรกของปีนี้ ในวันที่ 7 ก.พ. คณะกรรมการ กนง.จะตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป