TISCO เข้มปล่อยกู้ รุกจำนำทะเบียน ปั้นรายได้ขายประกัน-ก.พ.เคาะปันผล

TISCO ตั้งเป้า “รายได้รวม-พอร์ตสินเชื่อ” ปี 2567 โต 0-10% ชี้ภาวะเศรษฐกิจยังมีความยากลำบาก-ธปท.รุกนโยบายแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน บริษัทเน้นคุมเข้มปล่อยกู้ รุกธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียน-จับมือเจนเนอราลี่ ปั้นรายได้ค่าฟีประกันโต 10% ประเมินเอ็นพีแอลในกรอบ 2.5-2.75% แย้มประชุมบอร์ดเดือน ก.พ. เคาะจ่ายปันผล

วันที่ 15 มกราคม 2567 นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO เปิดเผยว่า ปิดปี 2566 กลุ่มทิสโก้มีกำไรสุทธิ 7,303 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.1% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) มีกำไรต่อหุ้น 9.12 บาทต่อหุ้น และมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) อยู่ที่ 17.1% อยู่ในระดับใกล้เคียงปีก่อนหน้า

มีรายได้รวม 19,046 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% มาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) จำนวน 13,829 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.6% ในขณะที่รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (NII) มีจำนวน 5,217 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 6.4%

ศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์
ศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์

ธุรกิจรายใหญ่ขยายตัว 33%

ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนหลักของการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ มาจากการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อ 7.2% คิดเป็นยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ 15,811 ล้านบาท ส่งผลให้มียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 234,815 ล้านบาท โดยธุรกิจสินเชื่อขนาดใหญ่ขยายตัวกว่า 33% รองลงมาคือสินเชื่อจำนำทะเบียนผ่านช่องทาง “สมหวัง เงินสั่งได้” เติบโต 15% ในขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อและเอสเอ็มอีหดตัวลงเล็กน้อย

ส่วนเงินฝากปรับตัวเพิ่มขึ้น 10.8% มาอยู่ที่ 208,645 ล้านบาท จากการขยายตัวของเงินฝากประจำ เพื่อรองรับการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อ

“การโตของสินเชื่อช่วยผลักดันให้กลุ่มทิสโก้สามารถประคองรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเอาไว้ได้ ถึงแม้ว่าจริง ๆ แล้วส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวลดลงเกือบ 30 bps สวนทางธุรกิจ เพราะว่าต้นทุนด้านเงินทุนปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมากในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น”

รายได้ค่าฟี “ตลาดทุน-ประกัน” อ่อนแอ

ในส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยถือว่าอ่อนแอกว่าที่คาดไว้ มาจากผลกระทบของรายได้ธุรกิจตลาดทุน ปรับตัวลดลง 16.5% ตามปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ที่ลดลง รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจธนาคารลดลง 4.3% จากธุรกิจนายหน้าประกันภัยที่ฟื้นตัวช้า ตามปริมาณการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ชะลอตัว แต่ถือว่ารายได้ค่าธรรมเนียมจัดการกองทุนยังเติบโต 5.4% ตามการขยายตัวของสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร

ส่วนค่าใช้จ่ายการดำเนินงานมีจำนวน 9,340 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.7% ซึ่งจะเห็นว่าเพิ่มขึ้นสูงกว่ารายได้รวม ส่วนหนึ่งเกิดจากการลงทุนเพื่อการเติบโตในระยะยาว ซึ่งปี 2566 ได้มีการเปิดสาขา “สมหวัง เงินสั่งได้” ในต่างจังหวัดไปทั้งหมด 200 สาขา ทำให้ปัจจุบันมีสาขาทั่วประเทศอยู่ทั้งหมด 845 สาขา ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับพนักงาน ระบบไอที และสถานที่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งตรงนี้อาจจะยังไม่ก่อให้เกิดรายได้ในทันที

สำรองหนี้ลดลง

สำหรับสำรองหนี้สูญต่อหนี้เสีย (Coverage Ratio) ยังคงรักษาระดับที่ต่ำเมื่อเทียบปีก่อน ๆ โดยปิดสิ้นปี 2566 อยู่ที่ 189.8% จากปี 2565 อยู่ที่ 258.8% และคาดว่าปีนี้จะค่อย ๆ ปรับสำรองหนี้สูญกลับสู่ระดับปกติที่ประมาณ 150% ทั้งนี้ระดับสำรองในปัจจุบันเพียงพอต่อการรองรับความเสี่ยง

โดยพอร์ตเอ็นพีแอล ยังสามารถควบคุมอยู่ได้ในระดับต่ำ ปี 2566 ขยับขึ้นมาแค่เล็กน้อย จากระดับ 2.1% เมื่อปี 2565 มาอยู่ที่ 2.2% คิดเป็นมูลค่า 5,223 ล้านบาท ซึ่งเป็นเพราะเริ่มมีการปล่อยสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น

ตั้งเป้าสินเชื่อ-รายได้ โตระดับ 0-10%

นายศักดิ์ชัยกล่าวต่อว่า สำหรับปี 2567 จะมุ่งเน้นกลยุทธ์ Sustainable Focus ตามเทรนด์ของโลกที่เติบโตอย่างรับผิดชอบและยั่งยืน โดยตั้งเป้าการเติบโตของรายได้รวมไว้ที่ระดับ 0-10% สอดคล้องไปกับเป้าหมายการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อรวมที่จะเติบโต 0-10% ทั้งนี้สาเหตุที่คาดการณ์กรอบค่อนข้างกว้างนั้น เพราะประเมินเศรษฐกิจไทยเติบโตที่ระดับ 3-4% แต่ภาวการณ์ยังมีความยากลำบาก เพราะเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวนโยบายแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เพราะฉะนั้นปีนี้คงบริษัทจะมุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรัดกุมและดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด โดยสินเชื่อรายย่อยจะพิจารณาตามความเหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้และภาระหนี้ของลูกค้า

มุ่งสินเชื่อจำนำทะเบียน

ซึ่งในปีนี้คงจะเน้นการเติบโตในกลุ่มสินเชื่อที่มีหลักประกันอย่าง “สินเชื่อจำนำทะเบียน” และจะแค่รักษาตำแหน่งทางการตลาดในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อเท่านั้น โดยเน้นกลุ่มสินเชื่อรถมือสอง สินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ และสนับสนุนสินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ควบคู่กับการควบคุมคุณภาพสินเชื่อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

“เหตุผลที่ปีนี้แค่รักษาตำแหน่งทางการตลาดในธุรกิจเช่าซื้อ เพราะอัตราดอกเบี้ยแข่งขันสูง กดดอกเบี้ยต่ำกันเกินไป จึงมีความเสี่ยงด้านเครดิตทั้งรถสันดาปและรถอีวี ซึ่งมองไปข้างหน้าแล้วมีความไม่แน่นอนอยู่เยอะ”

อย่างไรก็ตาม สำหรับสินเชื่อเพื่อผู้จำหน่ายรถยนต์ ยังคงแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจโดยเฉพาะจากประเทศจีนที่นำรถอีวีเข้ามาในไทย แต่จะมุ่งเน้นหาพาร์ตเนอร์ที่อยู่กับบริษัทและประเทศไทยในระยะยาวเท่านั้น

ในส่วนสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ยังเห็นโอกาสการเติบโตในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โรงไฟฟ้า และพลังงานทางเลือก และจากความกังวลของตลาดหุ้นกู้อาจทำให้ผู้ออกหุ้นกู้มาเบิกวงเงินสินเชื่อกับธนาคารเพื่อโรลโอเวอร์เพิ่มขึ้น

คุมเอ็นแอลปี’67 ในกรอบ 2.5-2.75%

ปีนี้คาดว่าจะรักษาระดับเอ็นพีแอลให้อยู่ในกรอบ 2.5-2.75% จากสิ้นปี 2566 ที่อยู่ 2.2% เนื่องจากเริ่มมีการปล่อยสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่ามีความเสี่ยงที่สูงขึ้น แต่ก็จะได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นตามไปด้วย

จับมือ “เจนเนอราลี่” ปั้นรายได้ประกันโต 10%

สำหรับแผนธุรกิจนายประกันภัยปีนี้ ได้จับมือพันธมิตรรายใหม่อย่าง บมจ.เจนเนอราลี่ประกันชีวิต (ไทยแลนด์) ซึ่งทำสัญญาไว้ด้วยกันประมาณ 5 ปี ที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตคุ้มครองภาระหนี้ และประกันสุขภาพ ให้แก่ลูกค้าสินเชื่อเช่าซื้อและจำนำทะเบียนของกลุ่มทิสโก้ โดยตั้งเป้าการเติบโตของรายได้จากยอดขายประกันที่ระดับ 10% จากฐานรายได้แบงก์แอสชัวรันซ์ปีที่แล้ว ที่มีอยู่ประมาณ 2 พันล้านบาท

“ธุรกิจนายหน้าประกันจะเป็นเครื่องจักรหลักในแง่การสร้างรายได้ในปีนี้ โดยจะพัฒนาโปรดักต์ร่วมกันกับพาร์ตเนอร์เพื่อขยายฐานลูกค้าและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า”

ขณะที่ธุรกิจตลาดทุนคาดว่าจะฟื้นตัวหลังจากที่แย่หนักมา 2 ปีติดต่อกัน โดยมีแผนจะขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่ม Mass Affluent ที่มีเงินฝากและเงินลงทุนตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป

ประชุม ก.พ. 67 เคาะจ่ายปันผล

นายศักดิ์ชัยกล่าวทิ้งท้ายว่า บริษัทจะมีการพิจารณาเรื่องการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลปี 2566 กับคณะกรรมการบริษัทในเดือน ก.พ.2567 ซึ่งยังคงนโยบายการจ่ายเงินปันผลในระดับเดิม ดังนั้นจะให้ผลตอบแทนที่ดีกับนักลงทุน โดยจะมีการนัดประชุมผู้ถือหุ้นในเดือน เม.ย. 2567